
ดีเดย์ 2 เมษายน 2568 “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ จะขึ้นกำแพงภาษีกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้ดุลการค้าสหรัฐมานาน ถือเป็นระลอกสำคัญ เพราะประเทศไทยเกินดุลการค้าสหรัฐราว 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 11 สมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทยจึงจัดเสวนา “Trade War 2025 จะรับมือกับ Trump อย่างไร ?” โดยมี “รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร” อดีตนายกสมาคมเศรษฐศาสตร์ฯ กล่าวเปิดงาน
กอบศักดิ์ชี้ไทยเข้าสู่มรสุม 4 ปี
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล นายกสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย และประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า อาจจะเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบ Trade War 2.0 ประเด็นสำคัญคือ สถานการณ์นี้จะลากยาวแค่ไหน เรากำลังเผชิญหน้าแบบไม่แอบแฝง ซึ่งโลกเปลี่ยนมาตั้งแต่ 20 มกราคม 2568 จะเข้าสู่มรสุมอีก 4 ปี หลายสินทรัพย์จะผันผวน บริหารจัดการยาก
ช่วง 1 เดือนเริ่มเห็นแล้ว ดัชนีดาวโจนส์ และ Nasdaq ติดลบมากขึ้น เริ่มมาตั้งแต่สิงหาคม 2567 และหลังจากเลือกตั้งสหรัฐ Nasdaq ติดลบ 8% ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ (DXY) เพิ่มขึ้น 7% จากระดับ 102-103 ไปที่ 110 และอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 102 สะท้อนว่า ทุกตลาดปั่นป่วนหมด ยกเว้นราคาทองคำที่ค่อนข้างเสถียรและเพิ่มขึ้นถึง 2,950-3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์
“มรสุมตอนนี้ไม่เหมือนวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ผลตอบแทนอาจไม่ได้ตามที่เราซื้อ แต่มาจากลมปากคนบางคน เป่าซ้าย เป่าขวา วันรุ่งขึ้นก็เสียหาย ต้องรอดู 2 เมษายนนี้ ใครแจ็กพอต”
โลกเผชิญความเสี่ยงหลายมิติ
การคาดการณ์อยู่ที่คำถาม ไทยต้องเข้าใจนิสัยและเป้าหมายสูงสุดของทรัมป์ หลายคนพูด America First หากดูประเทศอันดับ 1 และ 2 มักแย่งชิงเสมอ โดย 80% ชิงเกิดสงคราม อีก 20% ไม่มีสงคราม
หากดูกลยุทธ์หลักจะมี 3 เรื่องคือ 1.สหรัฐตั้งใจปรับโครงสร้างภายในเพื่อให้สะลิมลง 2.ปรับสมดุลกับต่างประเทศ ลดภาระและการถูกเอาเปรียบจาก Free Trade เป็น Fair Trade และ 3.จัดการกับจีนที่เป็นคู่แข่งสำคัญ
เราจะเห็นการแข่งขันใน 5 มิติคือ 1.สงครามการค้า 2.สงครามเทคโนโลยี 3.Financial War เป็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน Single Currency 4.ขอบเขตอิทธิพล (Sphere of Influence) และ 5.สงครามทหาร ซึ่งเป็นความเสี่ยงหลายมิติ เริ่มพูดถึงว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังถดถอย ตัวเลขเทรดและเซอร์วิสรายเดือนเริ่มติดลบ นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าสงครามการค้าจะทำให้เงินเฟ้อ การขยายตัวช้าลง คนตกงาน และสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
Trade War ครั้งนี้อยู่ที่ 1.ยอมสหรัฐ 2.ตอบโต้สหรัฐ และ 3.บางประเทศยอม บางประเทศตอบโต้ ประเทศที่ยอมจะได้ประโยชน์ ส่วนที่ตอบโต้จะทำให้โลกปั่นป่วน เช่น จีน ยุโรป
การตอบโต้ที่น่ากังวลที่สุดคือ การตอบโต้จากคนภายในของประเทศตัวเอง ต้องดูว่า War นี้จะจบลงตรงไหน
เราต้องคุยกันว่า เราไม่มีประโยชน์ในการเลือกข้าง เพราะคนได้ประโยชน์จะทิ้งเราไป เราต้องสื่อสารต่อเนื่องว่าเราเลือกทุกคน เป็นการป้องกันและให้ทุกประเทศหนีร้อนมาพึ่งเย็น สร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เปิดรับการลงทุน เพราะไทยคือไข่แดงของจุดยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้
ส่งออก-นำเข้า เสี่ยงถูกภาษี-แข่งรุนแรง
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก (TDRI) กล่าวว่า แม้ยังไม่รู้รายละเอียด แต่เรารู้ทิศทาง ผลกระทบหลักมี 3 เรื่อง คือ 1.กระทบสินค้าไทย เพราะต้อง Made in America 2.การส่งออกตรงไปสหรัฐ และ 3.การนำเข้ามากขึ้น เพราะค้าขายได้ยากขึ้น
หากดูสัดส่วนการพึ่งพาตลาดการส่งออกของไทย คิดเป็น 65% ของมูลค่าเศรษฐกิจไทย การนำเข้าคิดเป็น 60% ตลาดหลักคือ สหรัฐ 18% รองลงมาคือ ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน หากตลาดเหล่านี้โดนผลกระทบสงครามการค้า จะเห็นคู่ค้าหลักเริ่มโตชะลอ แม้สหรัฐที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดจะขยายตัว 2.7% อาจจะไม่ถึงในปีนี้ ส่งผลให้การซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าของไทยน้อยลง
หากดูไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐกว่า 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งทรัมป์จะดูว่าไทยเกินดุลสินค้าอะไร และตั้งกำแพง อาจจะปรับขึ้นทั้งกระดานหรือดูแค่บางตัว สินค้าที่มีความเสี่ยง 20 อันดับแรกเกินดุลสหรัฐหมด และมีสินค้าที่ไทยเก็บภาษีสูงกว่าสหรัฐ เช่น ยางรถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ อาหารสัตว์ เฟอร์นิเจอร์
การนำเข้าอาจเห็นสหรัฐบังคับไทยเปิดตลาดมากขึ้น ในสินค้าที่ไทยเก็บภาษีสูงหรือกีดกันการนำเข้า เช่น เนื้อหมู ข้าวโพด ไวน์ เบียร์ เหล้า หรือสินค้าที่มีผลกระทบต่อไทยอาจต้องเปิดเจรจา นอกจากการเปิดตลาดสหรัฐมากขึ้น จะเห็นว่าไทยนำเข้าจากจีนเป็นอันดับ 1 คิดเป็น 1 ใน 3 และ 3 ใน 4 ประเทศอื่น ส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบ เครื่องจักรอุปกรณ์ ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า ส่งผลให้นักธุรกิจได้ประโยชน์ แต่คนที่ผลิตสินค้าเดียวกันอาจเสียประโยชน์
“อีก 2-3 ปีข้างหน้าอาจมีการตั้งโรงงานจีนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการไหลบ่าของสินค้าจีน ไทยต้องมีกฎหมายควบคุมคุณภาพสินค้า ไม่ใช่แค่ตั้งกำแพงภาษี สหรัฐอาจจับตาชิ้นส่วนยานยนต์ไทย”
ชี้ 3 โอกาสของไทยท่ามกลางเทรดวอร์
โอกาสของไทยมี 3 เรื่อง คือ 1.สหรัฐเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่จะปรับลง 2-3 ครั้ง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลด 1 ครั้ง คาดจะลดอีก 1-2 ครั้ง
2.ราคาพลังงานระยะสั้นจะถูกลง เพราะดีมานด์โลกโตช้าลง ซัพพลายจะเพิ่มขึ้นหลังสหรัฐประกาศขุดน้ำมัน-ก๊าซ ทำให้ราคาน้ำมันปรับลงมาอยู่ที่ 65 ดอลลาร์ จากปีก่อน 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
และ 3.การลงทุนจะเป็นผลดีระยะยาว ไทยได้อานิสงส์จากความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต การลงทุนผ่านบีโอไอ 2 ปีที่ผ่านมาสูงสุดในรอบ 10 ปี หลังอนุมัติจะใช้เวลาอีก 1-1 ปีครึ่ง จะเห็นเม็ดเงินลงทุนและเริ่มสร้างโรงงาน ที่ผ่านมาเป็นจีน 50% อีก 50% คือสิงคโปร์ ที่เป็นบริษัทจีน และยุโรป สะท้อนว่าไทยดึงดูดเม็ดเงินได้ทุกประเทศ เหยียบเรือหลายแคมได้
“ที่มาลงทุนเป็นอุตสาหกรรมอนาคต เช่น อิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะอีวีจะลงทุนมากขึ้น และดาต้าเซ็นเตอร์ เพราะเห็นดีมานด์ในไทย รวมถึงกลุ่มที่เป็นไฮแวลู เป็นศูนย์สุขภาพ”
ส.อ.ท.ชง 4 ข้อเสนอเร่งด่วน
