สินเชื่อแบงก์ปี’67 ไม่โต หนี้ “บ้าน-รถยนต์” ยังมีปัญหา

House-car

ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวยังไม่ทั่วถึง ทำให้ปี 2567 เป็นปีที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดการปล่อยกู้ กระทั่งได้เห็นภาพการติดลบของสินเชื่อ โดยขณะนี้เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปีแล้ว สถานการณ์ด้านสินเชื่อจะเป็นอย่างไร จะดีขึ้นบ้างหรือไม่ คงต้องติดตาม

โดย “ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4/2567 ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ แกนธุรกิจหลักยังเติบโตค่อนข้างช้า ทั้งรายได้ค่าธรรมเนียม และรายได้ดอกเบี้ย ทำให้แนวโน้มการเติบโตของกำไร จะมาจากการจัดการหนี้และค่าใช้จ่าย ที่มีประสิทธิภาพเป็นสำคัญ

ขณะเดียวกัน แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมองไปข้างหน้า ธนาคารยังให้ความสำคัญในการจัดการปัญหาหนี้ต่อเนื่อง รวมถึงดูแลประเด็นค่าใช้จ่ายเข้มข้นขึ้น เช่น การติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพ และปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ตรงกับเป้าหมาย สามารถจัดการหนี้เสียได้ ทั้งนี้ จะเห็นว่าอัตราการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในไตรมาส 3/2567 แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง

“รายได้ที่มาจากสินเชื่อ ทำได้ค่อนข้างยาก สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว และความเสี่ยงทางด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าจากรายได้ที่ไม่แน่นอน ปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำให้ธนาคารยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยคาดว่าภาพรวมสินเชื่อในปี 2567 ทรงตัวหรือเติบโตช้าลง ซึ่งเราคาดว่าทั้งปีนี้สินเชื่อจะขยายตัวแค่ราว 1.5%”

“ธัญญลักษณ์” กล่าวอีกว่า แบงก์ยังได้รับแรงกดดันจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เพราะภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.25% ส่งผ่านมายังธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงเฉลี่ย 0.125% ซึ่งหากคำนวณผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วง 2 เดือน ระหว่างเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2567 คาดว่าจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยลูกหนี้รายย่อย-ธุรกิจได้ราว 1,300 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการในช่วงไตรมาส 4/2567 น่าจะปรับดีขึ้น จากฤดูกาลลดหย่อนภาษี ทำให้รายได้ที่มาจากกองทุนรวม ประกัน หรือธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ยังสามารถเติบโตได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยง ประกอบกับภาพรวมตลาดการลงทุนทยอยกลับมาดีขึ้น นอกจากนี้ เป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องหารายได้ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมด้วย

Advertisment

“มองไปข้างหน้าแบงก์ยังคงจัดการหนี้ต่อเนื่อง และดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายเข้มข้นขึ้น เพราะหากจัดการได้ หนี้เสียเริ่มนิ่ง กำไรจะมาจากฝั่งนี้เป็นหลักแทนรายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้ดอกเบี้ยที่เข็นได้ยากขึ้น ส่วนอัตราค่าใช้จ่ายสำรองต่อสินเชื่อ (Credit Cost) แม้ว่าแบงก์จะสำรองลดลง แต่ไม่ได้ลดลงเยอะ แต่คงไม่สูงเท่าช่วงโควิดที่เฉลี่ยอยู่ที่ 1.52% โดยปีนี้จะอยู่ที่ 1.63%”

ขณะที่ “ฐากร ปิยะพันธ์” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) กล่าวว่า ภาพรวมของสินเชื่อในปี 2567 สอดคล้องตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนและยากลำบาก ทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งจากความไม่แน่นอนที่มีอยู่ ทำให้ธนาคารต้องมีการปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อ (Approve) เข้มขึ้น โดยสินเชื่อรถยนต์น่าจะปรับลดลงราว 15-20% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) และสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลงราว 7-8% YOY

Advertisment

“ภาพรวมสินเชื่อทั้งปีนี้น่าจะติดลบ อย่างไรก็ดี คาดว่าในไตรมาส 4/2567 หลังจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง คาดว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยน่าจะปรับเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย เพราะการลดดอกเบี้ยน่าจะช่วยกระตุ้นสินเชื่อได้”

ขณะที่แนวโน้มเอ็นพีแอล เชื่อว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยแบงก์สามารถบริหารจัดการคุณภาพหนี้ได้ ทั้งในส่วนของกลุ่มที่มียอดค้างชำระ 30 วัน 60 วัน และ 90 วัน แต่แบงก์ยังคงต้องช่วยเหลือลูกค้าในการเร่งปรับโครงสร้างหนี้

“ทีทีบีเป็นธนาคารแรกที่ให้ความสำคัญในการดูแลหนี้ แก้ไขปัญหาหนี้ โดยทำผ่านโครงการรวบหนี้ ซึ่งดำเนินการมาแล้วในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา จะเห็นว่าธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือลูกค้าในการรวบหนี้กว่า 3.1 หมื่นราย มูลหนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 1 หมื่นล้านบาท สามารถช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้ลูกค้าไปแล้ว 2,000 ล้านบาท มากกว่าสถาบันการเงินแห่งอื่น”

ดังนั้น ทิศทางของรายได้ค่าธรรมเนียมในปีนี้ จะเห็นว่ารายได้ค่าธรรมเนียมในหลายส่วนปรับดีขึ้น เช่น ประกัน หรือค่าธรรมเนียมในบางผลิตภัณฑ์ทำได้ดีขึ้น บัตรเครดิตเติบโตเพิ่มขึ้นตามยอดการใช้จ่าย (Spending) ที่เติบโต แต่ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับสินเชื่อลดลงสอดคล้องตามการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย และรถยนต์ที่ปรับลดลง

“สถานการณ์วันนี้แตกต่างจากช่วงโควิด เนื่องจากวันนี้เป็นการซึมตัวของธุรกิจ และคุณภาพสินเชื่อ ศักยภาพลูกค้าลดลงตามรายได้ จึงทำให้สินเชื่อใหม่น้อยลง แต่เชื่อว่า จังหวะหลังลดดอกเบี้ยน่าจะช่วยกระตุ้นได้บ้าง แต่เรายังกังวลสินเชื่อรถยนต์ แต่ก็เริ่มสัญญาณที่ดีขึ้น”

“ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ปกติสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพ จะขยายตัวมากกว่าจีดีพีประมาณ 1 เท่า อย่างไรก็ดี บางเซ็กเตอร์ยังลำบาก อย่างธุรกิจเอสเอ็มอี สินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อบ้าน ส่วนสินเชื่อต่างประเทศยังขยายตัวได้ดี

“ดร.กอบศักดิ์” กล่าวอีกว่า ธนาคารได้มีการคาดการณ์ผลกระทบต่อ NIM ไว้ล่วงหน้า กรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง แต่ปัจจุบันคาดว่าจะปรับลดเพียง 1 ครั้ง ซึ่งจะกระทบน้อยกว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมน่าจะยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุน และประกันในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี