กูรูสำนักวิจัยจับสัญญาณ “กนง.” วัดไข้ ศก. แรงกดดันนโยบายการเงิน

นริศ สถาผลเดชา - เชาว์ เก่งชน

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/2562 หรือล่าสุดเมื่อ 26 มิ.ย. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี

โดย “ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส” เลขานุการ กนง. แถลงว่า กนง.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในระดับปัจจุบันมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และสอดคล้องกับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ กนง.ได้ปรับลดประมาณการอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยลงด้วย โดยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 3.3% ต่อปี จากเดิมคาด 3.8% โดยคาดการณ์มูลค่าส่งออกจะไม่เติบโต หรือเป็น 0% จากเดิมคาดว่าโตได้ 3% การลงทุนภาครัฐคาดจะโตแค่ 3.8% จากเดิม 6.1% ส่วนจีดีพีปี 2563 ก็คาดว่าจะโต 3.7% จากเดิมคาดไว้ 3.9% ต่อปี โดย กนง.มีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนและการไหลเข้าของเงินทุนอย่างใกล้ชิด และเตรียมออกมาตรการมาดูแลในเร็ว ๆ นี้

“นริศ สถาผลเดชา” ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) วิเคราะห์ว่า กนง.มีการกล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยว่า ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (หักเงินเฟ้อ) อยู่ที่ 0.7% เท่านั้น ใกล้เคียงหลายประเทศที่เครดิตประเทศดีกว่าไทยมาก อาทิ ไต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นต้น รวมถึงประเทศอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่เครดิตประเทศไม่ได้ต่างจากไทยมาก แต่อัตราดอกเบี้ยอยู่สูงกว่าไทย ซึ่งจริง ๆ แล้วระดับดอกเบี้ยควรสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านเครดิต ส่วนการปรับลดจีดีพี ไม่ได้มีอะไรเซอร์ไพรส์

“กนง.เน้นอีกเรื่องหนึ่ง คือ เสถียรภาพด้านการเงินยังให้ความสำคัญอยู่ นี่เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ กนง.ยังไม่อยากลดดอกเบี้ย เพราะหนี้ครัวเรือนกำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หากไปลดดอกเบี้ยตอนนี้จะมีผล 2 อย่าง คือ 1.กระตุ้นการก่อหนี้ และ 2.จะเป็นการทำนโยบายที่สวนทางกันเองของ ธปท. จากที่ผ่านมามีนโยบายเรื่อง LTV (กำกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์) หรือ DSR (คุมภาระหนี้ต่อรายได้) ที่กำลังพิจารณาอยู่” นายนริศกล่าว

อีกประเด็นที่สำคัญมาก คือ “ค่าเงินบาทที่แข็งค่า” ทะลุรอบ 6 ปี ซึ่ง กนง.ยอมรับว่า แข็งค่ามากกว่าภูมิภาค และมีการกล่าวถึงมาตรการที่จะออกมาดูแล ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทรอบนี้ เป็นเพราะ “เงินร้อน” เป็นหลัก ก็ต้องติดตามว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกมาตรการเข้มข้นระดับใด เพราะแต่ละมาตรการก็มีผลกระทบแตกต่างกันไป

“ในช่วงครึ่งปีหลัง ผมคิดว่าต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจว่า จะหักหัวจากที่คาดว่าจะโต 3.3% หรือไม่ เพราะการส่งออกที่มีการคาดไว้ 0% ในช่วง 5 เดือนแรก ส่งออกหดตัว -2.7% ไปแล้ว ซึ่งหากจะให้โตได้ 3% ในช่วงอีก 6 เดือนหลัง จะต้องโตเกิน 6% ถือว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก โดยทาง กนง.คงมองเรื่อง macroprudential (มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน) มากกว่า คือ LTV ทำไปแล้ว ที่จะทำต่อคือการคุม DSR และการจัดระเบียบสินเชื่อรถยนต์เป็นหลัก โดยในส่วน LTV นั้น ตอนนี้ผมคิดว่า ธปท.พอใจที่จัดการกับตลาดที่เป็นปัญหาได้แล้ว และไม่น่าจะมีการปรับปรุงมาตรการ” นายนริศกล่าว

ขณะที่ “เชาว์ เก่งชน” กรรมการผู้จัดการศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง.แถลงว่าจะติดตามสถานการณ์ด้านต่าง ๆ ต่อไป เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจว่ามีความเสี่ยงมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร ซึ่งตนคิดว่า กนง.คงพิจารณาเป็นขั้น ๆ ไป เพราะมีหลายเรื่อง ทั้งด้านต่างประเทศที่ต้องติดตามข้อพิพาททางด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และด้านในประเทศที่คาดหวังรัฐบาลชุดใหม่ที่จะมาขับเคลื่อนนโยบายด้านการคลัง การใช้จ่ายงบประมาณ

“ในประเทศถ้ามีการกระตุ้นจากภาคการคลัง ก็น่าจะพอช่วยได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนด้านต่างประเทศถ้าข้อพิพาทสหรัฐกับจีนมีแนวโน้มดีขึ้น ก็น่าจะทำให้การส่งออกเป็นบวกดีขึ้น แบบนี้ก็จะพอสบายใจได้ และถ้าหากครึ่งปีหลังแนวโน้มต่าง ๆ ดูดีขึ้น ผมว่าความจำเป็นที่ กนง.จะลดดอกเบี้ยก็คงไม่มี แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือ ส่งออกไม่ได้เข้าเป้าที่ 0% มาตรการทางการคลังดำเนินการไม่ได้ หรือการเมืองในประเทศเป็นอุปสรรค ทุกอย่างดูไม่แน่นอน ผมว่า กนง.ก็คงพิจารณาไปตามจังหวะและความเหมาะสมของสถานการณ์ ถ้าสถานการณ์แย่มาก ๆ มาถึง ซึ่ง กนง.คงค่อย ๆ แยกปัญหาออกมา โดยมีเครื่องมือหลายอย่างที่ทำได้ ทั้งประคองเศรษฐกิจและดูแลหนี้ครัวเรือน แต่จะทำอะไร เมื่อไหร่ ดูจากถ้อยแถลงแล้ว กนง.ยังติดตามสถานการณ์อยู่” นายเชาว์กล่าว

ฟากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า เงื่อนไขที่จะทำให้ กนง.อาจพิจารณาลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในระยะข้างหน้า ได้แก่ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ต่ำกว่า 3%, เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว, หรือเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง ซึ่งแม้อีไอซีจะมีมุมมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่ที่ 1.75% ทั้งปี อย่างไรก็ตาม ด้วยความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างสูง การปรับเปลี่ยนนโยบายอาจเกิดขึ้นได้


ดูแล้วในช่วงครึ่งปีหลังยังเต็มไปด้วยความผันผวนอย่างมาก ทั้งในแง่ภาวะเศรษฐกิจและการออกมาตรการด้านต่าง ๆ โดยภาครัฐ ซึ่งแต่ละภาคส่วนคงต้องเตรียมพร้อมรับมือกันไว้แต่เนิ่น ๆ