การบ้านนักเศรษฐศาสตร์ “วิจัย-เชื่อมโยง-สำเร็จ”

Analyst
คอลัมน์ : ร่วมด้วยช่วยคิด
ผู้เขียน : ดร.นครินทร์ อมเรศ 
ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างองค์กร ธนาคารไทยพาณิชย์

ในช่วงเดือนท้าย ๆ ของแต่ละปี เป็นเรื่องปกติที่องค์กรจะทบทวนผลการดำเนินการที่ผ่านมาสำหรับกำหนดทิศทางเป้าหมายการทำงานในอนาคต ซึ่งการทบทวนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่เพียงจะต้องทราบว่าตัวชี้วัดบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่

แต่จะต้องทราบอีกด้วยว่าการบ้านที่ได้รับมอบหมายนั้นมีความคืบหน้าเพียงใด และจะต้องมีการบ้านใดเพิ่มเติมในแผนงานปีหน้าบ้าง ในการนี้ ขอเชิญทุกท่านร่วมกันคิดถึงการบ้านของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในที่นี้ ขอกำหนดไว้หลวม ๆ ถึงผู้ที่ทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องโดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดยคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ในภาพที่ใหญ่กว่า คือ การตอบโจทย์ทั้งกระบวนการ ซึ่งแบ่งออกเป็นสามมิติ ตามที่ผู้เขียนเองในฐานะที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ได้รับการบ้านจากครูอาจารย์ที่เคารพมาดังนี้

มิติแรก ศึกษาวิจัย (Research) โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เจาะไปยังองค์ความรู้เชิงลึก ผ่านการค้นคว้าหาหลักฐานเชิงประจักษ์ ภายใต้กรอบแนวคิดทางทฤษฎี และใช้เครื่องมือทั้งในทางปริมาณและคุณภาพในการตอบคำถาม ซึ่งในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่แล้ว จะถือว่านักเศรษฐศาสตร์ได้ส่งการบ้านก็ต่อเมื่อส่งผลงานวิจัย ผ่านการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ เผยแพร่ในรูปแบบของหนังสือ สมุดปกขาว หรือข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แต่หากมองทั้งกระบวนการแล้ว การศึกษาวิจัยเป็นเพียงขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น

มิติต่อมา เชื่อมโยงเครือข่าย (Network) ทั้งเพื่อเรียนรู้ภาพกว้างเพื่อค้นคว้าเพิ่มเติมและสอบทานองค์ความรู้เชิงลึกที่ได้ค้นพบจากการศึกษาวิจัยว่าสอดรับกับบริบทในความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด กระบวนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์และผู้ชำนาญในแต่ละด้านเป็นองค์ประกอบสำคัญ ในการเหลาให้ผลลัพธ์มีความเฉียบคม พร้อมที่จะทะลุทะลวงคอขวดของปัญหาให้ปรุโปร่งมากขึ้น

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์แล้ว โครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการเอื้อและสะกิด (Nudge) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศต่าง ๆ ทั้งในระดับองค์กรเพื่อตอบโจทย์กลยุทธ์องค์กร หรือในระดับสาธารณะเพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ผ่านการร่วมมือปฏิบัติตามแผนใหญ่ให้บรรลุผล

คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจว่าแรงจูงใจมักจะจำกัดอยู่ในเพียงรูปแบบของผลตอบแทนที่คำนวณเป็นมูลค่าทางการเงินได้ ทั้งที่แท้จริงแล้ว แรงจูงใจอาจมาจากการสร้างชื่อเสียง ภาพลักษณ์ การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาด้วยความสะดวกมากขึ้น ไปจนถึงการสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคตผ่านการสั่งสมความน่าเชื่อถืออีกด้วย

ADVERTISMENT

มิติสุดท้าย ทำให้สำเร็จ (Execute) อันเป็นกระบวนการที่คนส่วนใหญ่ซึ่งรวมถึงตัวผู้เขียนในอดีต ตั้งคำถามว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบ้านสำหรับนักเศรษฐศาสตร์หรือไม่ หรือควรจะกำหนดขอบเขตของการทำให้สำเร็จอยู่แต่เพียงในส่วนที่นักเศรษฐศาสตร์แต่ละคนมีความเกี่ยวข้องและทำให้เกิดขึ้นได้

เพราะในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว เราอาจจะสามารถประมาณการผลกระทบในเชิงนโยบายหากควบคุมให้ปัจจัยอื่น ๆ คงที่ (Ceteris Paribus) แต่การจะอธิบายให้ครบถ้วนถึงปัจจัยในการเกิดดุลยภาพของสิ่งที่เป็นอยู่นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่งในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ดี นัยของการทำให้สำเร็จนั้นให้น้ำหนักกับการลงมือทำ มีส่วนร่วมรับผิดรับชอบในกระบวนการ ตลอดจนการขับเคลื่อนผลักดัน ภายใต้ข้อจำกัดบนพื้นฐานของความเป็นจริง

ADVERTISMENT

การทำให้สำเร็จจึงยังควรจะเป็นการบ้านของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์จะไม่อาจควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้ดังใจ แต่องค์ความรู้ถึงโครงสร้างแรงจูงใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระบบนิเวศ จะเป็นเครื่องมือหลักในการออกแบบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายภายใต้ฉากทัศน์และข้อสมมติต่าง ๆ เพื่อให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจมีชุดเครื่องมือในทางนโยบายที่จะนำไปใช้ตอบโจทย์ทั้งในระดับองค์กรและระดับสาธารณะได้ ซึ่งเป็นการต่อยอดประโยชน์ตั้งต้นของการศึกษาวิจัย ผ่านการเชื่อมโยงเครือข่าย จนถึงขั้นตอนลงมือทำในที่สุด

สำหรับผู้เขียนเองแล้ว การบ้านทั้งศึกษาวิจัย เชื่อมโยงเครือข่าย จนกระทั่งทำให้สำเร็จ มีทั้งส่วนที่ทำได้ดีกว่าที่ตั้งเป้าไว้มาก อาทิ เครือข่ายที่ให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งมาโดยตลอดโดยไม่ลดลงและเพิ่มพูนขึ้นทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ทำให้มั่นใจว่าได้เชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญตัวจริงแต่ละเรื่องอย่างแนบแน่น

หรือในส่วนของการสร้างองค์ความรู้เชิงลึก ที่ถือว่าทำได้ตามที่คาดหวัง ผ่านโอกาสร่วมงานกับนักวิจัยที่คุ้นเคยกันมานาน หรือกับนักวิจัยที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งนักการศึกษา นักกฎหมาย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล เป็นต้น ก้าวต่อไปจึงคือ การอาศัยองค์ความรู้และเครือข่ายเพื่อทำให้ผลสำเร็จเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ เพื่อเติมเต็มการส่งการบ้านให้เสร็จบริบูรณ์

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด