รื้อเกณฑ์ BOI แก้เกมทรัมป์ สกัดจีน ‘ส่งออกศูนย์เหรียญ’ คลังสั่งปรับกฎหมาย-ลดภาษี

รมว.คลังสั่งผ่อนคลายภาษี-แก้กฎหมายให้อเมริกาทำการค้าสะดวก ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ เผยแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทยรับมือมาตรการภาษีทรัมป์ เปิดประตูนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐทั้ง “ข้าวโพด-ถั่วเหลือง” ลดเกินดุลสหรัฐ ชูจุดแข็งไทย “แปรรูปอาหารส่งขายทั่วโลก” พร้อมแผนปิดประตูทุนจีนใช้ไทยเป็นฐาน Re-Export สินค้าไปสหรัฐ เสนอนโยบายยกเครื่อง BOI ปรับเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนครั้งใหญ่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ใหม่ของประเทศ แก้เกมภาษีทรัมป์ เผยแนวทางความร่วมมืออาเซียน “ยาก” ผลประโยชน์แตกต่าง ขณะที่ภาคธุรกิจอลหม่านหลังภาษีสหรัฐพุ่งพรวด ชะลอผลิตสินค้าชั่วคราว เหตุผู้นำเข้าสหรัฐเบรกคำสั่งซื้อ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศมาตรการภาษี เมื่อ 2 เมษายน 2568 ที่ได้รับผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยที่โดนภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) 36% มีผลวันที่ 9 เมษายน 2568 (เวลาสหรัฐ) ขณะที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการเรียกประชุมติดตามมาตรการการค้าสหรัฐอเมริกา ในช่วงบ่ายวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา

ทรัมป์ต้องการเปลี่ยนโลก

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในฐานะที่ปรึกษา คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา ต้องบอกว่า การประกาศในวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีศุลกากรกับทุกประเทศทั่วโลกกว่า 180 ประเทศ เป้าหมายของทรัมป์ คือ ต้องการเปลี่ยนอเมริกา และเปลี่ยนโลก

นโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าหลายประเทศจะพยายามที่จะยื่นข้อเสนอ หรือเจรจากับทรัมป์ แต่จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมายังไม่มีประเทศไหนเจรจากับทรัมป์ได้สำเร็จสักประเทศเดียว และล่าสุดทรัมป์ก็ประกาศจะขึ้นภาษีจีนอีก 50% หลังจากที่จีนตอบโต้ขึ้นภาษีสหรัฐ 34%

เพราะก่อนวันที่ 2 เมษายน ไม่มีใครรู้ว่าทรัมป์จะมารูปแบบไหน ดังนั้น คณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และอาจารย์พันศักดิ์ (วิญญรัตน์) ประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกฯ ก็มองเห็นว่าจะต้องเก็บกระสุนไว้ เพราะถ้าไปรีบเจรจาก็จะเป็นการให้ของฟรีไปหมด

“ทรัมป์ทำตัวเป็นจักรพรรดิ ต้องการให้คนอื่นวิ่งเข้าหา แต่วิ่งเข้าไปแล้วได้อะไร โลกเปลี่ยน เราคิดไม่เหมือนคนอื่น และผมว่าเราคิดถูก สิ่งที่เราทำคือไปดูว่า โลกหลังที่ทรัมป์ต้องการเปลี่ยนสถานะของโลกและอเมริกาแล้ว ประเทศไทยจะอยู่กับเขาอย่างไร โดยคณะทำงานก็หาแนวทางออกมาได้ แต่จะสำเร็จหรือไม่ ตอบไม่ได้”

ADVERTISMENT

ยุทธศาสตร์ใหม่ประเทศ

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจแนวคิดทรัมป์ ต้องการเก็บภาษีเพราะ 1.ประเทศต่าง ๆ มีการเกินดุลการค้าสหรัฐ ทำให้สหรัฐถูกเอาเปรียบ 2.ทรัมป์ต้องการเอาเงินที่ได้จากการขึ้นภาษีไปโปะในงบประมาณเพื่อต่ออายุการลดภาษีให้คนรวยในสหรัฐ และ 3.ทรัมป์ต้องการกลับไปตั้งโรงงานและผลิตสินค้าที่อเมริกา ทรัมป์มีแนวคิดที่ว่าผลิตเอง-ใช้เอง-รวยเอง

“ดังนั้นเราต้องเจรจาภายใต้กรอบ 3 แนวทางนี้ โดยคณะทำงานก็สรุปแนวทางที่เป็นยุทธศาสตร์ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการแปรรูปอาหารแล้วขายทั่วโลก ขณะที่อเมริกาเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่ดีมาก ช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด ข้าวสาลี เป็นต้น ในขณะที่ผู้ประกอบการแปรรูปของไทยก็ต้องการวัตถุดิบเหล่านี้ เพราะผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ”

ADVERTISMENT

เช่น กรณีข้าวโพด จากรายงานของทีมกระทรวงพาณิชย์ พบว่าในประเทศไทยมีผลผลิต 5 ล้านตัน ขณะที่มีความต้องการใช้งานถึง 10 ล้านตัน แต่ก็ติดปัญหาเรื่องหลักเกณฑ์การนำเข้าหรือการกำหนดโควตาต่าง ๆ ของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งเหล่านี้ก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องไปจัดการแก้ไข เพราะถือว่าเป็นการฉุดรั้งศักยภาพการแปรรูปอาหารของไทย

“ความต้องการในประเทศมีแน่นอน เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นการรับฟังจากภาคเอกชน แต่ทุกนโยบายก็จะมีผู้เสียประโยชน์ ที่หลังจากนี้อาจจะมีผู้นำเข้ารายย่อยออกมาค้าน ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ต้องไปพูดคุยทำความเข้าใจ”

เปิดทางซื้อสินค้า “ลดเกินดุล”

นอกจากนี้ก็มีการพิจารณาข้อมูลจากเอกสารของ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ที่มีรายละเอียดว่า มีรายการสินค้าอะไรบ้างระหว่างไทยกับสหรัฐที่เหลื่อมล้ำ คือ ไทยเก็บภาษีศุลกากรจากสหรัฐสูงเกินไป คณะทำงาน รวมถึงกระทรวงการคลังก็มีการทำแพ็กเกจภาษีศุลกากร เพื่อให้ใกล้เคียงกับของสหรัฐ

หรือซื้อสินค้าบางอย่างจากสหรัฐมากขึ้น และมีผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น โครงการท่อก๊าซธรรมชาติอะแลสกา ของสหรัฐที่จะส่งก๊าซไปขายให้เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งก็ต้องแสดงเจตจำนงว่าประเทศไทยก็พร้อมจะซื้อและนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐ และปัจจุบันก็ยังพร้อมนำเข้าก๊าซ LNG จากอเมริกาเพิ่ม ก็เป็นกรอบแนวทางการเจรจาที่คณะทำงานได้เสนอนายกรัฐมนตรี

“ทรัมป์จะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนอเมริกา ดังนั้นเราจะไปเจรจาขอลดภาษีแล้วอยู่แบบเดิมไม่ได้ิ

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ทรัมป์เคยตอบสื่อมวลชนในวันที่แถลงขึ้นภาษีแล้วว่า ประเทศที่ต้องการให้สหรัฐลดภาษี ต้องมีข้อเสนอที่มหัศจรรย์ (Phenomenon Offer) ให้สหรัฐจึงจะพิจารณาลดภาษีให้ ซึ่งประเทศไทยคงไม่สามารถมีข้อเสนออะไรที่มหัศจรรย์ให้สหรัฐได้

“เราไม่ได้วิ่งไปหา และไม่ได้ตอบโต้ แต่กำลังหาทางออกว่าไทยจะอยู่กับอเมริกาในยุคของนายทรัมป์ได้อย่างไร ซึ่งมี 2 ประเด็นที่ต้องเข้าใจคือ มันมีทางออก กับต้องหาทางออก”

รื้อใหญ่นโยบาย BOI

ดร.ศุภวุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า อีกประเด็นปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องมีการจัดการภายใน คือกรณีปล่อยให้บริษัทจีนเข้ามาตั้งฐาน และ Re-export สินค้าจีนไปสหรัฐ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำไทยเกินดุลสหรัฐมากขึ้น โดยที่ผ่านมาประเทศไทยดีใจที่มีตัวเลขของส่งเสริมการลงทุนเยอะ ๆ แต่กลับกลายเป็นการส่งเสริมให้บริษัทจีนเข้ามk Re-export ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ เรื่องนี้อาจารย์พันศักดิ์ก็เคาะให้ทางบีโอไอ ต้องทบทวนแก้ไข ปรับนโยบายกฎเกณฑ์ส่งเสริมการลงทุนใหม่

โดยคณะทำงานชุดนี้ก็มี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมอยู่แล้ว เพราะประเด็นนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นปัญหาที่สหรัฐมอง และทำให้ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐเพิ่มขึ้นโดยที่ประเทศไทยแทบจะไม่ได้ประโยชน์

“ต่อไปการที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตอะไร ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าแข่งกับสินค้าจีนได้หรือไม่ และส่งไปขายที่ตลาดสหรัฐได้มั้ย”

ดรศุภวุฒิอธิบายว่า ในอนาคตการดึงลงทุนโดยตรงต่างประเทศ (FDI) ต้องเป็นการเสริมศักยภาพตามยุททธศาสตร์ของประเทศ เช่น การส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการเลี้ยงหมูคูโรบูตะคุณภาพสูงเพิ่มขึ้น ซึ่งต่อไปเราอาจอยากได้เทคโนโลยี และโนว์ฮาว มากกว่าเงินทุน

อาเซียนหาจุดร่วมยาก

นอกจากนี้ ดร.ศุภวุฒิให้ข้อคิดเห็นถึงประเด็นที่มีอาจารย์นักวิชาการเสนอเรื่องการร่วมมือกับประเทศอาเซียน เพื่อรวมพลังเจรจาต่อรองกับสหรัฐว่า ต้องถามว่าอาเซียนเคยร่วมมืออะไรกันจริง ๆ บ้าง และที่สำคัญ ผลประยชน์ของแต่ละประเทศแตกต่างกันเยอะมาก สิงคโปร์ 10% เวียดนาม 46% อินโดนีเซีย 32% มาเลเซีย 24% และต่างคนต่างมีโจทย์ที่แตกต่าง ในหลักการถ้าสามารถหาจุดร่วมด้วยกันได้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ 10 ประเทศจะคุยกันยังไง

ขุนคลังปูทางพันธมิตร

สำหรับขั้นตอนกระบวนการเจรจานั้น ดร.ศุภวุฒิอธิบายว่า ตามปกติอเมริกามีสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) เป็นผู้เจรจาการค้าเป็นหลัก โดยต้องหารือกันในระดับเจ้าหน้าที่ ระดับอธิบดี ซึ่งไทยก็มีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ทำหน้าที่เจรจา โดยมีปลัดพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะเจรจา เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันก่อน ยกเว้นสินค้าที่มีปัญหาที่จะต้องเป็นการเจรจาในระดับรัฐมนตรีต่อไป

ที่ปรึกษาด้านนโยบายของนายกฯ กล่าวถึงกรณีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปสหรัฐนั้น ไม่ได้ไปเจรจาต่อรองกับสหรัฐ แต่เป็นการพบปะหารือกับหลายภาคส่วน ทั้งระดับมลรัฐและการพบปะเกษตรกรสหรัฐ ส่วนนี้เป็นยุทธศาสตร์ในการสร้างพันธมิตรกับเกษตรกรในอเมริกา เพื่อปูทางก่อนที่จะมีการเจรจาตามกรอบที่คณะทำงานเสนอ โดยรองนายกฯพิชัยมีกำหนดการที่จะไปร่วมประชุมเวิลด์แบงก์ (21-26 เมษายน) ที่สหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว จึงมีการประสานงานเพื่อพบปะเจรจากับภาคส่วนต่าง ๆ

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า จะเห็นว่าคณะทำงานที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมา เป็นข้าราชการทั้งหมด เพราะต้องการทำให้คอมแพ็กต์ที่สุด เพื่อหาทางออกให้ประเทศ เพราะถ้าเป็นระดับรัฐมนตรีก็เป็นการเมืองเข้ามาก็จะทำให้การทำงานมีปัญหาทั้งเรื่องผลประโยชน์ และไม่เดินหน้า

ยก 5 เรื่อง หารือสหรัฐ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง แถลงภายหลังการประชุม ประชุมติดตามมาตรการการค้าสหรัฐอเมริกาว่า หลังจากทำการบ้านมา หลายอย่างที่ทำอย่างไรนำสิ่งที่ขาดเข้ามาแล้วแปรรูป อาหารสัตว์ไทยแปรรูป 20 ล้านตัน หนึ่งในนั้นคือ ข้าวโพด 9 ล้านตัน แต่เราผลิตได้แค่ 5 ล้านตัน ต้องนำเข้า 4 ล้านตัน ดังนั้นถ้าเราซื้อจากประเทศที่เราได้เปรียบดุลการค้าก็ควรจะซื้อจากเขาเพื่อลดดุลการค้า รวมถึงดูว่าราคาต้องแข่งขันได้ ซึ่งราคาข้าวโพดสหรัฐค่อนข้างแข่งขันได้ พร้อมกับต้องดูแลเกษตรกรในประเทศด้วย

นอกจากพืชผลการเกษตร ยังมีผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ซึ่งคนเอเชียรับประทานเครื่องในสัตว์ เราเก่งเรื่องการแปรรูปทำไมเราไม่นำเข้ามา ซึ่งเป็นจุดที่เราสามารถเพิ่มมูลค่าได้

เรื่องที่สอง คือ เรามีการนำเข้าสินค้า 100 กว่าชนิด บางอย่าง 50-60 ชนิด เช่น ชีส เราเก็บภาษีจากประเทศทั่วโลก แต่ได้เงินภาษีมาแค่นิดเดียว ถ้าเราผ่อนคลายภาษีด้านนี้เราก็ผ่อนคลายให้ทั้งหมด แต่เราก็ซื้อของกับคู่ค้า (สหรัฐ) ในสัดส่วนที่มีโควตาอยู่

เรื่องที่สาม สหรัฐต้องการแก้ไขเรื่องการขาดดุลการค้าที่มากเกินไปตามสัดส่วนของแต่ละประเทศ เราจะมานั่งดูว่าอะไรที่เป็นกลไกที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกเกิดขึ้น เช่น กฎหมายหลายอย่างที่ซ้ำซ้อน เราแก้กฎหมายทั้งทีถือโอกาสเพิ่มประสิทธิภาพของบ้านเรา ทำให้ประเทศไทยดูดี ทำให้การบ่นของเขาซึ่งอยู่ในรายงานสหรัฐว่าทำอะไรยุบยิบ ชักช้า กลายเป็นการไม่อยากให้เขาขายสินค้า แก้ปัญหาเหล่านี้
ไปก็จะทำให้ดูดีขึ้น

เรื่องที่สี่ Nontariff Barrier สิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับภาษี ของที่มาจากประเทศอื่นแล้วเข้าเมืองไทย มาขัดสีฉวีวรรณนิดเดียว หรือต้นถิ่นกำเนิดของสินค้า เราต้องทำเรื่องนี้ด้วยความถี่ถ้วน รอบคอบยิ่งขึ้น เพื่อทำให้สินค้าที่ใช้ไทยเป็นทางผ่านเกิดน้อยที่สุด

เรื่องที่ห้า อุตสาหกรรมไทยเริ่มขาดแคลนวัตถุดิบ แต่โครงสร้างการผลิตเรายังอยู่ ทั้งปิโตรเคมี ไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เราต้องซื้อจากตะวันออกกลาง วันนี้เราควรจัดสรรสิ่งเหล่านี้ใหม่ ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่ดูต้นทุนเบื้องต้น ต้นทุนเขาถูก บางวันขายที่ 2 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ก๊าซอ่าวไทย 5.90 เหรียญ น่าจะซื้อได้ เพราะซื้อในสิ่งที่เราอยากซื้อและซื้อในราคาที่แข่งขันได้

ยกตัวอย่าง เขาบอกไปเจาะก๊าซธรรมชาติที่อะแลสกา ถ้าทำไม่ต้องผ่านประเทศต่าง ๆ ใส่เรือลงมาไทย หรือวันนี้เราส่งคนของเราไปลงทุนด้วยดีไหม เพราะวันนี้เราหาสิ่งที่ลงทุนในประเทศไม่ง่ายเท่าไหร่เหมือนกัน หาโอกาสในสิ่งที่เราต้องการและยังมีความสามารถไปลงทุนเพื่อขายในต่างประเทศด้วย ที่เราทำอย่างนี้ไม่ได้ทำเพราะสหรัฐยื่นข้อเสนอที่โหด แต่เราจะดูว่าเราต้องการอะไร มีขีดความสามารถอะไรที่จะแก้ปัญหาและได้ประโยชน์ด้วย เราจะไม่ลดภาษี ถ้าลดภาษีก็ลดทั้งหมด

หวังสหรัฐตอบรับข้อเสนอ

นายพิชัย กล่าวว่า งานทั้งหมดที่พูดเป็นของกระทรวงพาณิชย์ 99% ที่เหลือกระทรวงเกษตรเกี่ยวพันกับผู้ลงทุน และแก้กฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวพันกับภาษี 3 หลัก ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด พระเอกใหญ่คือกระทรวงพาณิชย์ ส่วนรายขื่อเราคัดเลือกคนที่เหมาะสม อย่างน้อยตนไปด้วยหนึ่งคน

“ส่วนจะไปพบใครบ้างยังไม่แน่ใจว่าถึงเวลาหรือยังที่ไปพบนักลงทุนให้มาขายของในเมืองไทย แต่อันดับแรก ต้องเข้าใจสิ่งที่เราคิดว่าเป็นผลประโยชน์ของ 2 ประเทศ ดีกับคุณ ดีกับเรา และได้สิ่งที่คุณต้องการด้วย เราจะทำให้ดูหวังว่าเขาจะตอบรับ ครั้งแรกผมแค่ไปบอกทิศทางเท่านั้นว่าจะทำอะไร จากนั้นคนทำงานก็เดินต่อตามนี้ แล้วค่อยๆ แก้ไป ในที่สุดก็เรียบร้อย”

สกัดสินค้าจีนสวมสิทธิ

ขณะเดียวกัน นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้มีการติดตามเฝ้าระวังการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการของสหรัฐ จากประเทศอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ศุลกากรสหรัฐ ว่าสินค้าที่ส่งออกมีถิ่นกำเนิดไทยจริง และได้กำหนดรายการสินค้าเฝ้าระวังไปสหรัฐ จำนวน 49 รายการ เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ล้อเหล็กสำหรับรถบรรทุก แผ่นหินเทียม และท่อเหล็ก เป็นต้น โดยกำหนดให้ผู้ส่งออกจะต้องยื่นขอตรวจสอบถิ่นกำเนิดสินค้าก่อนขอรับหนังสือรับรอง Form C/O ทั่วไป

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) หนึ่งในคณะทำงานนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ได้เคยประชุมหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องการให้บีโอไอเพิ่มบทบาทการทำงาน ที่ไม่ใช่เพียงการออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนหรือทำหน้าที่เพียงการดึงดูดการลงทุนเท่านั้น และมาตรการที่ออกมาจะต้องตอบโจทย์กับความต้องการที่ทำให้ประเทศได้ประโยชน์สูงสุด

ผู้นำเข้าสหรัฐเบรกออร์เดอร์

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลการประชุมหารือร่วมกับ 47 กลุ่มอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 พบว่า บางกลุ่มอุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบเลย บางกลุ่มกระทบรุนแรงและน่าเป็นห่วง คือ กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากถูกเก็บภาษีในอัตรา 25% ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่ส่งออกไปสหรัฐ ซึ่งได้รับผลกระทบมากกว่ารถยนต์นั่ง เพราะเจอการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศคู่แข่ง

ถัดมาคืออุตสาหกรรมอาหาร โดยเฉพาะอาหารแปรรูปและสินค้าประมง เช่น ปลาทูน่าและกุ้งแปรรูป เดิมมีภาษี 0% แต่ถูกปรับขึ้นเป็น 36% ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ ต้องชะลอการผลิตและการส่งออก เพราะผู้ซื้อต่างประเทศปฏิเสธรับมอบสินค้าไทย เพราะเริ่มเห็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้าสูงขึ้น อุตสาหกรรมเหล็กและกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม คำสั่งซื้อลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ถูกเก็บภาษี 25% ไปก่อนหน้านี้

“ช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ทุกกลุ่มอลหม่านมาก ผู้ประกอบการไม่กล้าที่จะผลิตสินค้า เพราะคำสั่งออร์เดอร์ก็ยังไม่ชัดเจนจากทางคู่ค้า เรายังต้องรอให้รัฐบาลเจรจากับทางสหรัฐในมุมของเรา ที่อยากให้เจรจาซื้อขายแลกเปลี่ยนคือ การจัดซื้ออาวุธเทคโนโลยีและอุปกรณ์ไฮเทคทางการทหาร ซึ่งจะช่วยลดการขาดดุลได้เร็วขึ้น ส่วนเรื่องการย้ายฐานจากไทยไปเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลาเป็นปี ๆ และในช่วงสุญญากาศระหว่างที่รอรัฐบาลเจรจา ยิ่งใช้เวลานานสินค้าไทยจะยิ่งเสียเปรียบคู่แข่ง มูลค่าความเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าวอาจถึง 9 แสนล้านบาท ถ้าไม่จบภายใน 1 เดือน”

ข้าวไทยไปต่อภาษีต่ำกว่าเวียดนาม

นายวันนิวัติ กิตติเรียงลาภ รองเลขาธิการ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ ็ประชาชาติธุรกิจิ ว่า ภายหลังที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ประเทศไทย 36% ซึ่งสหรัฐเป็นตลาดหลักของการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย ปัจจุบันการส่งออกข้าวไทยไปสหรัฐภาษีเป็น 0% โดยไทยส่งออกข้าวเฉลี่ยต่อปี 5-6 แสนตัน และปี 2567 ที่ผ่านมาส่งออกข้าวไปสหรัฐอยู่ที่ 7-8 แสนตัน โดยคาดว่าปี 2568 แม้สหรัฐจะขึ้นภาษี แต่เชื่อว่าปริมาณการส่งออกข้าวของไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 5 แสนตัน

“ผู้ส่งออกข้าวไทยไปสหรัฐจะถูกคิดภาษีเป็น 36% จากที่ไม่มีภาษีนำเข้า อย่างไรก็ดี เชื่อว่าข้าวไทยยังสามารถส่งออกไปสหรัฐได้ เพราะไทยยังเสียภาษีนำเข้าน้อยกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนาม โดยภาษีที่สหรัฐเรียกเก็บนั้นอาจมีผลต่อราคาข้าวขายปลีกในสหรัฐปรับขึ้นราว 1,200 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือประมาณ 2-2.50 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม ซึ่งยังมั่นใจว่าผู้บริโภคข้าวไทยในสหรัฐยังคงนิยมและซื้อข้าวหอมมะลิไทยอยู่ เพราะผู้บริโภคที่มีรายได้ก็ยังมีความต้องการข้าวคุณภาพอยู่ สิ่งที่จะกระทบอาจจะมีผลในเรื่องของการเติบโตที่อาจจะชะลอตัวลงบ้าง”

นายวันนิวัติกล่าวว่า สิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลเป็นเรื่องของการชะลอและการพิจารณานำเข้าข้าว แต่เป็นเรื่องความไม่มั่นใจกับนโยบายการขึ้นภาษีทรัมป์ 2.0 มากกว่า เพราะจากความเห็นส่วนตัว มองว่าทุกอย่างอาจจะมีโอกาสเปลี่ยนแปลง โดยที่ผ่านมาข้าวไทยในสหรัฐมีการปรับราคาขึ้นจากปัญหาการขนส่งการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ส่งผลต่อราคาข้าวซึ่งก็เคยประสบปัญหานี้มาและก็ยังผ่านมาได้ แต่ความไม่มั่นใจของนโยบายอาจจะมีผลต่อทิศทางการซื้อขายข้าวไทยในสหรัฐได้

“อัญมณี-อาหาร” ชะลอนำเข้า

นายวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยจะมีอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิม 5.77% เป็น 42% ในทันที โดยขณะนี้ทำให้ผู้นำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับมีการชะลอการนำเข้าในทันที เพราะคาดว่าการส่งมอบน่าจะไม่ทันก่อนที่จะขึ้นภาษี ดังนั้นจึงทำให้ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ชะลอการนำเข้า ส่วนคำสั่งซื้อใหม่นั้นยังไม่สามารถคาดการณ์และประเมินได้ว่าจะมีการนำเข้าหรือไม่ ซึ่งยอมรับว่ามีผลกระทบมากในกลุ่มลูกค้า

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกรรมการ บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กลุ่มสินค้าอาหาร ในวันที่ 9 เมษายน 2568 จะถูกเก็บภาษีรวมเป็น 41% โดยภาษีที่ถูกปรับขึ้น คาดว่าจะส่งผลทำให้เกิดการชะลอการส่งมอบสินค้าที่สั่งไว้แล้ว เนื่องจากผู้นำเข้าปลายทางไม่อยากเสียภาษีเต็มรูปแบบที่ประกาศ ทั้งฝ่ายไทยคงต้องขอให้รอดูสถานการณ์ เนื่องจากรัฐบาลไทยได้แสดงความจำนงเจรจาต่อรองแล้ว โดยคาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจะอยู่ในช่วง 1 ไตรมาส หรือประมาณ 3 เดือน