แบงก์ผนึกกำลัง “ลดต้นทุน” ยุบรวมตู้ ATM-เลิกลงทุนซ้อน

สมาคมแบงก์เดินแผน “รวมศูนย์” ระบบโครงสร้างพื้นฐานของธนาคาร หวังลดลงทุนซ้ำซ้อน-ช่วยลดภาระต้นทุนแบงก์ ผลักดันโมเดลควบรวมตู้เอทีเอ็มทุกธนาคารเป็น “ตู้สีขาว” รับเทรนด์สังคมไร้เงินสดคนใช้น้อยลง “ไอทีเอ็มเอ็กซ์” เผยผลศึกษาช่วยลดต้นทุนแบงก์ 20% ทั้งสามารถลดจำนวนตู้เอทีเอ็มที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 7 หมื่นเครื่อง ลงได้กว่าครึ่ง คาดคลอดผลศึกษาในไตรมาส 3 ปีนี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้น ทำให้การทำธุรกรรมการเงินผ่านสาขา หรือตู้เอทีเอ็มก็ลดน้อยลง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงมีการผลักดันให้เกิด “ตู้เอทีเอ็มสีขาว” หรือ white label ATM ที่ไม่มีการระบุสถาบันการเงิน เป็นตู้เอทีเอ็มกลางที่เปิดให้ลูกค้าของทุกธนาคารมาใช้บริการได้เพื่อลดต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ โดยสามารถลดต้นทุนทั้งด้านการลงทุน และต้นทุนการบริหารจัดการเงินสด

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ระบุว่า ธปท.สนับสนุนแนวคิดและต้องการให้เกิด white label ATM มาโดยตลอด เพราะเชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนจากการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ให้ลดลง และท้ายที่สุดจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับประชาชนผู้ใช้บริการด้วย ขณะที่ตู้เอทีเอ็มสามารถทำธุรกรรมได้เหมือนกัน ๆ จึงไม่จำเป็นที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการลงทุนซ้าซ้อนกัน ปัจจุบันตู้เอทีเอ็มทั่วประเทศมีจำนวนราว 70,000 เครื่อง ดังนั้นจะเป็นเรื่องดีหากธนาคารจะหันมาใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันเพื่อลดต้นทุน

ผลศึกษาลดต้นทุน 20% 

แหล่งข่าวจากบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ (ITMX) ผู้ให้บริการและดูแลโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินและโอนเงินระหว่างธนาคาร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสมาคมธนาคารไทยได้มอบหมายให้ ITMX มีการเข้ามาศึกษา การทำ “white label ATM” ตั้งแต่ปี 2560 โดยสมาคมตั้งเป้าให้ผลศึกษาแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3 นี้ โดยโจทย์ที่สมาคมให้ ITMX ศึกษา เช่น รูปแบบการให้บริการเอทีเอ็มตู้สีขาว ใครเป็นผู้บริหารจัดการ การคิดค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) ต้นทุนบริการเอทีเอ็มรูปแบบใหม่ สามารถลดต้นทุนของระบบธนาคารได้หรือไม่ ผลศึกษาโมเดลเหล่านี้ถือว่าใกล้ได้ข้อสรุป และคืบหน้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในแง่ของรูปแบบการดำเนินการ

ที่ผ่านมาได้มีการเชิญผู้ให้บริการระบบเอทีเอ็ม 2-3 ราย ที่สนใจทำระบบดังกล่าวเข้ามาร่วมศึกษา และหารือเรื่องต้นทุนการเกิดเอทีเอ็มรูปแบบใหม่แล้ว รวมทั้งได้เชิญแบงก์หลัก ๆ 6-7 รายมาศึกษาโมเดลร่วมกัน จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า เมื่อเปลี่ยนเป็นตู้เอทีเอ็ม white lable คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนของธนาคารลง 20% เทียบกับการมีตู้เอทีเอ็มเป็นของตัวเอง

แหล่งข่าวกล่าวว่า จุดประสงค์ของการทำตู้เอทีเอ็ม white label คือ ต้องการลดต้นทุนแบงก์ ลดการแออัดของตู้เอทีเอ็มที่อยู่รวม ๆ กันจำนวนมาก ซึ่งการมีตู้เอทีเอ็มสีขาวจะทำให้สามารถลดจำนวนตู้ในระบบลงได้ถึง 2 ใน 3 ของทั้งหมด ยกตัวอย่างวันนี้พารากอนมี 70 เครื่อง หากเป็นระบบตู้เอทีเอ็มสีขาวมีเพียง 20 เครื่อง ก็เพียงพอต่อการให้บริการ ทั้งนี้ คาดว่าผลศึกษาจะเสร็จเรียบร้อยภายในไตรมาส 3 นี้ หากทุกฝ่ายเห็นชอบ และสามารถเริ่มดำเนินการตามแผนได้ ก็คาดว่าจะเริ่มเห็นการนำ white label ATM มาใช้ได้เร็วสุดภายในไตรมาสแรกปี 2562

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวยังต้องมีการหาข้อสรุปกันในสมาคม เนื่องจากขณะนี้ยังมีความเห็นที่แตกต่าง เนื่องจากธนาคารบางแห่งยังมองว่า การที่ธนาคารมีเครื่องเอทีเอ็มจำนวนมาก

ยังเป็นข้อได้เปรียบ หรือเป็นจุดเด่นของธนาคารในการที่จะดึงดูดลูกค้า ดังนั้นในเบื้องต้นการร่วมมืออาจเกิดขึ้นเฉพาะในบางธนาคาร

ปูทางสู่ “white label ATM”

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวว่า การรวมศูนย์เพื่อทำตู้เอทีเอ็มสีขาว จะมีผลต่อต้นทุนของแต่ละธนาคารจะลดลงมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนธนาคารที่มาร่วมมือกัน เพราะถ้าธนาคารมาร่วมกันเยอะ ต้นทุนก็จะยิ่งลดลง ในส่วนของทีเอ็มบีก็สนับสนุนการทำตู้เอทีเอ็มสีขาว เพราะถือเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (common infrastructure) ที่จะทำให้อุตสาหกรรมธนาคารมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น นอกจากลดการลงทุนซ้ำซ้อนแล้ว ยังลดต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสดที่ทุกแบงก์จะต้องขนเงินสดไปใส่ตู้เอทีเอ็ม

ที่ผ่านมาทางสมาคมแบงก์ก็ได้มีแนวคิดเรื่องการรวมศูนย์ระบบโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมธนาคาร เพื่อทำให้อุตสาหกรรมแข็งแรงขึ้น โดยที่แบงก์จ่ายค่าบริการที่ถูกลงได้ โดยสิ่งที่ทำไปแล้วคือการย้ายระบบสวิตชิ่ง ระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ มารวมไว้ที่ ITMX ก็ทำให้ต้นทุนแบงก์ถูกลง อีกหนึ่งที่มองว่าสามารถรวมศูนย์ได้ก็คือ เครื่องรูดบัตร (อีดีซี) ที่ปัจจุบันยังมีหลายเครือข่าย

นายปิติกล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันการทำธุรกรรมเงินสดลดลง ประกอบกับที่มีแนวคิดเรื่องตู้เอทีเอ็มสีขาว ทำให้ปัจจุบันธนาคารทหารไทยก็คุมตู้เอทีเอ็มอยู่ที่ 2,000 กว่าตู้ แต่ยังคงซื้อเครื่องใหม่เพื่อมาทดแทนเครื่องเก่าที่อาจมีการชำรุดหรือเก่าบ้าง

ดันลดภาระระหว่างแบงก์

อย่างไรก็ตาม “ตู้เอทีเอ็มสีขาว” ยังคงมีประเด็นที่ต้องหาข้อสรุป เพราะแต่ละธนาคารก็มีโจทย์แนวคิดที่แตกต่างกันไป ประกอบกับจำนวนและลักษณะของตู้เอทีเอ็มที่ต่างกัน ทำให้สมาคมกำลังหาจุดที่ทุกธนาคารสามารถได้ประโยชน์ร่วมกัน

“วันนี้แม้ธนาคารยกเลิกค่าฟีบนธุรกรรมดิจิทัลให้ลูกค้า แต่ธนาคารต้นทางยังมีภาระต้องจ่ายค่าฟีให้ธนาคารปลายทาง ดังนั้นเพื่อให้ต้นทุนของธนาคารลดลง แบงก์ทั้งอุตสาหกรรมก็ควรลุกขึ้นมาลดค่าธรรมเนียมจริงจัง และหยุดการสร้างภาระระหว่างกัน เพราะการสร้างภาระระหว่างกันก็เท่ากับการเปิดโอกาสให้กับคนนอกที่ไม่มีภาระ มาเสนอสิ่งที่ดีกว่าให้ลูกค้า และทั้งอุตสาหกรรมควรจะช่วยกันขจัดอุปสรรคที่จะนำพาลูกค้าไปสู่โลกดิจิทัล เพื่อที่จะส่งมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้น” นายปิติกล่าว

