ขุนคลังเปิดใจโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง เร่งดัน20กม.ลดเหลื่อมล้ำ จนแต้มรีดภาษี”เฟซบุ๊ก-กูเกิล”

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ขุนคลังเปิดใจโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง เร่งดันกฎหมาย “ลดเหลื่อมล้ำ” ค้างอีกกว่า 20 ฉบับ ทั้ง “ภาษีลาภลอย-ภาษีกองทุนตราสารหนี้-ภาษีอีบิสสิเนส” ทำใจหมดโอกาสเก็บภาษี “กูเกิล-เฟซบุ๊ก” แจง กม.อีเพย์เมนต์มุ่งทำ “บิ๊กดาต้า” ให้ธุรกิจออฟไลน์-ออนไลน์อยู่บนฐานภาษีเดียวกัน ชี้ปัญหาใหญ่คือธุรกิจไทยเลี่ยงภาษีเยอะ เสียงอ่อนค้าน “ขึ้นดอกเบี้ย” ในรอบธ.ค.นี้ วางแผนรีวิว “ทะเบียนคนจน” อุดรูรั่วจนไม่จริง

กฎหมายคลังค้าง 20 ฉบับ 

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงที่เหลือของปี 2561 นี้อีกราว 20 วัน ต้องพยายามเร่งกฎหมายที่จำเป็นต้องเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดย สนช.ได้ขยายเวลารับร่างกฎหมายถึงสิ้นปี จากเดิมจะรับแค่สิ้น พ.ย. โดยกระทรวงการคลังมีร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกากว่า 20 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไปหลายเดือนแล้ว

“ร่างกฎหมายที่ค้างอยู่เกือบทุกฉบับเป็นเรื่อง Fundamental ทั้งนั้น อย่างเช่น ภาษีลาภลอยก็ค้างมา 4-5 เดือนแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะทำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งภาษีกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่ทำเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างคนซื้อตราสารหนี้โดยตรงกับคนที่ซื้อผ่านกองทุนรวม แล้วก็ร่างกฎหมายอีบิสซิเนสที่กำหนดให้แพลตฟอร์มธุรกิจจากต่างประเทศ อาทิ เฟซบุ๊ก กูเกิล เป็นต้น นำส่งภาษีให้กรมสรรพากร ซึ่งผ่าน ครม.มาราว 4 เดือนแล้ว ตอนนี้ยังอยู่ที่กฤษฎีกา จะทันหรือเปล่ายังไม่รู้ ซึ่งจากที่ได้หารือกับแพลตฟอร์มข้ามชาติเหล่านี้ ทุกคนพร้อมจะนำส่งภาษีให้ ถ้าประเทศไทยมีกฎหมายออกมา แต่เป็นอะไรที่ยากลำบาก กว่าจะผ่านกฎหมายอะไรสักฉบับ ซึ่งรัฐบาลนี้ใช้เวลากว่า 3 ปี หากยังไม่สำเร็จ โอกาสที่จะคลอดในรัฐบาลเลือกตั้งก็เป็นไปได้ยาก” นายอภิศักดิ์กล่าว

ภาษีอีเพย์เมนต์สร้าง “บิ๊กดาต้า” 

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า สำหรับกรณีร่างกฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ที่เพิ่งผ่าน สนช. โดยกำหนดให้สถาบันการเงินรายงานธุรกรรมการเงินของลูกค้า ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อจัดเก็บภาษีค้าออนไลน์ แต่เป้าหมายคือต้องการทำให้ผู้ประกอบการอยู่บนฐานภาษีเดียวกัน ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีคนหลีกเลี่ยงภาษีจำนวนมาก โดยเฉพาะการค้าขายที่อยู่บนออนไลน์ ซึ่งหากไม่ทำให้เกิดความเป็นธรรมกับร้านค้าทั่วไป ประเทศก็จะเดินไปข้างหน้าได้ลำบาก เพราะคนหลบภาษีกันมาก

“คือมันต้องอยู่บนฐานเดียวกัน ไม่ใช่ปล่อยให้อีคอมเมิร์ซได้เปรียบ แล้วคนที่ค้าขายทั่วไปก็ยิ่งเจ๊งใหญ่ เพราะตอนนี้ก็เสียเปรียบอยู่แล้ว ดังนั้นต้องเอามาอยู่ฐานเดียวกัน แล้วก็พยายามทำให้

ทุกคนขึ้นมาออนไลน์” นายอภิศักดิ์กล่าว

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า เดิมกรมสรรพากรก็ยกร่างให้รายงานทุกธุรกรรม เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ตามปกติสถาบันการเงินต้องรายงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่แล้ว เพียงแต่เพิ่มเติมให้ส่งข้อมูลกรมสรรพากรด้วย เพื่อให้กรมสรรพากรมีข้อมูลในลักษณะบิ๊กดาต้ามาใช้ประโยชน์

“ไม่ได้มีกฎหมายภาษีไว้เพื่อดักอีคอมเมิร์ซ แต่ทำขึ้นมาเพื่อป้องกันคนที่ทำอะไรผิดกฎหมาย เช่น ค้ายาเสพติด การพนัน แทงบอล ฟอกเงิน หรือหวยใต้ดิน แต่พอกฎหมายผ่านกฤษฎีกาออกมาก็มีการกำหนดจำนวนครั้งขึ้นมา ว่าให้รายงานบัญชีที่มีธุรกรรมฝาก/รับโอนเงินตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี หรือเกิน 400 ครั้ง วงเงินเกิน 2 ล้านบาทขึ้นไป เลยกลายเป็นประเด็นต่าง ๆ ขึ้นมา”

อุดรูรั่วทะเบียนคน “ไม่จนจริง”

สำหรับมาตรการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลที่เข้ามาใหม่สามารถทำต่อได้ โดยเมื่อ พ.ร.บ.กองทุนสวัสดิการแห่งรัฐมีผลบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้ผ่าน สนช.ไปแล้ว ก็จะมีกองทุนที่สามารถรับงบประมาณ รวมถึงรับบริจาคเงินจากเอกชนเข้ามาได้ โดยแต่ละปีคิดว่าใช้ประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท

“ปีนี้ก็ใช้งบฯประมาณนั้น ถ้าจะเพิ่มเติมสวัสดิการอะไรมากกว่านี้ ก็เป็นชั่วครั้งชั่วคราว ทั้งนี้ เราก็หวังว่าจะมีคนที่พ้นจากความยากจนไปบ้าง แต่ก็อาจจะมีคนลงทะเบียนเพิ่มเข้ามาอีก เพราะที่ผ่านมาบางคนก็บอกว่า ไม่มั่นใจว่ารัฐจะช่วยจริง” นายอภิศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ คลังได้วางแผนการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยรอบใหม่ในช่วงกลางปี 2562 ซึ่งคงเป็นช่วงรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้ว โดยการลงทะเบียนจะพิจารณาคุณสมบัติเป็นรายครอบครัว จากเดิมที่เป็นการดูข้อมูลรายบุคคล เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ที่บางคนบอกว่า คนไม่จนจริงก็ได้บัตร โดยรอบหน้าก็จะลงทะเบียนเป็นครอบครัว

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า วันที่ 17 ธ.ค.นี้จะมีการประชุมประเมินผลการพัฒนาอาชีพผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเชื่อว่าผลลัพธ์น่าจะออกมาดี โดยเฉพาะกลุ่มที่จะมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี หรืออยู่ใต้เส้นความยากจนน่าจะมีรายได้ขยับขึ้น ซึ่งนโยบายนี้ทำให้รัฐบาลสามารถเข้าไปช่วยคนได้อย่างตรงกลุ่ม ตรงจุดมากที่สุด จากในอดีตไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำได้

อัดมาตรการพยุง ศก.โค้งท้าย

สำหรับการที่ต้องออกมาตรการต่าง ๆ ช่วงปลายปีนี้ นายอภิศักดิ์กล่าวว่า เป็นเพราะปัจจัยภายนอกที่ดูว่าไม่ค่อยดี จึงเห็นว่าต้องเติมนโยบายการคลังลงไป เพราะไม่อยากให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 4% อย่างไรก็ดี ในส่วนภาคเศรษฐกิจในประเทศ ยืนยันว่าแข็งแกร่ง จากสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมากว่า 3 ปี ซึ่งหลังจากนี้หากเกิดภาวะช็อกจากต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยก็รองรับได้

รมว.คลังกล่าวว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดี โดยเฉพาะจากปัจจัยภายในประเทศที่มีการลงทุน การบริโภคเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยต่างประเทศคงไปควบคุมไม่ได้ ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่ก็ต้องปรับตัว ซึ่งในส่วนการส่งออกนั้น ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการไทยสู้คนอื่นไม่ค่อยได้

“ประสิทธิภาพเราสู้เขาไม่ได้จริง ๆ พอมีปัญหาคู่ค้าต่างประเทศเลือกจะไม่ซื้อจากเราก่อน แสดงว่าของคนอื่นดีกว่าเรา ฉะนั้นเราต้องปฏิรูปอุตสาหกรรม ถ้ายังจะเน้นส่งออก ก็เริ่มเห็นเอกชนมีการลงทุนเทคโนโลยีก็จะช่วยได้ ขณะเดียวกันการที่ประเทศไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมมากขึ้น ก็จะช่วยให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศลดลงได้ ก็จะทำให้ในอนาคตเราแข่งขันได้มากขึ้น”

รมว.คลังกล่าวและว่าการลงทุนเอกชนที่เป็นบวกมากขึ้นนั้น มองว่าจะฟื้นได้ยาว จากการลงทุนเพื่อปรับเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามในการลงทุนขยายการผลิตก็อาจจะยังคงชะลอ

จากช็อปสู่แต๊ะเอียช่วยชาติ

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า มาตรการภาษีช็อปช่วยชาติปีนี้เป็นการช่วยเฉพาะกลุ่ม สำหรับที่รัฐบาลเตรียมออกมาตรการแต๊ะเอียช่วยชาติ ในช่วงตรุษจีน (1-15 ก.พ. 2562) ที่จะคืนเงิน 5% ให้ผู้ที่ใช้บัตรเดบิตรูดซื้อสินค้าในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาทนั้น ก็เพื่อช่วยคนกลุ่มที่ยังไม่ได้รับการดูแล ขณะเดียวกันก็เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ และรัฐบาลต้องการสร้างระบบการส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ทางอิเล็กทรอนิกส์ไปในตัว เพราะ POS (Point of sale) ของร้านค้าจะส่งข้อมูลไปที่กรมสรรพากรอัตโนมัติ รวมถึงการโอนเงินคืนเข้าพร้อมเพย์ก็จะทำให้คนลงทะเบียนพร้อมเพย์มากขึ้น

“เหตุผลที่ให้ใช้ผ่านบัตรเดบิต คืออยากให้ใช้เงินจากที่มีอยู่ ไม่อยากให้สร้างหนี้ โดยทางแบงก์บอกจะเปลี่ยนเป็นบัตรเดบิตให้คนถือเอทีเอ็มฟรี ซึ่งขณะนี้มีผู้ถือบัตรเดบิตประมาณ 50 กว่าล้านคน ส่วนอีก 20 ล้านคนที่ยังถือบัตรเอทีเอ็ม” นายอภิศักดิ์กล่าว

มั่นใจปีหน้าไม่มีปัญหา

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจปีหน้าไม่ได้มีประเด็นอะไรมาก แต่ก็ต้องระมัดระวังโดยเฉพาะผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศ แต่ยืนยันว่า สถานะทางการคลังของไทยดี ไม่ได้มีปัญหา สามารถรองรับกับภาวะช็อกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกได้

“ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราวางไว้และเดินมาถึงวันนี้ คิดว่าน่าจะรองรับได้ ประเทศไทยจะไม่เป็นเหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง แบบถอยแล้วตกเหวคงไม่มี อันนี้ผมค่อนข้างมั่นใจ” รมว.คลังกล่าว

เสียงอ่อนค้านขึ้นดอกเบี้ย

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า รมว.คลัง กล่าวว่า ดอกเบี้ยโลกคงปรับขึ้นอีกแน่นอน แต่ดอกเบี้ยไทยต้องพิจารณา ซึ่งต้องคำนึงถึงเรื่องเสถียรภาพเป็นสำคัญ ถ้าเสถียรภาพการเงินของเรายังเข้มแข็งอยู่ ก็ยังไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย แต่นี่เป็นความคิดของผม แต่สุดท้ายก็ขึ้นกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะชั่งน้ำหนัก

“หากเหตุผลในการอ้างเพื่อปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็นเรื่องเสถียรภาพ ตนก็ยอมรับได้ แต่ที่ผ่านมาเหตุผลที่อ้างยังฟังดูแปลก ๆ เช่น บอกว่าประเทศอื่นขึ้นกันหมดแล้ว หรือบอกว่าหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธุรกิจรายเล็กเพิ่ม เกิดพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน (เสิร์ชฟอร์ยีลด์) เป็นต้น ถ้าแบบนี้ไปขึ้นดอกเบี้ยเอ็นพีแอลจะไม่ยิ่งเพิ่มขึ้นหรือ จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาหรือเปล่า หรือบอกว่า เงินไหลเข้าเยอะทำให้บาทแข็ง ขึ้นดอกเบี้ยก็ยิ่งเงินไหลเข้า บาทก็ยิ่งแข็งหรือเปล่า คือถ้าบอกว่า ขึ้นเพื่อดูแลเสถียรภาพแบบนี้ก็โอเค รับได้ เพราะเราต้องดูแลเสถียรภาพเป็นเรื่องใหญ่” รมว.คลังกล่าว

กรณีถ้าการประชุม กนง. 19 ธ.ค.นี้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะกระทบต้นทุนธุรกิจหรือไม่นั้น รมว.คลังกล่าวว่า ต้นทุนธุรกิจน่าจะถูกนับรวมเรื่องดอกเบี้ยเข้าไปแล้ว เพราะตอนนี้ภาคธุรกิจที่ออกบอนด์ก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้นหมดแล้ว ส่วนในแง่สถาบันการเงินก็ยังไม่ได้ปรับดอกเบี้ย ฉะนั้นจึงไม่มีประเด็น แต่ว่าคงมีผลในแง่ต้นทุนต่อภาครัฐ

งบฯขาดดุลต่อเนื่องอีก 10 ปี

รมว.คลังกล่าวด้วยว่า ในวันที่ 15 ม.ค. 2562 จะมีการประชุมเตรียมจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งก็จะเป็นการตั้งงบฯขาดดุล ซึ่งตามแผนจะขาดดุลไปอีกประมาณ 10 ปี แต่เป็นการขาดดุลที่มีกฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ชัดเจน ว่าต้องใช้ในการลงทุน ไม่ใช่ขาดดุลเพื่อนำไปใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้ประเทศมีประสิทธิภาพดีขึ้น อย่างไรก็ดี คงเป็น ครม.ของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาอนุมัติงบประมาณปี 2563 ดังกล่าวในช่วงประมาณเดือน มิ.ย.

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat
.
หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!