“ประกันรถ”จ่อคิวขึ้นค่าเบี้ย เหตุค่าเคลมพุ่ง-ผู้บริโภคอ่วม

แฟ้มภาพ
เจ้าของรถอ่วม จับตาบริษัทประกันทยอยปรับขึ้นค่าเบี้ย สมาคมวินาศภัยฯแจงอุบัติเหตุสูงดันยอดเคลมพุ่งต่อเนื่อง 5 ปี แถมดีเดย์ 1 ม.ค. 62 คปภ.บังคับเพิ่มความคุ้มครองใหม่ “ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ” กระทบต้นทุนธุรกิจสองเด้ง วิริยะฯเจ้าตลาดชี้ต้นทุนเพิ่ม 4-5% ขณะที่ “กรุงเทพประกันภัย” ยันยังอั้นไหว
สถิติอุบัติเหตุเพิ่มดันต้นทุนพุ่ง

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดประกันภัยรถยนต์ปี 2561 ที่ผ่านมา คาดว่าจะเติบโตราว 6% เทียบปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ก้าวข้ามการโตในระดับต่ำในหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากยอดขายรถใหม่เกิน 1 ล้านคัน แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลมาก ๆ คือ อัตราความเสียหาย (loss ratio) ที่มีสถิติการเคลมประกันรถที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 61) พบว่า อัตราความเสียหายธุรกิจประกันภัยรถยนต์ทั้งระบบขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 65.9% จากปี 2560 อยู่ที่ 64.8%

สถิติความเสียหายในธุรกิจประกันภัยรถยนต์ (ภาคสมัครใจ) ย้อนหลัง 5 ปี ระหว่างปี 2555-2560 พบว่า อัตราความเสียหายอยู่ที่ 60%, 62%, 62.8%, 63.8%, 64.6%, 64.8% ตามลำดับ และสถิติความเสียหายในธุรกิจประกันภัยรถยนต์ (ภาคบังคับ) อยู่ที่ 52.2%, 51.5%, 41.2%, 44.3%, 56.6%, 60.9% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่บังคับใช้ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2559 ในกรณีได้รับบาดเจ็บ จากเดิมจะได้รับค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาทต่อคน ปรับเพิ่มเป็น 80,000 บาทต่อคน และค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร จากเดิม 200,000 บาทต่อคน ปรับเพิ่มเป็น 300,000 บาทต่อคน ซึ่งสมาคมกำลังศึกษาผลกระทบ จากอัตราความเสียหายปรับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“สถิตการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของคนไทยอยู่ที่ราว 2 หมื่นคนต่อปี ทำให้ภาคธุรกิจต้องจ่ายเคลมประกันเพิ่มขึ้นมากกว่า 2,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่จ่ายอยู่ราว 4,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาท และแนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุบ้านเราไม่ได้ลดลง จึงน่าเป็นห่วงมาก” นายกี่เดชกล่าว

ปี”62 ประกันแห่ขึ้นค่าเบี้ย

และผลกระทบในปี2562 ที่น่าเป็นห่วง คือ กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกคำสั่งปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ (ภาคสมัครใจ) ให้มีการจ่ายชดเชย “ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ” ให้แก่เจ้าของรถคู่กรณี กรณีรถของผู้ทำประกันภัยเป็นฝ่ายผิด ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2562

การชดใช้ค่าขาดประโยชน์ สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง จะได้รับการชดเชยไม่น้อยกว่า 500 บาทต่อวัน รถยนต์รับจ้างสาธารณะขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง ไม่น้อยกว่า 700 บาทต่อวัน และรถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง ไม่น้อยกว่า 1,000 บาทต่อวัน

นายกี่เดชกล่าวว่า ผลจากสถิติการเกิดอุบัติที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มความคุ้มครองค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ จะทำให้เริ่มเห็นบริษัทประกันวินาศภัยทยอยปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยรถยนต์ในปีนี้มากขึ้น รวมถึงมีการลดค่าการตลาดอาทิ ค่าคอมมิสชั่นที่จ่ายอยู่ประมาณ 16-18% ซึ่งประเทศในอาเซียนจ่ายค่าคอมมิสชั่นเฉลี่ยอยู่แค่ 12-15%

ถกค่ายรถ-อู่ซ่อม

นายจีรพันธ์ อัศวธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมกำลังพิจารณาผลกระทบ จากการเพิ่มวงเงินความคุ้มครอง ที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจ ทั้งยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ อาทิ ดัชนีเงินเฟ้อ เพราะอัตราค่าซ่อม ค่าอะไหล่ ค่าสี ปรับเพิ่มขึ้น 3-5% ต่อปี รวมถึงค่าฐานานุรูป ค่าแรงขั้นต่ำ โดยจะมีการหารือกันในคณะกรรมการยานยนต์ของสมาคม เพื่อไปเจรจาต่อรองเรื่องการคิดค่าซ่อม ค่าอะไหล่กับค่ายรถบางยี่ห้อ รวมถึงอู่ซ่อม ปีนี้อัตราความเสียหายของธุรกิจประกันภัยรถยนต์จะยังคงปรับตัวสูงขึ้น และจะเห็นบริษัทประกันปรับค่าเบี้ยประกันของรถบางรุ่นสูงขึ้น แต่ก็อาจมีรถบางรุ่นปรับเบี้ยถูกลง ซึ่งเป็นไปตามความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ สำนักงานอัตราเบี้ยประกันภัย (IPRB) ซึ่งอยู่ภายใต้สมาคมได้ส่งข้อมูลสถิติค่าเสียหายของประกันภัยรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ที่เก็บสถิติไว้ให้กับบริษัทสมาชิกนำไปใช้วิเคราะห์ จากเดิมที่การออกแบบประกันจะเป็นแบบ “one size fits all” มาเป็นแบบ “tailor made” มากขึ้น และในอนาคตอาจเห็นการทำประกันแบบระบุชื่อผู้ขับขี่มากขึ้น

ข้อมูลสำนักงานอัตราเบี้ยประกันภัย ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 61 พบว่า อัตราความเสียหายของรถยนต์นั่งอยู่ที่ 62.92% รถยนต์โดยสาร 59.07% รถยนต์บรรทุก 59.83% รถยนต์ลากจูง 65.92% รถยนต์นั่งรับจ้างสาธารณะ 69.85% รถพ่วง 58.75% และรถจักรยานยนต์ 65.88%

วิริยะฯจ่อปรับเบี้ย 5%

ด้านนายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.วิริยะประกันภัย ที่ครองส่วนแบ่งตลาดประกันรถยนต์กว่า 16.6% เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแข่งขันของธุรกิจประกันภัยรถยนต์ปี 2562 จะรุนแรงไม่ได้ เพราะการเพิ่มความคุ้มครองเรื่องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ค่อนข้างกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจ ทำให้การแข่งขันด้านราคาทำได้ยาก ซึ่งค่ายไหนทำแบบนั้นก็จะมีความเสี่ยงมาก ต้องปรับแนวทางใหม่

“ขณะนี้บริษัทกำลังหารือถึงการปรับขึ้นค่าเบี้ย เพื่อรองรับความคุ้มครองที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว โดยจะพิจารณาจากข้อมูลค่าเฉลี่ยการชดใช้ค่าขาดประโยชน์ย้อนหลังประกอบ ซึ่งคาดว่าอัตราความเสียหายประกันภัยรถยนต์น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4-5% ทำให้บริษัทต้องปรับเบี้ยประกันสูงกว่านี้เพื่อหนีเหมือนกัน กำลังพิจารณาว่าจะเอายังไงดี เพราะต้องดูข้อมูลว่าการเคลม การเรียกร้องค่าเสียหายว่าสูงขนาดไหน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการเพิ่มความคุ้มครองค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ จะทำให้ธุรกิจประกันรถเติบโต เพราะในแง่ผู้ใช้รถก็จะคำนึงถึงเรื่องนี้ ซึ่งถ้าไม่ทำประกันก็จะซวยเอง” นายสยมกล่าว

กรุงเทพประกันยังอั้นไหว

ขณะที่นายอานนท์ วังวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย ในฐานะประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเพิ่มความคุ้มครองเรื่องค่าขาดผลประโยชน์จากการใช้รถ จะกระทบอัตราความเสียหายของธุรกิจบวกเพิ่มอีก 1% ซึ่งปัจจุบันค่าเฉลี่ยอัตราความเสียหายของธุรกิจประกันภัยรถยนต์อยู่ที่ 65% ซึ่งจริง ๆ ก็ถือว่าอยู่ลำบากแล้ว เมื่อมีต้นทุนเพิ่มเข้ามาอีก ย่อมส่งผลกระทบต่อเบี้ยและต้นทุนธุรกิจแน่ ๆ

อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันจะปรับเบี้ยหรือไม่ ขึ้นอยู่ว่าอัตราความเสียหายของแต่ละบริษัทอยู่ในระดับไหน ถ้ายังต่ำกว่า 60% ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องปรับเบี้ยขึ้น แต่ถ้าสูง 65% ขึ้นไปก็จะทำให้ขาดทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งก็คงต้องมีการปรับเบี้ยประกัน ถ้าไม่ปรับจะยิ่งลำบากขึ้น

“เรื่องการเพิ่มความคุ้มครองค่าขาดประโยชน์ไม่ใช่สาเหตุเดียว แต่เป็นปัญหาเก่าของแต่ละบริษัท จากที่อัตราความเสียหายเกินระดับ 60% อยู่แล้ว ก็ลำบากที่จะพยุงไว้” นายอานนท์กล่าว

สำหรับกรุงเทพประกันภัยคาดว่าจะยังไม่ปรับขึ้นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ เพราะ loss ratio ของบริษัทอยู่ใกล้ ๆ 60% ซึ่งไม่สูงเท่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม โดยคาดว่าปี 2562 เบี้ยประกันภัยรถยนต์ของบริษัทจะเติบโตประมาณ 10% จากปี 2561 อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!