ปธ.สภาอุตฯหวังเห็นค่าบาทอ่อน 32 บาท/เหรียญ หลังเข้าหารือแบงก์ชาติ

สุพันธุ์ มงคลสุธี
ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ รุดหารือผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ หวังเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่า 32 บาท/ดอลลาร์ เสนอแนวทางผ่อนปรน/ปลดล็อกหนี้เอสเอ็มอี หวังคลังออก “ซอฟต์โลน” อัดฉีดสภาพคล่องผู้ประกอบการ ชี้เตรียมตบเท้าเข้าหารือรมว.คลังต่อบ่ายวันนี้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 ก.ค.62 ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมฯ เข้ารือกับ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.นโยบายค่าเงิน 2.การสนับสนุนนโยบายที่จะสนับสนุนเอสเอ็มอี (SME) และ 3.ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ซึ่งเรื่องสุดท้ายมีการทำงานร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงานอยู่แล้วจึงไม่ได้พูดคุยในประเด็นดังกล่าวเท่าไหร่นัก

โดยประเด็นนโยบายค่าเงินบาท สภาอุตสาหกรรมฯ ยังมีความกังวลในเรื่องของค่าเงินบาทที่แม้จะไม่ได้เผชิญความผันผวนมากนักแต่ยังแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ ในระยะยาวค่าเงินบาทยังมีความกังวลจากเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่เกิดขึ้น และล่าสุดมีการนำเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนมาใช้เพื่อต่อสู้กัน (Currency War) ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้การส่งออกไทยลำบากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ธปท.ชี้ว่าปัจจุบันธปท.มีการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทในหลายด้าน ซึ่งภาคเอกชนจะต้องมีส่วนช่วยด้วยอีกทาง เช่น การจัดทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX Hedging)

“เราเสนอว่าถ้าเป็นไปได้เราก็อยากจะเห็นตัวเลขที่ 32 บาท แต่ว่าเราก็เข้าใจว่าแบงก์ชาติไม่สามารถกำหนดได้แบบนั้น เขาก็มีกรรมวิธีของเขา เพียงแต่เราจะต้องมาช่วยกันดูว่าต่อไปจะต้องแก้ไขกันอย่างไร และการป้องกันความเสี่ยงจากภาคเอกชนเองจะสามารถป้องกันความเสี่ยงได้อย่าง เช่น เรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เราก็มีการเรียนเชิญให้แบงก์ชาติประชาสัมพันธ์ออกมามากขึ้น เป็นต้น” นายสุพันธุ์ กล่าว

ส่วนในประเด็นเอสเอ็มอี สภาอุตสาหกรรมฯ มีข้อเสนอ 4 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1.พิจารณาอนุมัติให้เครดิตบูโร และ บสย. และธนาคารที่เข้าโครงการ สามารถดำเนินการตามรูปแบบของโครงการได้ 2.ให้ผ่อนปรน/ปลดล็อกสำหรับเอสเอ็มอีที่เคยมีประวัติค้างชำระ ภายในระยะเวลา 6 หรือ 12 เดือน แต่ปัจจุบันชำระหมดแล้ว ให้เป็นบัญชีปกติ โดยไม่ต้องรอตามเกฑณ์ดูใจ 3 งวดการชำระของประกาศธปท.และเงื่อนไขข้อมูลในเครดิตบูโร 3.ให้ผ่อนปรน/ปลดล็อกสำหรับเอสเอ็มอีมีประวัติเคยปรับโครงสร้างหนี้ด้วยความสมัครใจ เป็นบัญชีปกติของเครดิตบูโร และ 4.ให้ออกมาตรการให้ SME Bank สามารถสนับสนุนสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอีได้โดยไม่อยู่ในเงื่อนไขแบบธนาคารพาณิชย์ คือ เคยมีประวัติค้างชำระ ภายในระยะเวลา 6 หรือ 12 เดือน แต่ชำระเสร็จสิ้นแล้ว และเอสเอ็มอีมีประวัติเคยปรับโครงสร้างหนี้ด้วยความสมัครใจ

“เรามีการเสรอเรื่องการปรับโครงสร้าง (restructure) หนี้ทั้งหมด ซึ่งผู้ว่าฯ ธปท.เองก็เห็นด้วย โดยมองว่าจะต้องร่วมกับกระทรวงการคลังในการปล่อยซอฟต์โลน (Soft Loan) ออกมาอีกก้อนเพื่อปรับโครงสร้างให้กับเอสเอ็มอี เพื่อเข้ามาผ่อนคลายหนี้ที่มีปัญหาแล้วมาเคลียร์ และเพื่ออัดฉีดให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่องดีขึ้นในกลุ่มผู้ที่ธุรกิจยังไปได้เพียงแต่ขาดสภาพคล่อง โดยซอฟต์โลนจะต้องออกมาจากกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการพูดคุยในคณะทำงานด้านการเงิน (Financial Team) ก่อน” นายสุพันธุ์ กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของคณะทำงานด้านการเงิน หรือ Financial Team ที่ประกอบด้วยกระทรวงการคลัง ธปท. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สภาอุตสาหกรรมฯ มีการเสนอว่าควรจะต้องมีภาคเอกชนร่วมด้วย ซึ่งทางผู้ว่าฯ ธปท.ก็เห็นด้วย

นายสุพันธุ์ กล่าวอีกว่า ในวันนี้ (9 ส.ค.62) เตรียมเข้าหารือ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเสนอประเด็นซอฟต์โลน นอกจากนี้ จะมีการหารือถึงการนำภาษีมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ รวมทั้งประเด็นกองทุนนวัตกรรม (Innovation Fund) และสุดท้ายเพื่อรับฟังนโยบายภาษีที่รมว.คลังต้องการที่จะผลักดันด้วยเช่นกัน

“สิ่งที่เราอยากเห็นมีทั้งเรื่องของการผ่อนคลายภาษี การลดภาษี การที่นำภาษีมาใช้ประโยชน์ง่ายขึ้น เช่น สมตติให้การไปอบรบเพื่ออัพสกิล (up skill) และรีสกิล (reskill) ได้ลดหน่อยภาษี 2 เท่า หรือให้ลดหย่อนเป็นเงินก้อนได้ การแก้ปัญหาที่ปัจจุบันบริษัทจะต้องส่งคนไปอบรมเท่านั้นจึงจะได้ลดหย่อน แต่หากพนักงานไปอบรมเองจะไม่ได้ลดหย่อน เป็นต้น หรือยกตัวอย่างการทำศูนย์เทรนนิ่งเพื่ออัพสกิลและรีสกิลคนจะให้ได้รับการลดหย่อย 2 เท่า รวมถึงการที่เราต้องการตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อให้ผู้บริจาคได้รับการลดหย่อน 3 เท่า โดยกองทุนนี้มีส่วนช่วยเหลือเรื่องนวัตกรรมของเอสเอ็มอีอย่างเดียวและให้เอกชนบริการอย่างเดียว เป็นต้น” นายสุพันธ์ กล่าว