เงินบาทอ่อนค่า จับตาสัปดาห์หน้า 4 ปัจจัยสำคัญ – ราคาทองคำโลก

เงินบาท-ราคาทองคำ

เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนครึ่ง ที่ 34.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ หุ้นไทยแตะจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปีช่วงท้ายสัปดาห์ กสิกรไทยแนะจับตา 4 ปัจจัยสำคัญในสัปดาห์หน้า ทั้งสถานการณ์ของสงครามการค้าของสหรัฐกับประเทศที่ถูกประกาศเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้า ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก สัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนครึ่ง ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมาบางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ จากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ

เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงต้นสัปดาห์ตามสัญญาณเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรไทย ประกอบกับยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมต่อเนื่องจากการปรับขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก และการแข็งค่าของสกุลเงินในภูมิภาค สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลงท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีการค้า

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกอ่อนค่ามาแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนครึ่งที่ 34.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางบรรยากาศตลาดการเงินในฝั่งเอเชียที่พลิกกลับมาเป็น Risk-Off หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (ปธน. ทรัมป์) ประกาศภาษีตอบโต้ทางการค้ากับหลายประเทศที่เกินดุลกับสหรัฐฯ (Reciprocal Tariffs) ซึ่งโดยรวมมีความรุนแรงมากกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ และทำให้เกิดความกังวลว่า สถานการณ์ของสงครามการค้าที่อาจตึงเครียดมากขึ้นจะมีผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย

ผลของการปรับขึ้น Reciprocal Tariffs ของสหรัฐฯ ยังสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ฯ จนถึงช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วน สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่กลับมาเผชิญแรงขายอย่างหนัก พร้อม ๆ กับการร่วงลงของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการปรับขึ้นภาษีการค้าของ ปธน. ทรัมป์ และการคาดการณ์เรื่องการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งตลาดเริ่มให้น้ำหนักว่า เฟดอาจจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าที่สื่อสารไว้ใน dot plot เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงมากขึ้นที่อาจเผชิญกับภาวะถดถอย

กราฟค่าเงินบาท

ADVERTISMENT

ในวันศุกร์ที่ 4 เม.ย. 2568 เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 34.18 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 33.97 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (28 มี.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-4 เม.ย. 2568 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 6,971.5 ล้านบาท แต่มีสถานะอยู่ในฝั่ง Net Inflows เข้าตลาดพันธบัตรไทย 14,783 ล้านบาท (แบ่งเป็น ซื้อสุทธิพันธบัตร 14,790 ล้านบาท หักตราสารหนี้หมดอายุ 7 ล้านบาท)

สำหรับสัปดาห์หน้า หรือระหว่างวันที่ 8-11 เม.ย. 2568 ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ระดับ 33.60-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ของสงครามการค้า (หลังจีนประกาศเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าที่มาจากสหรัฐฯ มีผล 10 เม.ย.) ทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก และสัญญาณฟันด์โฟลว์ของต่างชาติ และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด

ADVERTISMENT

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. รายงานการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 18-19 มี.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนเม.ย. รวมถึงตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของจีนด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงช่วงท้ายสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ของสหรัฐฯ

กราฟตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดแรงเทขายในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มแบงก์ ซึ่งประเมินว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อย่างไรก็ดีหุ้นกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากเหตุการณ์ดังกล่าวปรับตัวได้ดีสวนทางภาพรวม

ดัชนีหุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในเวลาต่อมา หลังตลาดประเมินว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวเป็นเพียงปัจจัยลบระยะสั้น ก่อนจะกลับไปร่วงลงแรงหลังสหรัฐฯ ประกาศอัตราภาษีตอบโต้กับประเทศคู่ค้า (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 9 เม.ย. เป็นต้นไป) ซึ่งไทยถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นทุกกลุ่มเพื่อลดสถานะความเสี่ยง

ทั้งนี้ดัชนีหุ้นไทยร่วงลงแรงต่อเนื่องในช่วงท้ายสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยแตะจุดต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่ 1,122.51 จุด อนึ่ง สัปดาห์นี้หุ้นไฟแนนซ์ปรับตัวได้สวนทางภาพรวมตลาด เนื่องจากมีการคาดการณ์ถึงโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทย

ในวันศุกร์ที่ 4 เม.ย. 2568 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,125.21 จุด ลดลง 4.27% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 36,223.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.04% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.91% มาปิดที่ระดับ 238.26 จุด

ส่วนสัปดาห์ถัดไป (8-11 เม.ย. 68) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,110 และ 1,100 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,135 และ 1,150 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า รวมถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. บันทึกการประชุมเฟด (18-19 มี.ค.) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมี.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงยอดค้าปลีกเดือนก.พ. ของยูโรโซน

ราคาทองผันผวน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การซื้อขายราคาทองคำในประเทศเมื่อวันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา การซื้อขายค่อนข้างผันผวน โดยราคาทองมีการปรับขึ้นลงตลอดทั้งวันถึง 22 ครั้ง และปิดตลาดลดลงบาทละ 450 บาท โดยทองคำแท่งในประเทศ ราคารับซื้ออยู่ที่บาทละ 50,100 บาท ขายออก 50,200 บาท

ส่วนทองรูปพรรณ 96.5% รับซื้ออยู่ที่บาทละ 49,194.20 บาท ราคาขายออกบาทละ 51,000 บาท ทั้งนี้ ในส่วนของราคาทองคำโลก (Gold Spot) อยู่ที่ระดับ 3,097.00 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ขณะที่ในวันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2568 ราคาทองที่สมาคมค้าทองคำประกาศซื้อขายมีครั้งเดียวคือปรับลงบาทละ 500 บาท ส่งผลให้ราคาทองแท่งขายออกอยู่ที่บาทละ 49,700 บาท หลุดจาก 5 หมื่นบาท ส่วนราคาทองรูปพรรณขายออกยังอยู่ที่บาทละ 50,500 บาท ราคายังยืนเหนือบาทละ 5 หมื่นบาท