สมาคมธนาคารไทยแจงเคลียร์ปมส่งข้อมูลสรรพากรกับทุกแบงก์แล้ว เปิดให้ลูกค้าที่ไม่ยินยอมแจ้งได้ 7-14 พ.ค.นี้ คาดเหลือคนแจ้งไม่มาก

ประธานสมาคมธนาคารไทย คาดลูกค้าแจ้งความจำนงไม่ส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กรมสรรพากรมีไม่มาก เหตุลูกค้ามีวิธีบริหารจัดการเงินให้ได้ผลตอบแทนทีดีกว่าฝากออมทรัพย์ ล่าสุด เตรียมเปิดให้ลูกค้าที่ไม่ยินยอมแจ้งได้ 7-14 พ.ค.นี้

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ในส่วนของสมาคมธนาคารไทย ได้ทำความเข้าใจกับธนาคารสมาชิกประกาศเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้กรมสรรพากร เพื่อทำความเข้าใจกับลูกค้าธนาคาร โดยในส่วนของลูกค้าที่ไม่ประสงค์จะให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร สามารถมากรอกแบบฟอร์มได้ที่ธนาคารที่เปิดบัญชีไว้ ขณะเดียวกันในส่วนของลูกค้าที่ประสงค์ให้ธนาคารนำส่งข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆ โดยธนาคารจะมีการจัดส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้แก่กรมสรรพากรตามปกติ

ทั้งนี้ ในส่วนของลูกค้าที่ไม่ต้องการนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยทุกบัญชีต่อกรมสรรพากร จะต้องไปกรอกแบบฟอร์มไม่ประสงค์นำส่งข้อมูลดอกเบี้ยที่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยที่ลูกค้ามีบัญชีให้ครบทุกธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.62 ถึงวันที่ 14 พ.ค.62 โดยการแจ้งครั้งเดียวจะมีผลตลอดไป จนกว่าลูกค้าจะมาแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นอื่น จากนั้นทุกธนาคารจะนำข้อมูลส่งให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 20 พ.ค. เพื่อให้กรมสรรพการทำการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง และเเจ้งข้อมูลกลับมายังธนาคารก่อนการจ่ายดอกเบี้ยในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ สำหรับพระกาศดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่รอบภาษีดอกเบี้ยจ่ายครึ่งปีแรกในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป

นายปรีดีกล่าวอีกว่า ลูกค้าที่เข้าข่ายต้องจ่ายภาษีดอกเบี้ยเงินฝากตามประกาศที่เกี่ยวกับแนวปฏิบัติการส่งข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ให้กรมสรรพากรนั้น จะต้องเป็นลูกค้าที่มีเงินอยู่ในบัญชีออมทรัพย์อยู่ที่ 4 ล้านบาท ทุกวันเป็นระยะเวลา 1 ปี จึงจะเข้าข่ายที่กรมสรรพากรกำหนด โดยปัจจุบันนี้มีลูกค้าที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีดอกเบี้ยอยู่ที่ไม่ถึง 1% ของจำนวนลูกค้าทั้ง 80 ล้านบัญชีในระบบ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อย เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้จะมีวิธีในการบริหารจัดการเงินในการสร้างผลตอบแทนที่ดีอยู่เเล้ว จึงคาดว่าจะมีผู้มาแสดงความจำนงกรอกฟอร์มไม่มาก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ มีหน้าที่จัดส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้แก่กรมสรรพากร โดยกรมสรรพากรจะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลดอกเบี้ยของลูกค้าในทุกธนาคาร เพื่อดูว่าลูกค้ามีดอกเบี้ยถึง 2 หมื่นบาทหรือไม่ หากพบว่ามีลูกค้าได้รับดอกเบี้ยเกิน 2 หมื่นบาท ก็จะส่งข้อมูลกลับมายังธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคารที่ลูกค้าได้รับดอกเบี้ยเงินฝาก เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% จากลูกค้ารายดังกล่าว โดยที่แต่ละธนาคารจะไม่ทราบข้อมูลของลูกค้าของธนาคารอื่นๆ


“โดยทุกธนาคารจะทำหน้าที่ส่งข้อมูลการจ่ายดอกเบี้ยให้กรมสรรพากร จากนั้นกรมสรรพากรจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลยอดการได้รับดอกเบี้ยลูกค้าของแต่ละธนาคาร หากพบว่าลูกค้าคนได้รับเกิน 2 หมื่นบาท ก็จะแจ้งไปยังธนาคารให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของลูกค้าในทุกธนาคาร ดังนั้นใครอยากโดนหักภาษีก็มาแจ้ง ถ้าไม่อยากโดนหักภาษีก็อยู่เฉยๆ” นายปรีดีกล่าว