โนวาสฯถกขุนคลังสนรวมแบงก์ วิ่งหาข้อมูล M&A/จับตาดีลธนชาต-TMB

ผู้บริหารต่างชาติกลุ่มธนชาตสนควบรวมแบงก์ไทย ดอดหาขุนคลังขอรายละเอียดมาตรการหนุน “อภิศักดิ์” ดันแบงก์ไทยรวมกิจการ เพิ่มความเข้มแข็งรับมือเทรนด์ “e-Bank” มาแรง ฟาก สคร.เดินหน้าขายหุ้นคลังหมดความจำเป็นต้องถือไว้-เริ่มหุ้น 18 บ.นอกตลาดหุ้น

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยควบรวมกิจการ (M&A) นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีผู้บริหารกลุ่มธนชาตจากต่างประเทศ (โนวาสโกเทียแบงก์) ได้เข้ามาพบตน เพื่อสอบถามถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนก็เห็นว่าหากสถาบันการเงินสามารถควบรวมกันได้ ก็ทำให้ความเข้มแข็งของสถาบันการเงินมีมากขึ้น เพราะต่อไปจะกลายเป็น e-Bank กันเกือบหมด ทำให้แต่ละแบงก์ต้องใช้เงินลงทุนปรับระบบอีกมาก หากยังมีขนาดเล็กอยู่ก็จะแข่งขันยาก

อย่างไรก็ดี ธนชาตจะสนใจควบรวมกิจการกับทางธนาคารทหารไทย (TMB) หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้คุยกันถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งมาตรการส่งเสริมทีออกมามีระยะเวลาให้ดำเนินการภายใน 3 ปี

“เขามาถามว่านโยบายควบรวมที่เราออกไปเป็นอย่างไร เราก็บอกว่า แบงก์รวมกันได้ก็ดี สิ่งที่เราลดให้ก็คือ พวกค่าใช้จ่ายจากการควบรวม ทั้งค่าใช้จ่ายการปิดสาขา หรือต้องปิดคอมพิวเตอร์เหลืออันเดียว เป็นต้น เขามาถามก็คงเอาไปคิด ซึ่งคนที่มาพบเป็นฝรั่ง เราก็เล่าให้ฟังว่าทำไมเราออกมาตรการนี้มา” นายอภิศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ดี หากทางธนชาตสนใจธนาคารทหารไทยจริง แม้ว่าราคาหุ้นจะแพงก็คงมีวิธีดำเนินการ แต่ตนไม่ทราบว่าทางธนชาตจะสนใจควบรวมกิจการกับทางธนาคารทหารไทยจริงหรือไม่

“เขาก็คงมีวิธีของเขา ถ้าแพงเกินไป (ราคาหุ้น TMB) เขาก็ไม่เอาพวกนี้เป็นคอมเมอร์เชียลดีลเพียงแต่เขามาถาม ที่ผ่านมามีฝรั่งเจ้าอื่น ๆ มาถามเหมือนกัน”

รมว.คลังกล่าวยอมรับว่าความตั้งใจของกระทรวงการคลังในการออกมาตรการส่งเสริมดังกล่าว เพราะอยากเห็นธนาคารพาณิชย์ของไทยมีขนาดใหญ่จนไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์ใหญ่ ๆ ในภูมิภาคได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เกิดได้ยาก เพราะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของไทยส่วนใหญ่จะมีเจ้าของ ซึ่งต่างคนก็ต่างทำธุรกิจของตัวเองไป

“จากที่สังเกตในเมืองไทย แบงก์ส่วนใหญ่จะรวมกันได้ก็ต่อเมื่อแบงก์มีปัญหา จะรวมเพื่อการเจริญเติบโต หรือเพื่อยุทธศาสตร์ที่ดีขึ้นมีน้อยมาก แบบนั้นเคยเกิดครั้งเดียวสมัยธนาคารนครหลวงไทยรวมกับธนาคารศรีนครที่รวมแล้วทุกอย่างดีขึ้น พอรวมแล้วกำไรเกิดขึ้นมหาศาล นอกจากนั้น ก็รวมกันเพราะมีปัญหาทั้งสิ้น”

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า ส่วนล่าสุดที่คลังได้ประกาศประมูลขายหุ้นบริษัทที่ถืออยู่ต่ำกว่า 50% และเป็นหุ้นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ 18 บริษัท หรือจำนวนหุ้นกว่า 3.3 ล้านหุ้นนั้น เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ขายหุ้นที่ไม่จำเป็นที่คลังต้องถือไว้ เพราะไม่ได้มีประโยชน์ในทางยุทธศาสตร์ เพื่อจะได้นำเงินมาใช้ประโยชน์ด้านอื่นที่จำเป็นกว่าแทน ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ก็เป็นหุ้นที่ได้มาจากการยึดทรัพย์คดีต่าง ๆ

“จริง ๆ ก็ควรขายตั้งแต่หลายปีแล้ว ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม อะไรที่ไม่จำเป็น ไม่ได้ต้องถือไว้เป็นยุทธศาสตร์ ก็ควรขายออกไป ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ได้มาจากการยึดทรัพย์ ซึ่งขายทั้งหมดก็คงได้ไม่กี่บาท ส่วนหุ้นบริษัทที่คลังถือต่ำกว่า 50% ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าหลังจากนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คงทยอยพิจารณาดำเนินการ เพราะ ครม.มีมติไว้ให้ดำเนินการได้อยู่แล้ว”

ส่วนหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ในสถาบันการเงินต่าง ๆ นั้น รมว.คลังกล่าวว่า กรณีดังกล่าวอาจจะต้องถือไว้บ้าง แต่ไม่ใช่เล็ก ๆ อย่างเช่น ธนาคารกรุงไทย ก็ต้องถือไว้เพราะเป็นยุทธศาสตร์ ซึ่งช่วยในการทำนโยบายการคลังในบางครั้ง โดยธนาคารกรุงไทยต้องทำหน้าที่ช่วยสร้างสมดุลระบบเศรษฐกิจ เหมือนที่ผ่านมาการที่ภาครัฐทำเรื่องอีเพย์เมนต์ได้ ก็มีธนาคารกรุงไทยช่วยทำ เพราะไม่เช่นนั้นก็เกิดยาก

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทาง TMB มีการศึกษาเรื่องการควบรวมกิจการกับทางธนาคารธนชาตอยู่ แต่ยังไม่ได้มีข้อสรุป

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!