“ทรงพล” ผอ.สคฝ.คนใหม่ นับถอยหลังคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาท

สัมภาษณ์พิเศษ

หลังคร่ำหวอดในแวดวงรัฐวิสาหกิจมาหลายแห่ง ล่าสุด “ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์” ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) คนที่ 4 มีผลตั้งแต่ 7 พ.ค. 62 โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ในโอกาสที่วงเงินคุ้มครองเงินฝากจะลดเหลือ 5 ล้านบาท ในอีกไม่ถึง 1 เดือนนี้

ปีหน้าลดคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบ.

โดย “ทรงพล” ฉายภาพว่า วงเงินคุ้มครองเงินฝาก จะลดเหลือ 5 ล้านบาท ใน 11 ส.ค. 62 และเหลือ 1 ล้านบาท ตั้งแต่ 11 ส.ค. 63 เป็นต้นไป ซึ่งวงเงินเหล่านี้ สคฝ.ได้ทบทวนเป็นระยะทุกปี ถือว่ายัง “เหมาะสม” เพราะปัจจุบันที่คุ้มครอง 10 ล้านบาท มีบัญชีที่ได้รับคุ้มครองอยู่ 76 ล้านบัญชี หรือกว่า 99.8% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด มูลค่ารวม 13.15 ล้านล้านบาท (ณ 31 มี.ค. 62)

โดยหากลดเหลือ 5 ล้านบาท บัญชีที่ได้รับคุ้มครองจะอยู่ที่ 99.2% และถ้าลดเหลือ 1 ล้านบาท บัญชีที่ได้รับคุ้มครองจะอยู่ที่กว่า 98% ถือว่าอยู่ในเป้าหมาย เพราะทั่วโลกก็จะคุ้มครองในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 90% ขึ้นไป

“ปัจจุบันตัวเลขที่กำหนดไว้ยังเหมาะสม เพราะคุ้มครองผู้ฝากเงินไม่น้อยกว่า 90% ขณะที่ผู้ฝากเงินมีเงินในบัญชีเฉลี่ยกว่า 30,000 บาทต่อบัญชี แต่ถ้าอนาคตมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มูลค่า 1 ล้านบาท อาจจะดูน้อยไป เราก็มีการทบทวนทุกปีอยู่แล้ว”

แบงก์แข็งแกร่ง-บีไอเอส 18%

“ทรงพล” กล่าวว่า อีกด้าน ปัจจุบันข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็พบว่า ระบบสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแรง ทั้งเงินกองทุนที่อยู่ระดับสูง ความสามารถในการทำกำไรที่ดี และหนี้เสียที่ยังอยู่ในระดับปกติ

“ปัจจุบันระบบแบงก์มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) เฉลี่ย 18.37% และยังทำกำไรในระดับที่ดีอยู่ สภาพคล่องก็ยังคงเหลืออยู่มาก นี่เป็นตัวเลข ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2562”

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการทบทวนเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากที่ปัจจุบันอยู่ที่ 0.01% “ทรงพล” บอกว่า ขณะนี้ยังไม่อยู่ในช่วงของการทบทวน เพราะปัจจุบันยังมีหนี้สินของ FIDF (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน) อยู่อีกพอสมควรที่จะต้องชำระให้เสร็จในอีกกว่า 10 ปีข้างหน้า

“ทรงพล” บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาในส่วนของสถาบันการเงิน 35 แห่งที่ สคฝ.ดูแล ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารต่างประเทศ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.) และ บริษัทเงินทุน (บง.) ยังไม่เห็นการเคลื่อนย้ายเงินฝากอย่างมีนัยสำคัญ โดยฐานเงินฝากยังเติบโตอยู่ที่ 3-5% ต่อปี

“35 แห่งที่เราดู ยังเห็นว่าเป็นการดำเนินการตามปกติ และมีแนวโน้มการเติบโตของเงินฝาก โดยหากเทียบกับช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา จากสิ้นเดือน ธ.ค. 2560 เงินฝากอยู่ที่ 12.5 ล้านล้านบาท ปีนี้ขึ้นมาเป็น 13.15 ล้านล้านบาท”

แบงก์ล้มคืนเงินได้ใน 30 วัน

สำหรับสถานะเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากนั้น “ทรงพล” บอกว่า ปัจจุบันมีเงินอยู่ที่ประมาณ 140,000 ล้านบาท โดยเงินเข้าปีละกว่า 2,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งเอาไว้เยียวยาในกรณีที่สถาบันการเงินปิด แล้วจำเป็นต้องชำระเงินคืนให้ผู้ฝากเงิน อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองเงินฝากจะเกิดขึ้นในกรณีเดียว คือ แบงก์ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งก่อนจะไปถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตจะมีกระบวนการในการบริหารจัดการอีกมากมาย โดย ธปท.จะเข้าไปดูแลเพิ่มสภาพคล่อง หรือเข้าควบคุมการบริหารจัดการแบงก์นั้น ๆ ก่อน ซึ่งสุดท้ายเม็ดเงินที่จะคุ้มครองในขั้นสุดท้ายอาจจะมีไม่มาก

ส่วนกรณีเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากไม่เพียงพอ ก็จะมีวิธีการออกกฎหมายกู้เงินได้ แต่ด้วยปัจจุบันสถานะของแบงก์ที่แข็งแรง และเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝากปัจจุบัน ก็มีไม่น้อย โดยสัดส่วนอยู่ที่ 6% ของเงินฝากทั้งหมด ซึ่งหลาย ๆ ประเทศมีต่ำกว่านี้มาก คือไม่ถึง 3%

“ทรงพล” กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา สคฝ.ได้ปรับแก้ไขกฎหมาย ทำให้หากเกิดกรณีแบงก์ถูกปิด ผู้ฝากเงินจะได้รับเงินที่ได้รับความคุ้มครองคืนภายใน 30 วัน เนื่องจากระบบพร้อมเพย์ที่รัฐบาลจัดทำขึ้น ทำให้การจ่ายเงินคืนผู้ฝากเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากมีการผูกเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้กับบัญชีธนาคาร ทำให้ สคฝ.สามารถค้นหาข้อมูล และโอนเงินผ่านบัญชีผู้ฝากได้ทันที

เล็งขยายคุ้มครองอีวอลเลต

“ทรงพล” บอกว่า ปัจจุบันมีธุรกรรมบางส่วนที่ไม่อยู่ในขอบข่ายได้รับการคุ้มครองเงินฝาก อย่างเช่น เงินสกุลต่างประเทศ เงินของผู้ฝากที่มีถิ่นฐานอยู่ต่างประเทศ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอลเลต) เป็นต้น โดยเฉพาะอีวอลเลตนั้น ทาง สคฝ.จะศึกษาภายใน 1 ปีนี้ ว่าจำเป็นต้องขยายความคุ้มครองหรือไม่

“ตอนนี้เราคุ้มครองเฉพาะบัญชีเงินฝาก ที่เป็นเงินบาท คนฝากเป็นคนที่มีถิ่นฐานในเมืองไทย แต่เรากำลังศึกษาอยู่ว่าควรคุ้มครองอะไรเพิ่มเติม อย่างเช่น วอลเลต เป็นต้น โดยธุรกรรมทางการเงินที่มีสภาพคล้ายเงินฝาก น่าจะเป็นตัวที่เราพยายามที่จะทำความเข้าใจ พยายามศึกษาให้กว้างที่สุด และจะนำมาใช้อย่างไรก็จะนำมาพิจารณาอีกที ส่วนพวกสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างลิบรา รวมถึงสหกรณ์ เราจะไม่ศึกษาส่วนนี้ โดยเราจะศึกษาเพิ่มเติมเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวกับการให้ใบอนุญาตของ ธปท. และอะไรที่มีความใกล้เคียงในเงินฝาก”

ผู้อำนวยการ สคฝ.คนใหม่ ทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้ สคฝ.จะร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงขอบข่ายความคุ้มครองเงินฝากที่มีอยู่ พร้อมวิธีการจัดการเงิน และความรู้เกี่ยวกับภัยทางการเงินรูปแบบต่าง ๆ ที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน