“กังวลการเมืองยุโรป และสงครามการค้าระลอกใหม่”

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (28/5) ที่ระดับ 31.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (25/5) โดยความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ และเกาหลีเหนือมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้น หลังการประชุมระหว่างสองประเทศมีโอกาสเป็นไปได้อีกครั้ง โดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ทวีตข้อความล่าสุดว่า ทีมเจ้าหน้าที่ของสหรัฐ ได้เดินทางถึงเกาหลีเหนือ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเจัดการประชุมสุดยอดระหว่างตัวเขา และนายคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือโดยการประชุมดังกล่าวจะมีขึ้นในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ที่ประเทศสิงคโปร์

นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังได้รับแรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ ที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการผ่อนคลายความตึงเครียดด้านการค้ากับจีน หลังจากที่นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐ เปิดเผยว่าสหรัฐและจีนได้บรรลุข้อตกลงเที่ยวกับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจและการค้า และยังได้ตกลงที่จะระงับการทำสงครามการค้าชั่วคราว ประกอบกับถ้อยคำแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาต่าง ๆ ที่ยังสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐประจำเดือนพฤษภาคม ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ 128 จากเดือนก่อนที่ 125.6 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 3 เดือน โดยคอนเฟอเรนซ์บอร์ดรายงานว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากรายได้หลังหักภาษีที่ปรับตัวสูงขึ้นจากผลของนโยบายปฏิรูปภาษีและตลาดแรงงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงหลังตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 178,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ นอกจากนี้ ADP ได้ปรับลดตัวเลขการจ้างงานดังกล่าวในเดือนเมษายน สู่ระดับ 163,000 ตำแหน่ง ยิ่งไปกว่านั้นกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1 ที่ระดับ 2.2% ซึ่งต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.3% โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเริ่มมีแรงซื้อกลับในช่วงปลายสัปดาห์ หลังนักลงทุนเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระลอกใหม่ หลังจากนายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐกล่าวว่า สหรัฐจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และภาษีนำเข้าอะลูมิเนียม 10% จากแคนาดา, เม็กซิโก และสหภาพยุโรป โดยประเทศต่าง ๆ ก็พร้อมเก็บภาษีจากสหรัฐ เพื่อเป็นการตอบโต้มาตรการดังกล่าวเช่นกัน โดยท้ายสัปดาห์ตลาดจับตาดูตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐ ทั้งอัตรารายได้เฉลี่ย และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร

สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัวสูงถึง 4.8% จากช่วงเดียวกับปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่มองการใช้จ่ายในประเทศและอุปสงค์จากต่างประเทศที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องนั้น จะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ เช่น ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ นโยบายการค้าระหว่างประเทศ ราคาน้ำมันดิบ และการกระจายตัวของกำลังซื้อในประเทศโดยตลอดสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.82-32.18 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 32.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลของค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดคตลาดที่ระดับ 1.1700/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาด (25/5) ที่ 1.1650/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัย โดยช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้เปิดเผยรายงานการประชุมประจำเดือนเมษายน จากรายงานชี้ว่า ผู้กำหนดนโยบายของอีซีบีเห็นพ้องว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนอาจชะลอตัวลง และเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น แต่ถึงอย่างไรยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงขยายตัวได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเมืองของอิตาลี โดยอิตาลีมีความเสี่ยงที่จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ หลังจากความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งในเดือนมีนาคมนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้ความเสี่ยงทางการเมืองสูงขึ้นหลังจากที่ ประธานาธิบดีเซอร์จีโอ มาธาเรลลา ได้ปฏิเสธการเสนอนายเปาโล ซาโวนา ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ต่อต้านการรวมกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ขึ้นเป็นรัฐมนตรีคลัง และได้แต่งตั้งนายคาร์โล คอททาเรลลี อดีตนักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟที่มีแนวคิดสนับสนุนการรวมกลุ่มสหภาพยุโรปขึ้นมาแทน โดยการแต่งตั้งดังกล่าวจะต้องผ่านการให้คะแนนเสียงจากสภา ซึ่งมีแนวโน้มว่าพรรคไฟฟ์สตาร์มูฟเมนต์และพรรคลีคจะต่อต้าน และทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในเดือนสิงหาคม โดยนายคอททาเรลลีจะยังคงดำรงตำแหน่งเป็นการชั่วคราวในช่วงก่อนการเลือกตั้ง

ในขณะที่พรรครัฐบาลของสเปนมีข่าวการคอร์รัปชั่น โดยจะมีการโหวตไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีสเปน มาริอาโน่ ราฮอย จะมีขึ้นในวันศุกร์ (1/6) นี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ทำให้ความเสี่ยงด้านการเมืองในยุโรปจะเป็นปัจจัยต่อความผันผวนของตลาดไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดีค่าเงินยูโรเริ่มมีแรงซื้อกลับภายหลังสถานการณ์การเมืองอิตาลีเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังจากมีข่าวว่าพรรคการเมืองต่าง ๆ อาจหารือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผย สำนักงานสถิติแห่งชาติฝรั่งเศสรายงานว่า เศรษฐกิจฝรั่งเศสขยายตัว 0.2% ในไตรมาสแรก โดยลดลงจากระดับ 1.2% ซึ่งเป็นตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ โดยได้รับผลกระทบจากการลดลงของการบริโภคในภาคครัวเรือน และการลงทุนในภาคธุรกิจ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1506-1.1728 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/6) ที่ระดับ 1.1683/87 ดอลลาสหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (28/5) ที่ระดับ 109.50/52
เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (25/5) ที่ระดับ 109.38/40
เยน/ดอลลาร์สหรัฐ รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจในวันจันทร์ (28/5) ว่า ปริมาณการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายนของญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์จากต่างประเทศที่แข็งแกร่งและตัวเลขที่ออกมาดีนั้นถือเป็นสัญญาณบวกหลังจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลงในไตรมาสแรก ขณะที่ตัวเลขการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนที่ 7.8% จาก 2.1% อย่างไรก็ดีค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นในระหว่างสัปดาห์จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุนจากความไม่แน่นอนในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งเรื่องปัญหาการเมืองในยุโรป และสงครามการค้าที่เริ่มกลับมา ค่าเงินเยนมีความเคลื่อนไหวระหว่างสัปดาห์ในกรอบระหว่าง 108.10-109.82 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (1/6) ที่ระดับ 109.23/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