ธปท.ผ่อนคุมแลกเงิน-เพิ่มผู้เล่น เอื้อธุรกิจ-รายย่อย ลดต้นทุน 1 พันล้าน

ธปท.ผ่อนคุมแลกเงิน-เพิ่มผู้เล่น เอื้อธุรกิจ-รายย่อย ลดต้นทุน 1 พันล้าน

นับวันค่าเงินบาทเพิ่มความผันผวนสูงขึ้นทุกปี บนความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจและการเงินของโลกที่ซับซ้อน ซึ่งทำให้การคาดการณ์ได้ยากขึ้น โดยถ้าดูช่วง 5-6 เดือนค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าสลับแข็งค่าไปมาหลายรอบ จากต้นปี 2560 เปิดตลาดค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.83 บาท/ดอลลาร์ ก็เคลื่อนไหวอ่อนค่าไปที่ 35.84 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่แตะแข็งค่าทำสถิติรอบ 23 เดือน ที่ 33.95 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งล่าสุด (5 มิ.ย.) ค่าเงินบาทปิดอยู่ที่ 33.99 บาท/ดอลลาร์ ตอกย้ำการเงินทุนต่างชาติไหลเข้าออกรวดเร็ว และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะภาคธุรกิจ

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ประกาศ ”การปฏิรูปเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินŽ” หรือ (Foreign Exchange Regulation Reform) แม้จะสร้างความผิดหวังให้กับตลาดการเงินที่คาดว่า ธปท.จะมีมาตรการสกัดเก็งกำไรค่าเงินออกมา แต่ ธปท.กลับปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่เปิดเสรีขึ้น ซึ่ง “วิรไท สันติประภพ”Ž ผู้ว่าการ ธปท. ทบทวนจุดอ่อนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ราว 80 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ได้ปรับปรุงอย่างจริงจังมายาวนาน ทำให้เป็นอุปสรรคและไม่เท่าทันการบริหารจัดการความเสี่ยงสมัยใหม่ สำหรับคนทำการค้าการลงทุน ดังนั้น การปฏิรูปกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน (Ease of Doing Business) ซึ่งจะมีทั้งการลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น การผ่อนคลายให้เอกชนทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศโดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตต่อ ธปท. การสนับสนุนให้ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการได้ถึง 1,000 ล้านบาท/ปี

ผู้ว่าการ ธปท.ยืนยันว่า การผ่อนคลายหรือยกเลิกกฎเกณฑ์เหล่านี้ จะไม่ทำให้หน้าที่ดูแลเสถียรภาพการเงินของ ธปท.ด้อยลง โดย ธปท.ยังจำเป็นต้องมีข้อมูลสำหรับติดตามวิเคราะห์เงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อประเมินผลกระทบต่อตลาดเงินและระบบเศรษฐกิจไทย

ขณะที่ในการผ่อนคลายเกณฑ์ต่าง ๆ วชิรา อารมณ์ดีŽ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท.แจกแจง 4 เรื่องหลัก ดังนี้

เรื่องแรก การลดขั้นตอนและเอกสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยผ่อนคลายให้หันมายื่นเอกสารประกอบการขอโอนเงินออกนอกประเทศเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้จากเกณฑ์เดิม โอนเงินออกนอกประเทศตั้งแต่ 50,000 ดอลลาร์ขึ้นไป จะต้องยื่นเอกสารทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ

เรื่องที่ 2 คือ ผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้คล่องตัวมากขึ้น เช่น อนุญาตให้ยกเลิกสัญญาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ทุกกรณี อนุญาตให้บริษัทในเครือเดียวกันสามารถทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแทนกันได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเป็นรายกรณีตามเกณฑ์เดิม รวมถึงอนุญาตให้บริษัทและบริษัทในเครือที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ (Pilot Company) สามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศและโอนเงินออกนอกประเทศกับธนาคารพาณิชย์ได้โดยไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบ

