คปภ.ตั้งทีมยกร่างกม.ประกันสุขภาพ

คปภ.เดินเครื่องยกร่าง “พ.ร.บ.ประกันสุขภาพ” ตั้งคณะทำงานศึกษากฎหมาย “ออสเตรีย-ออสเตรเลีย” หาแนวทางเหมาะสมของไทย เตรียมหารือประกันชีวิตขายกรมธรรม์สุขภาพเดี่ยว พร้อมนัดถกทั้งประกันชีวิต-ประกันวินาศภัยเคลียร์ขั้นตอนจ่ายภาษี “VAT-ธุรกิจเฉพาะ” คาดใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีเห็นเป็นรูปธรรม ก่อนจะพิจารณาบังคับใช้ในอนาคต

นายชนะพล มหาวงศ์ รองเลขาธิการสายกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คปภ.เตรียมตั้งคณะทำงานศึกษาแผนยกร่างพระราชบัญญัติการประกันสุขภาพ โดยมอบหมายให้นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี สำนักงาน คปภ. เป็นผู้ดำเนินการศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในหลายประเทศและดูแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศไทย

นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี สำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษากฎหมายหลายฉบับของแต่ละประเทศ ที่เห็นเด่น ๆ คือ กฎหมายประกันสุขภาพของประเทศออสเตรียและออสเตรเลียที่มีรายละเอียดชัดเจนว่าเคสไหนที่จะให้บริษัทประกันไม่ต่ออายุกรมธรรม์ได้ หรือเห็นสมควรปรับเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งต้องหาแนวทางที่เหมาะสมและเป็นธรรมที่สุดกับประชาชน โดยไม่ให้บริษัทประกันได้รับผลกระทบด้วย นอกจากนี้ อาจกำหนดหลักเกณฑ์หรือส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลเรื่องสุขภาพได้ต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งคาดว่าจะศึกษาเห็นแนวทางที่เป็นรูปธรรมภายในสิ้นปีนี้

“จากนั้นจะเป็นการยกร่างกฎหมาย ซึ่งต้องพิจารณาเรื่องความสมดุลหลายอย่าง ถ้าเกิดไม่มองประสบการณ์คนอื่น เราจะไม่เห็นว่าเป็นอย่างไร สมมติกรมธรรม์ยกเลิกได้/ยกเลิกไม่ได้ ควรจะหาสมดุลตรงไหน เคสไหนควรปรับเบี้ย/ไม่ควรปรับเบี้ย คำว่ากรมธรรม์ระยะยาวหน้าตาเป็นอย่างไร ซึ่งต้องเขียนกรอบกฎหมายให้ชัดไม่ให้เกิดปัญหาได้ ซึ่งในระยะยาวจะเป็นตัวแก้ปัญหาเรื่องที่เป็นกังวลของทุกคน เราคาดว่าจะต้องใช้เวลาร่างกฎหมายอย่างน้อย 1 ปี มีการทำเฮียริ่ง และน่าจะเห็นร่าง พ.ร.บ.ประกันสุขภาพเป็นรูปธรรมได้ในปี 2564 อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ เพราะมีปัจจัยแทรกซ้อนเยอะ และต้องมีการหารือกับ คปภ.และภาคธุรกิจ ว่าทำแค่ไหนที่ทุกคนจะ comfortable”

สำหรับแนวทางให้บริษัทประกันชีวิตขายประกันสุขภาพเดี่ยวได้เหมือนกับในหลาย ๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว นายอดิศรกล่าวว่า จะต้องมานั่งพิจารณาร่วมกันว่า หากทำแล้วเกิดผลดีกับประชาชนก็ไม่เสียหายที่จะเปิดให้ทำ และเรื่องระบบการจ่ายภาษีที่แตกต่างกันระหว่างบริษัทประกันชีวิตและประกันวินาศภัยนั้น คงต้องหารือระหว่างแต่ละผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและไปหารือกรมสรรพากร เพราะหากขายโปรดักต์ที่เหมือนกันก็ควรจะต้องจ่ายภาษีเหมือนกัน แต่จะเหมือนแบบไหน ระหว่างจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่บริษัทประกันวินาศภัยจ่ายอยู่ กับจ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายได้ลงทุนที่บริษัทประกันชีวิตจ่ายอยู่ ซึ่งจะต้องไปหาหลักการที่ถูกต้องมาประกอบการพิจารณาด้วย

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า การยกร่าง พ.ร.บ.ประกันสุขภาพเป็นสิ่งดี เพราะในกฎหมายแพ่งมีแต่กฎหมายประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ซึ่งประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุบางทียังก้ำกึ่งขายอยู่ทั้งสองธุรกิจ เพื่อให้คนใช้อำนาจทางกฎหมายได้มีขอบเขตปกป้องตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าเพิ่มโอกาสให้ประชาชนอยู่แล้ว เพราะมีการแข่งขันที่กว้างขึ้น


“ต่อไปธุรกิจประกันชีวิตขายประกันสุขภาพเดี่ยวได้ ธุรกิจประกันวินาศภัยก็จะขายค่าปลงศพได้เหมือนกัน อย่างไรก็ดี ปีนี้ธุรกิจประกันสุขภาพยังคงมีการโตสูงต่อเนื่อง เพราะด้วยเทรนด์และฐานเบี้ยยังน้อย” นายอานนท์กล่าว