ส่องสินทรัพย์ลงทุน “ทรัมป์เอฟเฟ็กต์” ตลาดเงินตลาดทุน “ฟินโนมีนา” มองหุ้น “สหรัฐ-อินเดีย” รับอานิสงส์ “ไพบูลย์” ชี้หุ้นไทยรอลุ้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ผลประกอบการไตรมาส 3 จับตา 2 ปัจจัยดึงฟันด์โฟลว์ไหลกลับหุ้นไทย กรุงไทยชี้ต่างชาติปรับพอร์ตทิ้งบอนด์ไทย เงินบาทอ่อนค่าระยะสั้นแตะ 34.50-35.00 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่เฟดปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ตามคาดหนุนค่าเงินตลาดเกิดใหม่ “YLG” มองทองคำปรับฐานระยะสั้น ปีหน้ายังขาขึ้นแตะ 50,000 บาท
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า จากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ประเมินว่าช่วงแรกตลาดหุ้นสหรัฐ จะได้ประโยชน์ปรับตัวขึ้นได้ เพราะทรัมป์เป็นมือโปรในการกระตุ้นธุรกิจและตลาดหุ้น และนักลงทุนเชื่อมั่นว่าทรัมป์น่าจะเข้ามาดูแลเศรษฐกิจได้ดีกว่านางคามาลา แฮร์ริส และโดยเฉพาะมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% ซึ่งทำให้กำไรธุรกิจจะปรับตัวดีขึ้นทันที
อย่างไรก็ดี ในแง่ของความกังวลก็มีอยู่จากหลาย ๆ นโยบายของทรัมป์ ที่จะกดดันให้เงินเฟ้อสหรัฐปรับตัวขึ้นสูง โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าทุกชนิดจากจีนมาเป็น 60% และ 10% สำหรับประเทศอื่น ๆ แต่ด้วยความที่เป็นทรัมป์ยังมีดีกรีของความคาดเดาไม่ได้พอสมควร ฉะนั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นแค่คำขู่หรือไม่
หุ้นไทยรอมาตรการกระตุ้น
นายไพบูลย์กล่าวว่า ภาพตลาดหุ้นไทยช่วงนี้เป็นลักษณะที่นักลงทุนจะงง ๆ อยู่ว่าจะตัดสินใจลงทุนอย่างไร ประกอบกับปัญหาในประเทศ โดยเฉพาะภาพรวมผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ช่วงไตรมาส 3/2567 ที่ยังไม่ค่อยดี ถูกถ่วงจากธุรกิจพลังงาน จากราคาน้ำมันปรับลดลง และมี Inventory Loss ธุรกิจปิโตรเคมี และธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมหนักที่ยังอยู่ในวัฏจักรขาลง
ประกอบกับธุรกิจธนาคารที่ยังตั้งสำรองสูงอยู่ แม้บางเซ็กเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจภาคอื่น ๆ เช่น การส่งออก, การท่องเที่ยว และการบริโภค หลายบริษัทมีผลกำไรเติบโตดีขึ้นก็ตาม ฉะนั้นผลในภาพรวมที่ดูไม่ตื่นเต้น จึงยังกดดันหุ้นไทยเพราะไม่มีตัวเร่งที่จะลากขึ้นไปได้ โดยคาดว่านักลงทุนคงรอเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ถ้าออกมาได้เร็วคงจะเป็นประเด็นหนุนดัชนี SET สำคัญมากที่สุด
ลุ้นผลประกอบการ Q3
นายไพบูลย์กล่าวว่า แนวโน้มภาพรวมกำไร บจ. ช่วงไตรมาส 4/2567 ประเมินว่า น่าจะปรับตัวดีขึ้น แต่กลุ่มที่ถ่วงดัชนีคงยังไม่ฟื้นตัวเร็ว แต่ถ้าโฟกัสการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภค และการแพทย์ คงจะดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนสถาบันการเงินอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้หนี้ ที่รัฐบาลขอความช่วยเหลือจากภาคธนาคารพาณิชย์ ทำให้แบงก์น่าจะคอนเซอร์เวทีฟด้วยการตั้งสำรองสูงต่ออีก
ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่น่าจะทำได้เร็วขึ้นและอาจใช้เม็ดเงินที่มากขึ้น เพราะจีนอาจเริ่มกังวลหากโดนกำแพงภาษีสหรัฐเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจจีนมีปัญหาได้ ดังนั้น จีนคงกระตุ้นเศรษฐกิจให้แรงขึ้นกว่าที่คิดไว้ ซึ่งมองว่าจะหนุนต่อไทยที่ได้ผลพวงตามมาจากสงครามการค้า (Trade War)
2 ปัจจัยดึงเงินไหลกลับ
สำหรับโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) จะไหลกลับเข้ามาตลาดหุ้นไทยและตลาดตราสารหนี้ไทย จะขึ้นอยู่กับ 1.ต้องมีมาตรการกระตุ้นที่สร้างความมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปโตที่ระดับ 3% ได้ในปี 2568 และ 2.ความนิ่งของสถานการณ์การเมืองในประเทศ ซึ่งเป็น 2 ปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติจับตาดูอยู่
นอกจากนี้ ทิศทางดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะลดดอกเบี้ย 0.25% ก็คาดว่าจะช่วยหนุนภาพตลาดหุ้นได้ต่อ แต่สำหรับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะไม่ลดดอกเบี้ยแล้วในปีนี้ นอกจากเศรษฐกิจไทยอ่อนแอจริง ๆ
หนุนหุ้น “สหรัฐ-อินเดีย”
นายชยนนท์ รักกาญจนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) ฟินโนมีนา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ สินทรัพย์ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐ เนื่องจากนโยบายการตั้งกำแพงภาษี จะทำให้สินค้าภายในประเทศสหรัฐขายได้มากขึ้น รวมถึงแผนการลดภาษีนิติบุคคลจะส่งผลให้กำไรบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้หุ้นขนาดใหญ่รวมถึงหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี “7 หุ้นนางฟ้า” และหุ้นที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมภายในประเทศ ได้ประโยชน์
อย่างไรก็ตาม นโยบายต่าง ๆ ของทรัมป์อาจจะทำให้เงินเฟ้อมีโอกาสสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นสหรัฐในระยะกลางถึงยาวได้
นอกจากนี้ ประเมินว่าตลาดหุ้นอินเดียจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากอินเดียไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งสำคัญกับสหรัฐ ขณะที่ฝั่งของจีนอาจได้รับผลกระทบหากทรัมป์ออกมาตรการที่รุนแรง ซึ่งนักลงทุนต้องจับตาว่าจีนจะออกมาตรการที่แข่งขันสู้สหรัฐได้หรือไม่ ด้านญี่ปุ่นมองเป็นกลาง โดยนโยบายของทรัมป์น่าจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในระยะสั้นถึงระยะกลาง ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า ซึ่งจะเป็นผลดีกับหุ้นนิกเคอิ 225 เพราะรายได้ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นมาจากการส่งออก หากเงินเยนอ่อนค่า หุ้นญี่ปุ่นน่าจะได้ประโยชน์
หุ้นยุโรปเสี่ยงสูงสุด
ส่วนตลาดหุ้นยุโรปน่าจะมีความเสี่ยงสูงสุด เพราะทรัมป์มีนโยบายยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ยุโรปที่อยู่ในสมาชิก NATO อาจเสียประโยชน์
ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ในห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะการส่งออกเชื่อมโยงกับจีนมากกว่า ดังนั้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เคมีภัณฑ์ หากสหรัฐมีการตั้งกำแพงภาษี จีนอาจชะลอการผลิต ซึ่งจะกระทบต่อหุ้นกลุ่มส่งออก ขณะที่ภาคการส่งออกไทยคิดเป็นประมาณ 70% ของจีดีพี อาจจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจของไทยด้วย