เรื่องที่3คือ การเพิ่มทางเลือกการซื้อขายโอนเงินรายย่อย โดยผ่อนคลายให้สามารถโอนเงินชำระค่าสินค้าต่างประเทศผ่านตัวแทนโอนเงินระหว่างประเทศ (Money Transfer Agent หรือ MT) ได้ การเพิ่มวงเงินโอนออกต่อวันด้วย จากเดิมกำหนดวันละไม่เกิน 200,000 บาท

และยังผ่อนคลายคุณสมบัติผู้ยื่นขออนุญาต MT ส่วนบุคคลรับอนุญาต (Money Changer หรือ MC) หรือร้านค้ารับแลกเงิน สามารถซื้อขายธนบัตรเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ หรือ MC ในต่างประเทศได้ และกรณีลูกค้าจะซื้อขายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น ลูกค้าโอนเงินมาที่บริษัทรับแลกเงินได้ จากเดิมต้องใช้เงินสดแลกเท่านั้น

ในเกณฑ์ข้อ 3 คือ ธปท.ยังเปิดให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อสกุลบาทให้ Nonresident-NR (ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ) ที่เป็นผู้ประกอบการในต่างประเทศ เพื่อการลงทุนในไทยและให้สินเชื่อแก่ NR ที่มีการจัดตั้งในประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เพื่อการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน หรือโครงการอุตสาหกรรมในประเทศที่ว่าได้Ž วชิรากล่าว

และส่วนที่ 4 คือ เพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้แก่นักลงทุนไทย และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ โดยผ่อนคลายให้นักลงทุนรายย่อยที่มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทไม่ถึง 100 ล้านบาท สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ โดยไม่ต้องผ่านตัวแทนการลงทุนในประเทศเช่นเกณฑ์เดิม แต่จะมีจำกัดให้ไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อรายต่อปี นอกจากนี้ ธปท.ยังอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์สามารถขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศ (FX License) บริการให้ลูกค้าไทยและต่างชาติได้ จากเดิมให้เฉพาะธนาคารพาณิชย์เท่านั้น และเปิดให้ผู้ประกอบการธุรกิจซื้อขายสัญญาล่วงหน้าในตลาด (TFEX) ยื่นขอใบอนุญาตเป็น Broker Currency Futures ได้

โดยกฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายต่าง ๆ นี้จะมีบางส่วนที่ประกาศใช้ภายในเดือน มิ.ย. 2560 นี้ คือ 1.ลดขั้นตอนและให้ยื่นเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 2.ให้รายย่อยสามารถโอนเงินชำระค่าสินค้าต่างประเทศผ่าน MT ได้ 3.ให้ธนาคารปล่อยกู้เงินบาทโดยตรงแก่ผู้ประกอบการในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนแก้เกณฑ์ผ่อนคลายอื่น ๆ จะทยอยประกาศใช้ภายในปีนี้ เพราะต้องมีการแก้กฎเกณฑ์ที่อยู่ในอำนาจหรือเกี่ยวโยงกับอำนาจของหน่วยงานอื่น

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าการผ่อนคลายตามเกณฑ์ใหม่ของธปท.มีประเด็นสำคัญช่วยเพิ่มบทบาทผู้เล่นหน้าใหม่ทั้ง MT และ MC เข้ามาแข่งขันให้บริการทางการเงินทั้งเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ การโอนเงินระหว่างประเทศกับรายย่อยและผู้ประกอบการขนาดเล็ก และมองว่าการปรับเกณฑ์การแลกเปลี่ยนดังกล่าว จะช่วยเสริมศักยภาพการแข่งขันกับภาคธุรกิจไทย ซึ่งสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินในช่วงที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีแรงกดดันของเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะปัจจัยความไม่แน่นอนในจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดช่วงครึ่งปีหลัง จึงยังคงหนุนให้เงินบาทมีทิศทางแข็งค่า แต่ก็สอดคล้องไปกับสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค ดังนั้น การทำป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจึงยังจำเป็นอยู่