เตรียมตั้งรับการชะลอตัวเศรษฐกิจโลกในปีหน้า

คอลัมน์ ลงทุนทั่วโลก

โดย สุรศักดิ์ ธรรมโม บลจ.วรรณ

ผมใช้เนื้อหาในคอลัมน์นี้เมื่อ 3 ปีก่อน ตั้งแต่สมัยทำงานเป็นนักกลยุทธ์ของธนาคารต่างประเทศแห่งหนึ่งบอกกล่าวกับผู้อ่านถึงภาวะตลาดและเศรษฐกิจโลก ที่อยู่ในช่วงปลายวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งมีความผันผวนสูง

ขณะนี้ผมขอเรียนผู้อ่านว่าสัญญาณเศรษฐกิจและตลาดก่อตัวและมีทิศทางชัดเจนมากขึ้นกว่าช่วงก่อน ๆ กล่าวคือ มีความเป็นไปได้สูงมากที่ไม่เกิน 24 เดือนจากนี้ไป เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยและจะดึงเศรษฐกิจโลกให้ซบเซาลงมาก โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลทำให้ภาวะเศรษฐกิจแย่ลงมากขณะนี้มาจากการที่สหรัฐกลับมาจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

การจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน เป็นจุดเปลี่ยนของภาคการผลิตทั่วโลกที่ใช้จีนเป็นฐานการผลิต ถึงแม้ว่าจากนี้ไปสหรัฐและจีนจะทำความตกลงกันได้บางส่วนหรือทั้งหมด แต่ภาคการผลิตทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับฐานการผลิต ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปเลย (ซึ่งต้องใช้เวลาและเงินลงทุนสูง) หรือย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปประเทศใกล้เคียงจีนเพื่อเป็นฐานการผลิตสำรองหรือเป็นส่วนเสริมหรือประกอบเป็นสินค้าขั้นสุดท้ายและส่งออก จากประเทศนั้นแทนที่จะเป็นจีนเพื่อเลี่ยงการเก็บภาษีของสหรัฐ

ยุทธศาสตร์นี้เรียกว่า China plus one โดย One นั้นที่เห็นชัดเจนในขณะนี้คือประเทศเวียดนามซึ่งน่าจะเป็นประเทศปลายทางที่ผู้ผลิตต่างประเทศที่มีฐานการผลิตในจีนและผู้ผลิตจีนที่มีตลาดส่งออกไปยังสหรัฐ ย้ายฐานการผลิตบางส่วนหรือทั้งหมดมาเวียดนาม

ในเชิงพื้นฐาน กระบวนการย้ายฐานการผลิตนี้ ต้องใช้เงินลงทุนสูงมากและต้องใช้เวลา บริษัทจำนวนมากที่ต้องย้ายฐานการผลิตจะต้องใช้เงินลงทุนสูง (capital expenditure) เพื่อดำเนินการนี้ และจะมีผลให้กำไรสุทธิบริษัทดังกล่าวมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ในเชิงจิตวิทยา สงครามการค้าทำให้บรรยากาศการลงทุนเกิดความไม่แน่นอน เพราะนักลงทุนกังวลการตอบโต้กลับของจีนและนำพาการตอบโต้กลับเช่นกันของสหรัฐ

ความไม่แน่นอนนี้สะท้อนออกมาที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั้งในประเทศพัฒนาแล้ว (DM) และประเทศตลาดเกิดใหม่ (EM) ปรับลงแรงฉับพลันบ่งชี้ว่าภาคการผลิตทั่วโลกชะลอการผลิต ชะลอการสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิตในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงสูงมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ในอนาคตเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลงแรง

ความเสี่ยงดังกล่าวนี้เป็นที่ตระหนักของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) และธนาคารกลางประเทศสำคัญของโลก โดย Fed ส่งสัญญาณการ “ลดดอกเบี้ย”และการทำ QE ในกรณีที่แนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัวลง หรือแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง ผลคืออัตราผลตอบแทน (yield) พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดิ่งลงทันทีมาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.1% ทำให้ inverted yield curve ครั้งนี้เป็นสัญญาณจริงในการชี้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (technical recession) ภายใน 18-24 เดือนจากนี้ไป

ในเชิงการลงทุน ตลาดการเงินจะปรับตัวก่อนเศรษฐกิจจริงล่วงหน้าประมาณ 6-12 เดือน ถ้าเรามองว่าเศรษฐกิจสหรัฐและโลกจะแย่ลงเร็วมากคือประมาณ 18 เดือนจากนี้ไป นั่นหมายความว่าเรามีเวลาปรับพอร์ตการลงทุนให้รับมือภาวะดังกล่าวไม่เกิน 6 เดือนจากปัจจุบัน

พอร์ตการลงทุนที่รับมือกับแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงขณะที่ปัจจัยสภาพคล่องในระบบการเงินโลกยังมีอยู่อย่างมาก สำหรับผู้รับความเสี่ยงได้ระดับกลาง (moderate risk) ควรมีหุ้น ตราสารหนี้ และ REITs อยู่ในพอร์ตการลงทุน โดยหุ้นที่มีในพอร์ตควรเป็นหุ้นพื้นฐานดีมีปันผลสม่ำเสมอ ขณะที่ตราสารหนี้ควรเป็นตราสารอันดับความน่าเชื่อถือระดับลงทุนได้ขึ้นไป (investment grade) และกองทุน REITs ควรเน้นในประเทศเป็นหลักเพื่อลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน