บลจ.ไทยพาณิชย์ มองบวกหุ้นไทยครึ่งปีหลัง รับแรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้า-นโยบายกระตุ้นภาครัฐ

บลจ.ไทยพาณิชย์ มองบวกหุ้นไทยครึ่งปีหลัง รับแรงหนุนจากเงินทุนไหลเข้าและนโยบายกระตุ้นภาครัฐ ชู 2 กอง SCBSET-SCBSE การันตีด้วยรางวัลกองทุนยอดเยี่ยม

นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยถึงแนวทางการจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้ว่า ยังคงแนะนำนักลงทุนให้กระจายการลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพสูง ทนทานต่อความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 1) หุ้น Quality Stock ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 – 3 ปีข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ ทั้งหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐ หรือหุ้นที่ได้ประโยชน์จากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มพาณิชย์ และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น 2) หุ้น Growth Stock ที่มีแนวโน้มเติบโตในช่วง 3 – 6 เดือนข้างหน้า และการประเมินมูลค่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม เช่น กลุ่มน้ำมัน กลุ่มการเงิน เป็นต้น 3) หุ้น High Dividend Yield เป็นหุ้นที่มีแนวโน้มปันผลสูง ซึ่งกลุ่มดังกล่าวจะมีความผันผวนต่ำ ในสภาวะเศรษฐกิจที่มีความผันผวนสูง และ 4) หุ้นที่มีความยั่งยืน หรือหุ้นที่อยู่ในดัชนี THSI (Thailand Sustainability Investment) ซึ่งเป็นหุ้นที่มีบรรษัทภิบาลที่ดี มีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม มีการประเมินความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ มีกองทุนหุ้นไทยที่แนะนำ 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์เซ็ท อินเด็กซ์ ฟันด์ (SCBSET) เป็นกองทุนประเภท Passive ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นกองทุนเพียงกองเดียวในประเทศไทย ที่มีนโยบายลงทุนให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับ SET Index มากที่สุด สำหรับการลงทุนในกองทุนนี้จึงเปรียบเสมือนได้ลงทุนในหุ้นบริษัทมหาชนทุกบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้กองทุนมีความเสี่ยงที่เกิดจากหุ้นรายตัวต่ำกว่า ในขณะเดียวกันผลตอบแทนของกองทุนก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปพร้อมกับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งจากสถิติในระยะยาวตลอด 20 ปีที่ผ่านมาผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 10.1% ต่อปี นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมากองทุนยังมีขนาดเติบโตขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 8,700 ล้านบาท มาเป็นกว่า 15,000 ล้านบาทในปีนี้ สะท้อนให้เห็นว่ากองทุนได้รับความนิยมสูงเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงช่องทางการลงทุนได้ง่ายขึ้นและประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนมากที่สุด โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีผลการดำเนินงานอยู่ที่ 12.50% (ข้อมูล ณ 22 กรกฎาคม 2562) นอกจากนี้กองทุนดังกล่าวยังได้รับรางวัลกองทุนยอดเยี่ยมแห่งปี 2019 ปี 2015 และปี 2013 ประเภทประเภทกองทุนตราสารทุนทั่วไป จาก Money & Banking Awards ซึ่งจัดโดยวารสารการเงินธนาคารอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์ (SCBSE) จัดเป็นกองทุน 5 ดาว ประเภท Thailand Fund Equity Large-Cap ของมอร์นิ่งสตาร์ และมีผลดำเนินงานที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 มีการจ่ายปันผลแล้ว 16 ครั้ง รวม 7.16 บาทต่อหน่วย มีกลยุทธ์การลงทุนด้วยวิธี Active Approach โดยการคัดเลือกลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด และสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนในขณะนั้น ซึ่งจะใส่น้ำหนักการลงทุนมากน้อยตามความน่าสนใจของหุ้นนั้น และกองทุนจะลงทุนในหุ้นไม่เกิน 30 ตัว จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงในระดับสูงได้ ทั้งนี้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีผลการดำเนินงานอยู่ที่ 11.43% (ข้อมูล ณ 22 กรกฎาคม 2562) นอกจากนี้กองทุนดังกล่าวยังได้รับรางวัลกองทุนยอดเยี่ยมแห่งปี 2017 ประเภทกองทุนตราสารทุนทั่วไป จาก Money & Banking Awards ด้วยเช่นกัน

บริษัทฯ ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยซึ่งทิศทางในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นจากแรงหนุนจากปัจจัยภายนอกจากการที่ธนาคารกลางมีมุมมองของการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น (Dovish) จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยคาดธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในประชุมวันที่ 30 – 31 ก.ค. นี้ นอกจากนี้ตลาดยังมองว่าปีนี้อาจลดดอกเบี้ย 1 – 2 ครั้ง ซึ่งส่งผลต่อเงินทุนที่จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้น เนื่องจากการประเมินมูลค่ามีความน่าสนใจจาก Earnings Yield gap (ผลตอบแทน ณ ปัจจุบันของตลาดหุ้น ลบด้วยผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่จะอายุ 10 ปี) ปรับตัวกว้างมากขึ้น ขณะที่แนวโน้มราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในระดับสูงได้จากการที่สหรัฐฯ ได้ทำการแทรกแซงการรับซื้อน้ำมันจากประเทศอิหร่านและการลดกำลังการผลิตของ OPEC ในครึ่งปีหลังกดดันอุปทานในภาพรวม


ส่วนภายในประเทศแนวโน้มการเมืองไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังจากการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่อย่างเป็นทางการ คาดว่าจะเห็นนโยบายต่างๆ ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยฟื้นภาพเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอในช่วงครึ่งปีแรก โดยคาดนโยบายการกระตุ้นการบริโภคผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังคงเป็นแผนหลักในการช่วยพยุงตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) รวมทั้งการพยายามฟื้นราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์ม อ้อย มันสำปะหลัง ให้สูงขึ้นซึ่งถือเป็นผลบวกต่อรายได้เกษตรกร นอกจากนี้ยังคาดโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ค้างอยู่จะทยอยออกมาต่อเนื่อง ตลอดจนการสานต่อโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย