สรรพากรเริ่มส่องทุกบัญชีปีนี้ เม.ย.คลอดกม.ลูก ตีกรอบแบงก์ส่งข้อมูล

สรรพากรเริ่มส่องทุกบัญชีแบงก์ตั้งแต่ปีนี้ เดินหน้าชงคลังออกกฎหมายลูกเป็นแนวปฏิบัติให้ “แบงก์-อีมันนี่” ส่งข้อมูล “ธุรกรรมพิเศษ” ยันฝาก/โอนเข้าบัญชีตัวเองต้องนับด้วย หวังจัดกลุ่มผู้เสียภาษีเพื่อให้บริการ

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 หรือ พ.ร.บ.ภาษีอีเพย์เมนต์ มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2562 เป็นต้นไป ทางกรมสรรพากรจะเร่งดำเนินการออกกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะเสนอไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาได้ภายในเดือน เม.ย.นี้

สำหรับกฎหมายลำดับรองหลัก ๆ มี 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย 1) กฎกระทรวง เพื่อรองรับการนำส่งข้อมูลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 2.กฎกระทรวง เพื่อรองรับการหักภาษีและนำส่งภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) และ 3.ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อรองรับการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice/e-Receipt) และการยื่นแบบแสดงรายการภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing)

โดยกรณีการนำส่งธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ เป็นหน้าที่ของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ที่จะต้องรายงานข้อมูลของธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ซึ่งธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะหมายถึง 1.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไปต่อปีต่อธนาคาร และ 2.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดเงินรวม 2,000,000 บาทขึ้นไปต่อปีต่อธนาคาร ทั้งนี้ จะต้องรายงานครั้งแรกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 (ข้อมูลธุรกรรมของปี 2562)

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า การออกกฎหมายลูกจะต้องดำเนินการภายใน 180 วัน ซึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจนสำหรับการให้แบงก์และอีมันนี่รายงานข้อมูลธุรกรรมพิเศษ

ทั้งนี้ การรายงานดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพากรมีข้อมูลเพิ่ม เพื่อนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เสียภาษีออกมา แล้วแบ่งผู้เสียภาษีออกเป็นกลุ่ม ๆ คือ กลุ่มมีนัยสำคัญทางภาษี (ฐานภาษี) และกลุ่มที่ไม่มีนัยสำคัญทางภาษี โดยกลุ่มมีนัยสำคัญทางภาษีก็จะแบ่งอีกว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มไม่เสี่ยง

“กลุ่มที่มีนัยทางภาษีแล้วไม่เสี่ยงก็คือ กลุ่มเด็กดี ก็จะเน้นให้บริการที่อำนวยความสะดวกให้มากขึ้น เช่น มีช่องทางพิเศษ คอลเซ็นเตอร์ หรือคืนภาษีเร็ว ส่วนกลุ่มที่เสี่ยงก็อาจจะเข้าไปตรวจสอบ ให้ความรู้ หรือกำกับโดยใกล้ชิดรายตัว เข้าประกบ ทั้งนี้ ก็จะเหมือนแบงก์ คือ เราจะได้หาโปรดักต์ที่เหมาะสมให้กับผู้เสียภาษี เพราะเราไม่อยากให้มาตรการเดียวกันหมด ระหว่างคนดี กับคนไม่ดี” นายปิ่นสายกล่าว

นายปิ่นสายกล่าวด้วยว่า กฎหมายที่ออกมาไม่ใช่การไปไล่เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ แต่กฎหมายบังคับใช้กับบัญชีเงินฝากทั้งหมด ซึ่งการพิจารณาจำนวนธุรกรรมจะดูเป็นรายแบงก์ โดยรวมทุกบัญชีที่อยู่ในแบงก์เดียวกัน และในกรณีฝาก/โอนเข้าบัญชีตัวเองก็นับด้วย ส่วนบัญชีต่างแบงก์จะไม่นำมานับรวม ทั้งนี้ การให้เริ่มเก็บข้อมูลหากจะให้เป็นธรรมกับผู้มีหน้าที่ส่งรายงาน ก็ต้องให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่มีประกาศแนวปฏิบัติออกไป ซึ่งอาจจะในอีก 1-3 เดือนหลังจากนี้

“ดังนั้น ข้อมูลธุรกรรมของปี 2562 ที่รายงาน ก็อาจจะ 9 เดือน หรือ 6 เดือน ขึ้นกับการออกประกาศหลังจากนี้” นายปิ่นสายกล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!