SCB ชี้แบงก์ลงทุนทุกพื้นที่

นายสารัชต์ รัตนาภรณ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าบุคคล และเครือข่ายสาขา ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมีเอทีเอ็มอยู่กว่า 10,000 ตู้ โดยได้ปรับเปลี่ยนเป็นตู้ CDM ที่สามารถฝากเงินได้ด้วย ส่วนโครงการตู้เอทีเอ็มสีขาว ธนาคารเชื่อว่าถ้าเกิดขึ้นได้ก็จะมีประโยชน์ เพราะจะสามารถลดต้นทุนให้แบงก์ได้ เพราะเชื่อว่าวันนี้เอทีเอ็มอยู่ในจุดอิ่มตัวแล้ว อยู่ในเกือบทุกพื้นที่แล้ว สำหรับไทยพาณิชย์เชื่อว่า แนวทางดังกล่าวยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะใกล้นี้ เพราะแบงก์ได้ลงทุนติดตั้งเอทีเอ็มไปแล้ว ก็อาจต้องมีการใช้ไปจนกว่าครบอายุการใช้งานก่อนจะเปลี่ยนตู้

“ตู้เอทีเอ็มสีขาวเหมาะกับประเทศที่ยังไม่พัฒนา ที่ยังไม่มีการติดตั้งเอทีเอ็ม การมีตู้สีขาวคือการมาแชร์โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันลงทุนทีเดียว แต่วันนี้แบงก์พาณิชย์ลงทุนไปเยอะมากในทุกพื้นที่แล้ว แต่อนาคตหากการลดใช้เงินสดมันมาเร็ว ตู้เอทีเอ็มความจำเป็นน้อยลง แบงก์ก็อาจต้องหันไปแนวทางนี้ โดยปัจจุบันการทำธุรกรรมบนตู้เอทีเอ็มของธนาคารอยู่ที่ราว 50% สาขา 9% และบนดิจิทัล 40%”

ต้องอาศัยทุกแบงก์ร่วมมือ

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารมีตู้เอทีเอ็มอยู่ราว 10,000 ตู้ แนวโน้มตู้เอทีเอ็มและสาขาของธนาคารก็ลดลงในอนาคต เพราะทุกวันนี้ธนาคารเน้นให้ลูกค้าทำธุรกรรมบนดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งธนาคารเห็นด้วยที่จะมีตู้สีขาว เพราะเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว ก็น่าจะช่วยลดต้นทุนให้กับแบงก์ได้ในอนาคต

“หากตู้แบบใหม่เกิดขึ้นได้ก็ดี ทำให้การขยายตู้เอทีเอ็มในอนาคตอาจลดลงได้ในบางจุด ส่วนปัญหาต้นทุนระหว่างธนาคารเวลาลูกค้าโอนเงินข้ามไปข้ามมา วันนี้ยังอยู่ ซึ่งเราก็อยากลด เพราะเหล่านี้คือต้นทุน เรื่องนี้ต้องอาศัยทุกธนาคารที่จะเห็นด้วย คิดคนเดียวไม่ได้” นายพัชรกล่าว

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารมีการลดจำนวนตู้เอทีเอ็มลงต่อเนื่อง เพราะคนที่ใช้เงินสดน้อยลง ดังนั้น

เชื่อว่าความจำเป็นในการมีตู้เอทีเอ็มน้อยลง ส่วนตู้เอทีเอ็มสีขาว ธนาคารคงไม่ได้รับประโยชน์มากนัก เพราะทุกวันนี้ธนาคารเน้นให้ลูกค้าทำธุรกรรมจากตู้แบงก์อื่น ๆ โดยที่ธนาคารเป็นคนออกค่าฟีให้ ปัจจุบันธนาคารมีตู้เอทีเอ็มราว 90-100 ตู้

กรุงไทยขานรับลดต้นทุน


นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตู้เอทีเอ็มสีขาวถือว่าเป็นหนึ่งในแนวทางที่ธนาคารสามารถร่วมกันเพื่อลดต้นทุน เพราะที่สุดแล้วจะเป็นการลดต้นทุนทั้งในเรื่องของเงินลงทุน การดูแลเงินสดในตู้เอทีเอ็ม ที่มีต้นทุนเยอะพอสมควร และถ้าดูตัวเลขทั้งระบบก็จะพบว่าการทำธุรกรรมที่สาขาและตู้เอทีเอ็มลดลงต่อเนื่อง เพราะคนหันมาทำธุรกรรมในมือถือมากขึ้น ในส่วนของกรุงไทยมีแผนจะลดตู้เอทีเอ็มลงอยู่แล้ว เนื่องจากต้องการจะลดต้นทุนทางการเงินด้วย แต่คงจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะตู้เอทีเอ็มของธนาคารส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ทำให้สามารถอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าได้ดี