“สรุปคือ ทรัมป์มา ตลาดหุ้นที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด คือ สหรัฐ รองลงมาเป็นอินเดีย ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง แต่ทั่วโลกน่าจะเหนื่อย”
ฟันด์โฟลว์กลับหุ้นไทยยาก
นายสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระแสฟันด์โฟลว์ช่วงที่เหลือของปีนี้เป็นภาพการไหลออก คงจะไหลกลับมาสู่ตลาดหุ้นไทยได้ค่อนข้างยาก เพราะเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ขณะที่สหรัฐมีการลดดอกเบี้ย ลดภาษี และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะฉะนั้น ภาพฟันด์โฟลว์คงไหลกลับตลาดการเงินสหรัฐหมด และคงจะไหลออกมายากในช่วงเวลานี้จนถึงสิ้นปี
ทั้งนี้ ประเมินดัชนี SET โค้งสุดท้ายของปีนี้จะอยู่ในกรอบ 1,500-1,550 จุด เพราะเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะยังมีภูมิคุ้มกันกลับขึ้นไปยืนอยู่ในระดับนั้นได้ จากแรงหนุนเงินบาทอ่อนค่าซึ่งส่งผลกับเศรษฐกิจไทยในส่วนของการส่งออกและการท่องเที่ยว และปลายปีที่คาดหวังว่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติมอีกรอบหนึ่ง
ต่างชาติเททิ้งบอนด์ไทย
นายสงวน จุงสกุล ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจสายงานตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความเคลื่อนไหวตลาดและนักลงทุนที่ตอบสนองต่อนโยบายของทรัมป์ (Trump Trade) ส่งผลต่อค่าเงินชัดเจน แต่ส่งผลน้อยมากต่อตลาดพันธบัตรและหุ้นกู้
โดยนับจากเดือน ต.ค. ถึงวันที่ 7 พ.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตลาดเริ่มคาดการณ์โอกาสชัยชนะของทรัมป์ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรรัฐบาลไทย 5 หมื่นล้านบาท เป็นการปรับพอร์ตลดความเสี่ยงสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ ซึ่งก็เกิดพร้อม ๆ กับทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงเวลาดังกล่าว คือเงินบาทอ่อนค่าจาก 32.15 บาท ไปอยู่ที่ 33.60 บาท ก่อนวันเลือกตั้ง แต่ไปแตะระดับสูงสุด 34.46 บาท ของสายวันที่ 7 พ.ย.
อย่างไรก็ตาม บอนด์ยีลด์ไทยตอบสนองต่อแรงขายน้อยมาก โดยยีลด์พันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ๆ ที่ 2.40-2.55% โดยมีแรงหนุนจากการลดดอกเบี้ยของ กนง. เมื่อวันที่ 16 ต.ค. และยังมีแรงหนุนจากแรงซื้อจากนักลงทุนในประเทศที่มีสภาพคล่องมาก
Trump Trade บาทอ่อนระยะสั้น
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจัย Trump Trade ส่งผลทิศทางค่าเงินบาทในระยะสั้น 1 เดือน หลังจากนี้จะเห็นการเคลื่อนไหวอ่อนค่าในระดับ 34.50-35.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยหลังจากทรัมป์เป็นประธานาธิบดี คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะปรับตัวดีขึ้น อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ขาดดุลงบประมาณมากขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ปรับลดลงเร็วมาก
“นอกจากนี้ก็มีเรื่องกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย เนื่องจากคนกลัวเรื่องของกำแพงภาษี ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นและพันธบัตร (บอนด์) ในตลาดเอเชียและไทย อย่างไรก็ดี ภายหลังจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ (Bond Yield) ปรับเพิ่มขึ้น จะเริ่มทยอยปรับลดลง หลังจากนักลงทุนหันกลับมาโฟกัสเรื่องนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มากขึ้น
โดยจะเริ่มเห็นเงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจกลับมาชะลอตัว ทำให้นักลงทุนกลับมามองว่า เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ยมากขึ้น ส่งผลบอนด์ยีลด์สหรัฐทยอยปรับลดลง รวมถึงปัจจัยฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นและบอนด์ ตลอดจนไทยเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าได้
เฟดลดดอกเบี้ยหนุนค่าเงิน EM
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า กรณีเฟดปรับลดดอกเบี้ย 0.25% ถือว่าเป็นไปตามความคาดหมายของตลาด โดยสิ่งที่ตลาดจับตาอยู่คือหลังจากนี้แนวโน้มดอกเบี้ยเฟดจะเป็นไปอย่างไร เพราะมีเรื่องนโยบายทรัมป์เข้ามา อย่างไรก็ตาม ประธานเฟดพูดค่อนข้างดีว่า ไม่คิดนำนโยบาย แต่จะพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะฉะนั้น หากตีความแค่นี้ นโยบายของเฟดในการจะค่อย ๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นลักษณะนี้ต่อไป โดยตอนนี้ตลาดคาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 1 ครั้ง 0.25% และปีหน้าอีก 1% เพราะฉะนั้น ดอกเบี้ยเฟดปลายทางจะอยู่ที่ 3.5% ในปีหน้า
ทำให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอ่อนตัว และกดดันค่าเงินดอลลาร์พักตัวลงมา ซึ่งหนุนให้ค่าเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) กลับไปแข็งค่าขึ้นได้ ช่วยดึงดูดฟันด์โฟลว์ไหลกลับเข้ามาได้บ้าง โดยกลุ่มหุ้นที่เคยได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยสูงน่าจะฟื้นกลับขึ้นมาได้ เช่น กลุ่มไฟแนนซ์, โรงไฟฟ้า เป็นต้น
YLG ทองคำแตะ 5 หมื่นปีหน้า
นางสาวฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) เปิดเผยว่า หลังจากที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง ราคาทองคำมีการปรับฐานลง เนื่องจากปีนี้ราคาทองคำปรับขึ้นมาค่อนข้างสูง แต่จะเป็นเพียงระยะสั้น โดยระยะยาวยังมองว่า ทองคำยังไปต่อ
“แม้ราคาทองคำต่างประเทศจะปรับลง แต่เงินบาทที่อ่อนค่ายังช่วยให้ราคาทองคำในประเทศปรับลงไม่แรงมากนัก ข้อดีของทรัมป์ ที่จะช่วยทำให้ทองคำปรับขึ้นต่อได้ คือ การหยุดสนับสนุนเงินยูเครน รวมถึงกำแพงภาษีที่จะเพิ่มในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่ต้องการลดการถือครองค่าเงินดอลลาร์ลง ยังเป็นนโยบายที่บวกกับราคาทองคำ”
นอกจากนี้ ในการประชุม FOMC ล่าสุดที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนราคาทองคำต่อไปได้เช่นเดิม แต่ช่วงระยะสั้น ทองยังปรับฐานลงต่อได้อีก ให้แนวรับที่ 2,600-2,550 ดอลลาร์ เป็นจุดเข้าซื้อได้ ส่วนภาพใหญ่ประเมินปี 2568 น่าจะได้เห็น 3,000 ดอลลาร์ ส่วนในประเทศประเมิน 50,000 บาท
“แนะนำติดตามนโยบายทรัมป์ ว่าจะมีการปรับนโยบายใดบ้าง จากที่ได้พลังเสียงทั้ง 2 สภา การออกนโยบายต่าง ๆ อาจจะได้รับการอนุมัติ เชื่อว่าจะทำให้ตลาดทองคำ คริปโตเคอร์เรนซี ตลาดหุ้น ผันผวนทั้งหมด”