แบงก์กสิกรไทยใน สปป.ลาว รุก “แบงกิ้งเอเย่นต์” เฟ้นหาพันธมิตรท้องถิ่น เจรจาทั้งเทลโก้-ร้านสะดวกซื้อ หวังเข้าถึงลูกค้ารายย่อยใช้บริการทางการเงินแบงก์ คาดชัดเจนภายในปีนี้
นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank เปิดเผยว่า ขณะนี้สาขาใน สปป.ลาวของธนาคารได้รับอนุญาตทำธุรกิจแบงกิ้งเอเย่นต์ (banking agent) จากธนาคารกลางของ สปป.ลาวแล้ว ดังนั้น ธนาคารจึงกำลังพัฒนาระบบไอทีและเฟ้นหาพันธมิตรท้องถิ่นทำหน้าที่รับเติมเงินและถอนเงิน เพื่อให้บริการเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ซึ่งมีเจรจาทั้งกลุ่มเทลโก้และร้านสะดวกซื้อ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้
“เราขยายธุรกิจดังกล่าว ถือเป็นการต่อยอดรูปแบบการทำธุรกิจในลาวที่เป็นสาขาและโมบายเคลื่อนที่ ซึ่งปีที่ผ่านมาก็ได้เริ่มขยายบูทเติมเงินอีวอลเลต (กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์) ที่เชื่อมตรงกับบัญชีเงินฝากลูกค้า ซึ่งได้รับความนิยมสูงมาก หลังจากนี้เราต้องพัฒนาช่องทางดิจิทัลต่าง ๆ ให้เพิ่มขึ้น เพราะการขยายสาขาในต่างประเทศทำได้ไม่มาก” นายภัทรพงศ์กล่าว
สำหรับยอดการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชั่น (QR Bank) ซึ่งเป็นบริการอีวอลเล็ต เมื่อปลายเดือน เม.ย.62 ธนาคารได้เพิ่มฟีเจอร์บนแอปให้สามารถเติมเงินสำหรับผู้ใช้มือถือเครือข่ายลาวเทเลคอมได้แล้วทั่วนครหลวงเวียงจันทน์ ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแอปราว 40,000 ราย แต่ยังมียอดการทำธุรกรรมต่อวันไม่มากนัก ซึ่งขณะนี้ธนาคารกำลังจะทำการตลาดลงพื้นที่วงกว้างด้วยบูทเติมเงินของธนาคารที่มีเจ้าหน้าที่ให้บริการกระจายตามจุดต่างๆ เพื่อเข้าหาลูกค้าใหม่ๆ สำหรับรองรับแผนดำเนินธุรกิจสาขาในลาวของธนาคารในระยะ 3 ปีข้างหน้า ที่จะมุ่งไปสู่การนำเพย์เมนต์ดิจิทัลแพลตฟอร์มให้บริการยิ่งขึ้น และสอดรับกับเป้าหมายของธุรกิจสาขาในลาวระยะ 3 ปีข้างหน้า ที่จะสามารถทำกำไรเติบโตขึ้น 2 เท่าทุกปี
“ปีที่แล้วสาขาใน สปป.ลาวสามารถทำกำไรได้แล้ว ถือว่าดีกว่าที่คาดเอาไว้ จากผลการผลักดันให้คนลาวมีอีวอลเลตเพิ่มขึ้น เพื่อซื้อขายสินค้าต่าง ๆ รวมถึงการทำเทรดไฟแนนซ์สำหรับลูกค้าบริษัทในไทยที่เข้ามาขยายธุรกิจในลาว” นายภัทรพงศ์กล่าว
สำหรับผลดำเนินงานของสาขา สปป.ลาวของธนาคารในปัจจุบัน มียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทุกปี และมีฐานลูกค้ารายย่อย 40,000 ราย และลูกค้ารายใหญ่อีกประมาณ 50 ราย
“เรามี NIM (ส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ) ราว 5-6% ที่สำคัญ ธนาคารยังไม่มี NPL (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) เนื่องจากเราทำ intelligent lending ซึ่งจะใช้ข้อมูลมาศึกษาวิเคราะห์การปล่อยสินเชื่อภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละราย ทำให้สามารถทำกำไรและบริหารจัดการหนี้ได้ดีขึ้น” นายภัทรพงศ์กล่าว
ทั้งนี้ ธนาคารได้ดำเนินธุรกิจสาขาใน สปป.ลาว ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีทุนจดทะเบียน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,200 ล้านบาท ซึ่งเงินทุนยังเพียงพอรองรับการขยายธุรกิจ แต่หากมีโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่จากจีนเชื่อมโยงมายัง สปป.ลาว ที่คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2564 ธนาคารอาจประเมินสถานการณ์ในปี 2565 ว่าจะมีธุรกิจจากจีนเข้ามาขยายธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากมีความจำเป็นก็สามารถขอเพิ่มทุนรองรับโอกาสใหม่ ๆ ใน สปป. ลาว