ธ.ก.ส. ออกสินเชื่อใหม่ ‘‘เกษตรวิวัฒน์“ สร้างรายได้หลังวัยเกษียณ

นายฉัตรชัย ศิริไล

ธ.ก.ส.เตรียมเสนอบอร์ด ดันโครงการเกษตรวิวัฒน์ หนุนกลุ่มวัยก่อนเกษียณ สร้างอาชีพเสริมด้านเกษตร พร้อมเปิดตัวสินเชื่อเคหะเพื่อที่อยู่อาศัย วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 5 ปีแรก เพียง 2.99% ต่อปี

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในโอกาสฉลองครบรอบวันสถาปนาปีที่ 59 ธ.ก.ส.เปิดตัวสินเชื่อเคหะเพื่อที่อยู่อาศัย BAAC Housing Loans กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท วงเงินให้กู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อหลักประกัน อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 5 ปีแรก ที่ 2.99% ต่อปี ผ่อนชำระสูงสุด 40 ปี เพื่อสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกรและบุคคลในครอบครัวที่มีรายได้ประจำ สามารถกู้เงินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในภาคชนบทได้

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.เตรียมเสนอคณะกรรมการธนาคาร ขอสินเชื่อเกษตรวิวัฒน์ สำหรับประชาชนที่ทำงานในเมืองกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ใกล้จะเกษียณอายุ หรือเตรียมมีอาชีพเสริมในภาคการเกษตรให้สามารถขอสินเชื่อเพื่อนำไปซื้อที่ดินเพื่อทำการเกษตร วางแผนทำธุรกิจหลังเกษียณ เพื่อรองรับเรื่องสังคมผู้สูงอายุ

“ในส่วนของวงเงินรอเสนอคณะกรรมการธนาคาร โดย 1 คน สามารถซื้อได้ไม่เกิน 20 ไร่ ซึ่งย้ำว่าธนาคารต้องระมัดระวังในการซื้อเพื่อเก็งกำไร”

ขณะที่สินเชื่อชะลอการขายข้าวตามนโยบายรัฐบาล ในฝั่งฝ่ายจัดการได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดการแล้ว โดยทำควบคู่กับฝั่งของคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ในการเตรียมประชุม เพื่อเสนอเข้าต่อมติ ครม. วงเงินเบื้องต้น 2.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าเสนอภายใน พ.ย.นี้

ด้านการแจกเงินไร่ละ 1,000 บาท เป็นนโยบายของรัฐบาลในฝั่ง ธ.ก.ส. เตรียมพร้อมทั้งสภาพคล่องและข้อมูล รวมถึงระบบงานที่จะทำให้การดำเนินงานของโครงการรัฐสามารถทันต่อความต้องการของประชาชนและตอบสนองนโยบายรัฐบาลได้ทัน

Advertisment

สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 2 เป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ต่อเนื่องให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการ ระยะที่ 1 กว่า 1.41 ล้านราย โดยเปิดให้ลูกค้าแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ ระยะที่ 2 ผ่านสาขา ธ.ก.ส.ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567-31 มกราคม 2568

ซึ่งธนาคารจะตรวจสอบข้อมูล ประเมินศักยภาพและความสามารถในการชำระหนี้ (Loan Review) โดยลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข จะได้รับการพักชำระหนี้ในระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567-30 กันยายน 2568 และ ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2567 มีผู้ผ่านการสอบทานศักยภาพหนี้ (LR) เพื่อเข้ามาตรการต่อ จำนวน 49,787 ราย

Advertisment

นายฉัตรชัย ศิริไล

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ตั้งเป้าหมายในการอบรมและส่งเสริมการฟื้นฟูประกอบอาชีพ ให้กับลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ เพิ่มอีก 300,000 รายทั่วประเทศ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถนำความรู้จากการอบรมมาเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพ ด้วยการปรับวิธีคิด วิธีทำ พัฒนาอาชีพเดิมและเติมอาชีพใหม่ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรม จะสามารถขอการสนับสนุนสินเชื่อภายใต้โครงการสินเชื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพภายใต้มาตรการ

เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการฟื้นฟูศักยภาพ ค่าลงทุนปรับเปลี่ยนการผลิตด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จนสามารถชำระหนี้ได้หลังสิ้นสุดมาตรการโครงการพักชำระหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล เป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย

โดยรัฐบาลจะชำระดอกเบี้ยแทน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้าในช่วงพักหนี้ ซึ่งธนาคารได้กระตุ้นให้เกษตรกรเห็นประโยชน์ของการชำระหนี้ในช่วงนี้ เนื่องจากเงินที่ชำระในช่วงพักชำระหนี้ จะนำไปตัดเงินต้น ทำให้ภาระหนี้ระยะยาวลดลง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าเอง

ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.ยังจัดกิจกรรมชำระดีมีโชค โดยมอบโชคให้กับลูกค้าที่ชำระหนี้ก่อนหรือตรงตามกำหนดเวลา เป็นรางวัลมูลค่ากว่า 483 ล้านบาท ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับลูกค้าที่ชำระหนี้แล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างวินัยในการชำระหนี้ ช่วยสร้างเครดิตที่ดีให้กับตนเอง และนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้ได้อย่างยั่งยืน