ปัจจัยลบทึ้งเศรษฐกิจไทย Q2 ทรุด-ธปท.จ่อลด GDP อีกรอบ

หลังผ่านพ้นไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยปี 2562 นี้ ดูจะยังอาการน่าเป็นห่วง จากไตรมาสแรกที่เศรษฐกิจโตแค่ 2.8% ต่อปี ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 “ดอน นาครทรรพ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่า มีโอกาสจะเป็นไตรมาสที่ “แย่ที่สุด” ของปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราขยายตัวด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งปีมีโอกาสโตต่ำกว่าที่ ธปท.เคยประเมินไว้ที่ 3.3% เนื่องจากการส่งออกครึ่งปีแรกหดตัวไปถึง -4.1% หลังจากไตรมาส 2 หดตัว -4.2% ทำให้ส่งออกทั้งปีมีแนวโน้มติดลบ

“ส่งออกที่ติดลบ เรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนไม่ใช่ผลกระทบทั้งหมด เพราะหลัก ๆ แล้วมาจากการชะลอตัวของการค้าโลก” นายดอนกล่าว

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในเดือน มิ.ย.ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลงในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทนที่เป็นบวกมาตลอด กลับ “ติดลบเป็นครั้งแรก” นับตั้งแต่ปี 2559 จากยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ติดลบ ส่วนปัจจัยสนับสนุนด้านกำลังซื้อก็ “อ่อนแอลง” ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนก็หดตัว และการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวทั้งรายจ่ายประจําและรายจ่ายลงทุน ด้านการส่งออกสินค้า การนําเข้าสินค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่กลับมาขยายตัวได้เล็กน้อยจากนักท่องเที่ยวอินเดีย ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนยังหดตัวต่อเนื่อง

“ครึ่งปีแรกมูลค่าการส่งออกติดลบ -4.1% เป็นผลจากอุปสงค์ในตลาดโลก และวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชะลอลงต่อเนื่อง ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว รวมถึงผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่หดตัวลง ขณะที่มูลค่าการนำเข้าในช่วงครึ่งปีแรกก็ติดลบเช่นกันที่ -3.1% โดยในเดือน มิ.ย. การนำเข้าลดลง -9.6% มากกว่าการส่งออกที่หดตัว และไตรมาส 2 ลดลง -3.4% ”

“ดอน” กล่าวว่า มองไประยะข้างหน้า การส่งออกก็อาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมา จากเดิมที่คิดว่าจะดีขึ้นอย่างน้อยในระยะสั้น ๆ ช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. เนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ติดลบ -12.2% ในเดือน มิ.ย.

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนในเดือน มิ.ย. หดตัวลงทั้งในหมวดก่อสร้าง และหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม จากดอกเบี้ยที่ปรับลดลงส่งผลให้การระดมทุนของภาคเอกชนในไตรมาส 2 ดีขึ้นจากไตรมาสแรก ดังนั้น จึงหวังว่าทิศทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจมีสัญญาณบวกกลับมาบ้าง ด้านการใช้จ่ายภาครัฐหดตัว ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายการลงทุน ขณะที่ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงเช่นกัน โดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออกก็หดตัวเช่นกัน ส่งผลให้ทั้งไตรมาส 2 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมติดลบ -2.6%

“ดอน” กล่าวด้วยว่า ในเดือน มิ.ย.มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรมากจน “พลิกเป็นบวก” จากเดิมที่หดตัวมาต่อเนื่องในช่วง 5 เดือนแรก ซึ่งมีผลทำให้อัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยเดือนนี้ปิดที่ 30.67 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ “แข็งค่าที่สุดในภูมิภาค” ขณะที่ความผันผวนของค่าเงินบาทถือว่าอยู่ “อันดับต้น ๆ ในภูมิภาค” ซึ่ง ธปท.ได้มีการป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากจนเกินไป จนกระทบกับภาคการส่งออก รวมทั้งมีการสื่อสารให้ผู้ส่งออกป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินด้วย

“เราดึงความผันผวนโดยการเข้าไปแทรกแซง (intervene) น้อยลง ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพราะที่ผ่านมาเราเป็นที่พักเงิน (safe haven) แม้ตัวเศรษฐกิจอาจไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน แต่ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ชะลอต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน หรือกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจเรามีเสถียรภาพมากกว่าคนอื่น โดยการลดการแทรกแซงค่าเงินบาท เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือเพื่อกันเงินเข้ามาพักในไทย ธปท.ยังมีมาตรการอื่น ๆ เช่น การแทรกแซงผ่านคำพูดของผู้ว่าการ ธปท. หรือการลดการออกพันธบัตร เป็นต้น”

ส่วนการดำเนินมาตรการสกัดเงินร้อนจะเพิ่มความเข้มข้นแค่ไหนก็ต้องรอดูว่า เงินทุนไหลเข้าจะมีมากน้อยเพียงใดในระยะข้างหน้า

จะเห็นได้ว่าสารพัดปัจจัยลบยังคงรุมเร้าเศรษฐกิจไทย แถมล่าสุด สงครามการค้ายังปะทุอีกครั้ง ซ้ำเติมด้วยเสียงระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯ คงต้องจับตาว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 7 ส.ค.นี้ จะตัดสินใจนโยบายเพื่อช่วยสนับสนุนพยุงเศรษฐกิจอย่างไร