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขอเสนอภาครัฐแบบเร่งด่วนสำหรับมาตรการระยะสั้น 4 เรื่องเพื่อรับมือสงครามการค้า 1.ต้องบูรณาการข้อมูลการค้า กำหนดยุทธศาสตร์การเจรจากับสหรัฐ เพราะไทยส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย จาก 10% ขยับเป็น 17% ทั้งข้อมูลสิทธิประโยชน์ทางปัญญา, ลิขสิทธิ์, ดาต้าเซ็นเตอร์, การจ่าย Netflix หรืองานวิจัยต่าง ๆ ดีไม่ดีเมื่อรวมกันแล้ว ไทยอาจเกินดุลไม่มากอย่างที่คิด
2.จัดตั้ง War Room แต่งตั้งทีมเจรจา เพราะครั้งนี้กองทัพของทรัมป์เป็นนักธุรกิจชั้นนำของโลก ไทยจำเป็นต้องมีนักธุรกิจที่เข้าใจในการรับมือ
3.เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศจากสินค้าจีน หรือสินค้าราคาถูกที่เข้ามาทุ่มตลาด ปี 2567 ไทยขาดดุลจีนเพิ่มขึ้นเป็น 1.63 ล้านล้านบาท เพิ่ม 7-8% นี่แค่สินค้าที่สำแดงถูกต้องผ่านศุลกากร ยังไม่นับสินค้าผ่านออนไลน์หรือเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย
4.สนับสนุนการซื้อสินค้า Made in Thailand ถ้าช่วยกัน 3 ปีนี้จะมีเงินในระบบหลายแสนล้านบาท ทำให้ SMEs ไทยเข้มแข็งขึ้น ไม่ต้องกู้หรือเป็นภาระคลัง
ระยะยาว 1.ต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม จากรับจ้างผลิต (OEM) เป็นผู้ออกแบบ (ODM) หรือเป็นเจ้าของแบรนด์ (OBM) ส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อาหาร, เทคโนโลยีชีวภาพ เชื่อมโยง Global Supply Chain 2.พัฒนาสินค้าบริการ สร้างมูลค่าเพิ่ม 3.ปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อลดคอร์รัปชั่น ปฏิรูประบบราชการด้วยดิจิทัล และ 4.ส่งเสริมความร่วมมือ 10 ประเทศทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง
ธปท.แนะ 6 ปัจจัยตั้งรับ
ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารเงินสำเร็จ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า อยากเสนอให้ตั้งรับคือ 1.สร้างความเข้มแข็งจากภายใน เศรษฐกิจโลกกำลังแย่ 2.ดูแลเสถียรภาพด้านต่างประเทศให้เข้มแข็ง ไม่กู้ยืมเงินสกุลเงินต่างประเทศมากเกินไป 3.ใช้ประโยชน์จากการค้าและข้อตกลงการค้าในภูมิภาค อาเซียนกำลังเติบโตดีมาก ไทยต้องหันไปพึ่งพาแทน 4.หาทางเจรจาลดความเสี่ยง 5.อาศัยข้อได้เปรียบความเป็นกลางทั้งซัพพลายเชนของสหรัฐและจีน และ 6.อาศัยกลไก WTO ในการต่อต้านการดัมพ์ตลาด
ธปท.-EXIM ปิดความเสี่ยงค่าเงิน ชี้ผันผวนสูง
ส่วนทิศทางตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (ค่าเงิน) เป็นด่านแรกที่ผันผวนมาก พบว่า เม็กซิโก, แคนาดา, จีนที่โดนภาษี ค่าเงินอ่อนค่าลงหมด อนาคตค่าเงินเป็นปัจจัยที่คาดเดาได้ยากมาก
สอดคล้องกับ ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ที่เสริมว่า ปีนี้อย่าเก็งเรื่องค่าเงินโดยเด็ดขาด ขนาดธนาคารมีทีมงานที่บริหารเรื่องจัดการอัตราแลกเปลี่ยนยังไม่กล้าเก็งกำไรเลย
อดีตทูตสหรัฐแนะ 7 แนวทางรับมือ
นายพิศาล มาณวพัฒน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา นำเสนอ 7 แนวทางรับมือทรัมป์คือ 1.ศึกษาอุปนิสัย ยุทธวิธีของทรัมป์ 2.ลดพึ่งพาจากจีน/ภาพลูกไล่ทางการทูต 3.สร้างความนิยมไทยกับทรัมป์ 4.สื่อสารสิ่งที่ไทยทำประโยชน์ให้สหรัฐ 5.ประกาศแผน 4 ปี ซื้อสินค้าลอตใหญ่จากสหรัฐ 6.ประกาศแผน 4 ปี เพิ่มลงทุนในมลรัฐที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง 7.ตอบสนองข้อเรียกร้องเอกชนอเมริกันในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจไทย
2 ฉากทัศน์ “เทรดวอร์”
ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ มองว่า ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ จะเกิดเรื่องสำคัญ ๆ อาทิ 1.ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับสหรัฐ 2.จีนโดนตั้งกำแพงภาษีสูง สินค้าทะลักเข้าไทย 3.สินค้าจีนที่ขายไม่ได้จะกลับมาขายในไทย