ตลท.จ่อดึง บลจ.ต่างชาติเชื่อมฟันด์คอนเน็กต์ ก.ค.นี้

ตลท.เปิดแผนรับเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ชูเป็นตัวกลางพัฒนาหลังบ้านให้ Stakeholder ในตลาดทุนเชื่อมต่อ-จ่อดึงบลจ.ต่างชาติร่วมเทรดฟันด์คอนเน็กซ์ ฟาก “KBTG” ชูการมีข้อมูลเป็นสินทรัพย์สำคัญในเศรษฐกิจยุคดิจิทัล

นายกิตติ สุทธิอรรถศิลป์ ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้าสำนักผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็ต อินโนเวชั่น เน็ตเวิร์ค จำกัด ร่วมกับนายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยในการประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน หรือ Bloomberg ASEAN Business Summit ครั้งที่ 5 กรุงเทพฯ ในหัวข้อ “The Digital Economy”

โดยนายกิตติ กล่าวว่า ตลท.พยายามที่จะสร้างความร่วมมือในระบบหลังบ้าน (back office) ในอุตสาหกรรมตลาดทุน โดยขยายความว่าแทนที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในตลาดทุนไทยจะต้องแข่งขันกันลงทุนในเดียวกัน ตลท.จะเป็นผู้ลงทุนระบบหลังบ้านเพื่อลดความซ้ำซ้อนของการลงทุน และเพื่อให้ Stakeholder ทุกคนสามารถนำเงินไปพัฒนาระบบหน้าบ้านแทน

ยกตัวอย่างเช่น ระบบ Fundconnext ที่ตลท.พัฒนาระบบเพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างๆ ในตลาดทุนสามารถเข้ามาเชื่อมต่อเพื่อลดขั้นตอนการยื่นเอกสารของนักลงทุนที่จากเดิมต้องยื่นเอกสารซ้ำๆ กันไปยังแต่ละบลจ. แต่ด้วยระบบ Fundconnext นักลงทุนสามารถกรอกเอกสารครั้งเดียวเพื่อยื่นเปิดกองทุนกับทุก บลจ.สมาชิกได้ แม้ผลตอบรับในช่วงแรกที่ให้บริการอาจไม่ดีเท่าไหร่นัก โดยมีมูลค่าการซื้อขายเพียง 20-30 ล้านบาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันมีมูลค่าการซื้อขายปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5-6 พันล้านบาทต่อเดือน ขณะที่มีแผนจะเชื่อมต่อกับบลจ.ต่างประเทศอีก 3-4 ราย ซึ่วคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือน ก.ค.62

ด้านนายเรืองโรจน์ กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลบริษัทฯ ไม่สามารถที่เติบโตตามลำพังได้ แต่ต้องอาศัยการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมหรือ Ecosystem ของโลกดิจิทัลขึ้นมา โดยที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยได้จับมือกับ Grab เพื่อนำเสนอสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ขับ Grab ที่เดิมเป็นกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคาร ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อธนาคารได้ผ่านการดึงข้อมูลการขับขี่จากแอปพลิเคชั่นมาประกอบการปล่อยสินเชื่อ

นอกจากนี้ ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาองค์กรสู่โลกดิจิทัล คือ ทาเลนต์ หรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี โดยปัจจุบัน KBTG มีทาเลนต์รวม 1,200 คน แต่ยังมีความต้องการทาเลนต์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทาเลยต์ 1 คน สามารถพัฒนาองค์กรให้เติบโตได้สูง ดังนั้น ยิ่งนำทาเลนต์เข้ามาเสริมทัพให้กับองค์กร ยิ่งส่งผลให้องค์กรเติบโตได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม มองว่าแรงงานในไทยยังจำเป็นต้อง Re-skill หรือพัฒนาศักยภาพใหม่เพื่อให้แข่งขันในยุคเศรษฐกิจแบบดิจิทัลได้ ซึ่งธนาคารกสิกรไทยมีการสนับสนุนและมีทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการจับมือกับฟินเทคและสตาร์ทอัพเพื่อสนับสนุนการรีสกิลของพนักงานในองค์กรอีกด้วย


ในส่วนสุดท้าย นายเรืองโรจน์ เสริมว่า เศรษฐกิจยุคเก่าการมีสินทรัพย์ เช่น โรงงาน โกดัง ที่ดิน ฯลฯ อาจทำให้องค์กรเป็นผู้ชนะได้ แต่ในเศรษฐกิจดิจิทัลการมี “ข้อมูล” เป็นสินทรัพย์สำคัญที่ทำให้องค์กรกลายเป็นผู้ชนะ อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญกับรักษาข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน หากองค์กรไหนไม่สามารถดูแลความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าได้ ท้ายที่สุดแล้วลูกค้าก็จะไม่เชื่อถือองค์กร