“สรรพากร” รุกหนักดิจิทัล ฝ่ามรสุม ศก.ดันรายได้ 2 ล้านล้าน

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร
ระหว่างวันที่ 10-11 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมสรรพากร จัดประชุมสัมมนาผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วราชอาณาจักร เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นกรมสรรพากรคุณธรรม พร้อมมอบนโยบายให้เร่งเดินหน้ายุทธศาสตร์ D2RIVE (Digital Transformation, Data Analytics, Revenue Collection, Innovation, Value และ Efficiency) โดยนำระบบดิจิทัลระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรอย่างเข้มข้นมากขึ้น ในช่วงอีก 4 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณ 2562

ชู “HAS” ยกระดับองค์กรคุณธรรม

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า งานสัมมนาครั้งนี้ ผู้บริหารกรมสรรพากรทั่วประเทศได้ประกาศเจตนารมณ์ ด้วยอัตลักษณ์ “HAS” ขับเคลื่อนองค์กรสู่การเป็นกรมสรรพากรคุณธรรม โดย H หรือ honesty (ซื่อสัตย์) คือ การปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์และรักษาประโยชน์ส่วนรวม ไม่เรียกรับผลประโยชน์ใด ๆ หรือรับจ้างจากผู้เสียภาษีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย A หรือ accountability (รับผิดชอบ) คือ ความมุ่งมั่น ทุ่มเท กำกับงานที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จ คอยให้คำปรึกษาที่ดีแก่ลูกน้อง และไม่ปัดความรับผิดชอบ และ S หรือ service mind (มอบใจบริการ) คือ การให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มาติดต่อ รับบริการจากกรม

“ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม” ขจัดโกงภาษี

ขณะเดียวกันได้ให้นโยบายผู้บริหารสรรพากรทั้งหมด ว่าจะต้องขับเคลื่อนด้านดิจิทัลอย่างเข้มข้นมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ D2RIVE หลายเรื่อง อาทิ การเชื่อมโยงข้อมูลค่าลดหย่อนภาษีกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เบี้ยประกันสุขภาพ เงินสะสม กบข. (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) และหน่วยรับบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ให้ผู้เสียภาษีสามารถตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ด้วยตัวเองผ่านระบบ my tax account

ตลอดจนพัฒนา application RD smart tax และเปิดระบบ open API ให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมพัฒนา application อำนวยความสะดวกในการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ชู “อีแสตมป์-ใบกำกับ/ใบรับออนไลน์”

โดยช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ จะเปิดตัวบริการอากรแสตมป์สำหรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Stamp) และเริ่มใช้เดือน ก.ค.เป็นต้นไป พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบการออกใบกำกับภาษี/ใบเสร็จภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice/e-Receipt) หลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เมื่อเร็ว ๆ นี้

“กรมจะนำข้อมูล big data ไปใช้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดการกับพฤติกรรมการหลบเลี่ยงภาษี tax fraud (การโกงภาษี) ทั้งหมดนี้ก็เพื่อแยกคนดีกับคนไม่ดี” นายเอกนิติกล่าว

นอกจากนี้ อยู่ระหว่างศึกษาเรื่องระบบการหักและนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding tax) ซึ่งจะลดต้นทุนด้านเอกสาร และกำลังพิจารณาลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้สำหรับผู้ที่เข้าระบบ e-Withholding tax

“D2RIVE” ดันภาษีเกินเป้า 3.8 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ ช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 61-พ.ค. 62) กรมจัดเก็บภาษีได้ทั้งสิ้น 1.22 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายถึง 38,015 ล้านบาท เป็นผลมาจากการนำระบบดิจิทัล big data และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพ ตลอดจนการปรับปรุงข้อกฎหมายต่าง ๆ ให้การจัดเก็บภาษีมีความชัดเจนขึ้น

“ได้มอบนโยบายว่า เราจะเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสรรพากรด้วยดิจิทัลอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ซึ่งการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ D2RIVE ที่ผ่านมา ทำให้เราจัดเก็บรายได้ช่วง 8 เดือนแรกเกินเป้า”

ศก.ชะลอฉุดรายได้-บัญชีเดียวช่วยดันภาษีนิติบุคคล

นายเอกนิติกล่าวว่า จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และผลกระทบจากปัจจัยภายนอกทั้งสงครามการค้า ภาวะการเมืองภายในประเทศ ทำให้การเก็บภาษีในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. มีสัญญาณชะลอตัว โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่ภาษีอื่น ๆ ยังชดเชยได้ และในเดือน พ.ค.ล่าสุด สามารถจัดเก็บภาษีได้เกินเป้า 1.5 หมื่นล้านบาท จึงยังเชื่อว่าเป้าหมายจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2562 นี้ ที่ 2 ล้านล้านบาท จะทำได้ตามเป้า

สำหรับแนวทางการจัดเก็บภาษีช่วง 4 เดือนที่เหลือ กรมพยายามใช้ระบบดิจิทัล และ data analytics เข้ามาดึงคนโกงภาษีให้เข้ามาในระบบ รวมถึงใช้ข้อมูลที่เป็นห่วงโซ่อุปทานของแต่ละธุรกิจมาพิจารณา มีการกำหนด 10 เกณฑ์ประเมินความเสี่ยงของผู้เสียภาษี (risk based audit)

ขณะที่มาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำบัญชีชุดเดียว จะสิ้นสุดในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ถือว่าเป็นการให้โอกาสนิติบุคคลได้เสียภาษีอย่างถูกต้อง โดยได้รับการยกเว้นเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ทั้งนี้ ล่าสุดมีลงทะเบียนร่วมโครงการแล้ว 4.4 หมื่นราย

ตั้งทีมศึกษานโยบายภาษีรัฐบาลใหม่

ส่วนนโยบายด้านภาษีที่อาจต้องปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10% รวมถึงชะลอเก็บภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี ตามที่พรรคแกนนำรัฐบาลได้หาเสียงไว้นั้น นายเอกนิติกล่าวว่า คงตอบเป็นหลักคิดว่า ไม่ว่าพรรคการเมืองใดเข้ามาเป็นรัฐบาล ในฐานะข้าราชการประจำต้องปฏิบัติหน้าที่ และเสนอแนะนโยบายอย่างตรงไปตรงมา และเชื่อว่าการดำเนินนโยบายภาษีคงไม่ใช่จะลดภาษีอย่างเดียว เพราะกระทบต่อรายได้และเสถียรภาพการคลัง ดังนั้นก็ต้องมีส่วนที่จะมาชดเชยด้วย

สมมุติว่า ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็ต้องดูหลักการว่าทำได้หรือไม่ รายได้จะหายไปเท่าไหร่ และหากลดภาษีลง ก็ต้องมาดูว่าค่าลดหย่อนที่หมดความจำเป็นแล้ว อาจจะต้องยกเลิกไป จากปัจจุบันค่าลดหย่อนมีมากกว่า 10 รายการ

“นโยบายต่าง ๆ ของทุกพรรคการเมืองที่อาจจะมาเป็นรัฐบาลนั้น เราพยายามศึกษาอยู่ หน้าที่เราต้องนำเสนอว่า ประโยชน์คืออะไร ต้นทุนคืออะไร ซึ่งมีทีมศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบ และเมื่อถึงเวลาตัดสินใจ ก็ต้องให้ตัวแทนประชาชนที่ถูกเลือกมาตัดสินใจ”

โยนรัฐบาลใหม่ตัดสินใจคง VAT

ส่วนกรณีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ 7% ซึ่งจะสิ้นสุดในสิ้นเดือน ก.ย. 2562 ต้องพิจารณาภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจ ปัจจุบันหากปรับขึ้น VAT อาจจะมีผลกระทบในวงกว้างค่อนข้างมาก เพราะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะ VAT เป็นภาษีที่มีสัดส่วนถึงกว่า 40% ของรายได้ภาษีสรรพากรทั้งหมด

“ถ้าลด VAT 1% รายได้ก็จะหายประมาณ 7 หมื่นล้านบาท หรือถ้าเพิ่ม 1% ก็จะเพิ่ม 7 หมื่นล้านบาท แต่จะกระทบในวงกว้าง ในการตัดสินใจจึงต้องดูสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจ และดูนโยบายรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร” อธิบดีกรมสรรพากรกล่าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!