‘ลิบรา’ ก้าวที่กล้าของเฟซบุ๊ก ก.ล.ต.ผนึกแบงก์ชาติตั้งรับโลกใหม่

หลัง “เฟซบุ๊ก” ประกาศร่วมกับ 27 พันธมิตรพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลใหม่ ที่เรียกว่า “ลิบรา” (Libra) โดยต้องการใช้เป็นสกุลเงินดิจิทัลสากลที่นำเทคโนโลยี “บล็อกเชน” มาใช้ในการทำธุรกรรม ที่จะช่วยขจัดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายการโอนเงินข้ามประเทศ ที่ปัจจุบันต้องโอนผ่านคนกลางซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ ลิบรายังสามารถลดเวลาการโอนเงินข้ามประเทศจากหน่วยวันให้เหลือเพียงวินาที

งานนี้ทั้งหน่วยงานกำกับดูแลและธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลกนั่งไม่ติด รวมถึงไทย ซึ่งล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า ได้ตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่อศึกษากรณีลิบราโดยเฉพาะ อีกทั้งมีแผนหารือกับเฟซบุ๊กเร็ว ๆ นี้

และล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดเสวนาหัวข้อ “Libra ก้าวที่กล้าของเฟซบุ๊ก : ก้าวสู่โลกใหม่ไร้พรมแดน” เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2562 ที่ผ่านมา ที่ระดมสมองจากภาคส่วนต่าง ๆ

ทำไมต้องรู้จัก “ลิบรา”

“ภูมิ ภูมิรัตน” ที่ปรึกษา ก.ล.ต.อธิบายว่า “ลิบรา” คือ สกุลเงินใหม่ที่เฟซบุ๊กและพาร์ตเนอร์รวม 28 บริษัท จับมือกันประกาศว่าจะสร้างร่วมกัน ด้วยการตั้ง “สมาคมลิบรา” จดทะเบียนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยเหรียญจะมี 2 รูปแบบ คือ 1.Libra Coin ที่แตกต่างจากคริปโทเคอเรนซีอื่นตรงที่ลิบรามีสกุลเงินหลักของโลก 6 สกุลเงิน เป็นเครื่องการันตีว่าเหรียญจะมีมูลค่าค่อนข้างคงที่ (Stable Coin) 2.Investment Token ที่ออกมาเพื่อรองรับการเข้ามาลงทุนของสมาชิกใหม่ นอกเหนือจากสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง 28 ราย โดยมีข้อกำหนดว่าสมาชิกที่จะเข้าร่วม ต้องเป็น 1.องค์กรที่มีมาร์เก็ตแคปประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 2.เข้าถึงผู้บริโภค 20 ล้านคนทั่วโลก และ 3.ติดอันดับ 500 บริษัทชั้นนำฟอร์จูน หรือติดอันดับ 100 บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมของตนเอง โดยจะต้องมีคุณสมบัติ 2 ใน 3 ข้อดังกล่าว

“การที่ลิบรามีสกุลเงินหลักของโลกถึง 6 สกุลเงินมาเป็นสินทรัพย์สำรอง เป็นหลักการันตีว่า ลิบราจะมีมูลค่าค่อนข้างคงที่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความผันผวนของสกุลเงินนั้น ๆ ด้วย นอกจากนี้ ลิบรายังมีแผนขยายสินทรัพย์สำรองให้ครอบคลุมสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ที่มีสภาพคล่อง ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีความเข้มแข็งอีกด้วย” ภูมิกล่าว

“สกุลเงินดิจิทัล” เขย่าโลก

“ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บอกว่า เฟซบุ๊กเป็นเครือข่ายสังคมบนโลกออนไลน์ที่มีประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคนใช้บริการ ดังนั้น เมื่อเฟซบุ๊กประกาศว่าจะทำสกุลเงินดิจิทัลเพื่อนำไปใช้สร้างประสิทธิภาพในธุรกรรมทางการเงิน ทั้งเรื่องการชำระเงิน หรือการโอนเงินข้ามประเทศโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งหากมีการนำลิบรามาใช้บนเฟซบุ๊กได้จริง ๆ ก็จะส่งผลดีและผลเสียต่อหลาย ๆ ฝ่ายทั่วโลก

ผลดี คือ ผู้ใช้บริการชำระเงินสามารถโอนเงินข้ามประเทศโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ถึง 6% เมื่อเทียบกับปัจจุบัน โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อยที่โอนเงินเองข้ามประเทศประมาณ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อระบบการชำระเงินและโอนเงินของลิบราเข้ามา ก็จะถูกนำมาใช้แทนระบบบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรืออีวอลเลตทั้งหลาย ซึ่งบริษัทผู้ให้บริการเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับเฟซบุ๊กในการสร้างลิบราให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น วีซ่า, มาสเตอร์การ์ด, เพย์พาล และอื่น ๆ ทั้งนี้ มองด้วยเหตุผลง่าย ๆ ว่า หากบริษัทเหล่านี้ไม่เข้ามาร่วม ก็อาจจะเสียผลประโยชน์มากกว่าการเข้าร่วม บริษัทเหล่านี้จึงอาจจะขอเข้ามาดูก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้น

แบงก์ปรับตัวต่อยอด “ลิบรา”

“หากลิบราเข้ามาแล้วบอกว่า ต่อไปนี้ไม่มีค่าธรรมเนียม แน่นอนว่าธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องได้รับผลกระทบ แต่เราไม่ได้มองว่าจะเข้ามาทำให้แบงก์เสียหาย แต่มองว่าเรามีโอกาสที่จะสามารถเรียนรู้ อยู่ร่วมกัน และเดินไปด้วยกันอย่างไร”

หนึ่งในนั้น คือ การนำประโยชน์ของลิบรามาใช้ เพื่อแก้ปัญหากลุ่มคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบ (unbanked) ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ เพราะปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ก็คงไม่มีการเปิดสาขาเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งก็อาจเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงแบงก์มากขึ้น ดังนั้นจะดีกว่าหากหาวิธีใช้ประโยชน์จากลิบราให้ได้มากที่สุด

“ฐากร” ระบุว่า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว เงินจะยังอยู่กับธนาคาร เช่น กรณีของประเทศจีนที่มีเงินฝากรวม 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีเงินฝากเพียง 2% เท่านั้นที่ผู้บริโภคใส่ไว้ในอาลีเพย์ (Alipay) สะท้อนว่า ผู้บริโภคมีความกังวลต่อความเสี่ยงในการทิ้งเงินไว้ในระบบออนไลน์ ดังนั้น สถาบันการเงินยังได้รับความน่าเชื่อถือจากลูกค้าอยู่ หากสิ่งนี้หายไปต่างหากที่จะส่งผลให้ความจำเป็นของธนาคารในอนาคตหายไปได้

แกะรอยกฎหมายไทยคุม “ลิบรา”

ขณะที่ในฟากของภาครัฐที่เป็นฝ่ายกำกับดูแล “สุมาพร มานะสันต์” นิติกรชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงลิบราจะมีคำถามว่า หน่วยงานกำกับดูแลจะต้องกำกับใคร และการจะนำสกุลเงินดิจิทัล “ลิบรา” มาใช้ซื้อสินค้าและบริการในประเทศไทยนั้น มีคำถามว่า “ลิบราเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายหรือไม่” และผู้ประกอบธุรกิจจะเป็นใคร ซึ่งจะต้องมาเทียบดูกับกฎหมายไทยว่าจะกำกับดูแลได้อย่างไร ซึ่งหากเทียบเคียงกับ พ.ร.บ.เงินตรา “ลิบรา” อาจเข้าข่ายแค่กฎหมายบางข้อเท่านั้น จึงยากที่จะตีความว่าจะใช้เป็นเงินตราได้

และในส่วนของการประกอบธุรกิจที่พอจะเทียบเคียง ได้แก่ 1.พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ก็ยังถูกปิดตายในข้อกฎหมายดังกล่าว 2.พ.ร.บ.ระบบชําระเงิน ก็ยังมีข้อจำกัดตรงคำว่า “เงิน” ที่จะต้องเป็นเงินตราที่แลกเปลี่ยนได้ตามกฎหมาย และสุดท้าย พ.ร.บ.อีเพย์เมนต์ ซึ่งดูใกล้เคียงมากที่สุด

แต่หลักการทำงานของลิบรามีความซับซ้อนกว่า เนื่องจากมีการแปลงสกุลเงินถึง 2 ครั้ง เช่น เมื่อฝากเงิน ค่าเงินนั้นจะถูกแปลงไปเป็นค่าเงินดิจิทัล และเมื่อชำระเงิน ค่าเงินดิจิทัลจะถูกแปลงเป็นสกุลเงินที่ชำระอีกครั้ง เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเทียบกฎหมายก็ยังเทียบได้ไม่สนิท

ก.ล.ต.ผนึกแบงก์ชาติตั้งรับ

“พราวพร เสนาณรงค์” ผู้ช่วยเลขาธิการ สายนโยบายตลาดทุน ก.ล.ต. กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานกำกับ ก.ล.ต.จะมีการหารือกับหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประสานไปยัง ธปท. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบชำระเงิน ซึ่งจะต้องมีการหารือระหว่างผู้กำกับดูแลว่า หน่วยงานใดมีอำนาจการกำกับดูแลส่วนไหน เพื่อที่จะแบ่งกันออกเกณฑ์กำกับดูแลส่วนในนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม ก่อนการออกกฎเกณฑ์ใด ๆ ก็จะต้องมีการหารือร่วมกัน รวมถึงจะเปิดเฮียริ่งให้กับผู้เกี่ยวข้องก่อนทุกครั้ง

“ส่วนความกังวลเรื่องการเก็งกำไรในค่าเงินลิบรา มองว่ามีโอกาสเป็นไปได้น้อย เนื่องจากลิบรามีการประกาศออกมาว่าจะผูกกับสกุลเงินหลักใดบ้าง เพื่อลดความผันผวนและทำให้เกิดความเสถียรมากที่สุด เพื่อให้นำมาใช้ทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกัน มองว่าลิบราไม่ได้ออกมาเพื่อเป็นเครื่องมือการลงทุน” พราวพรกล่าว