ปล่อยกู้”บ้าน/รถแลกเงิน”โตพุ่ง แบงก์ดิ้นปั๊มกำไรชดเชยสินเชื่อหลักโดนคุม

เอฟเฟ็กต์ “คุม LTV-เข้ม DSR” แบงก์โหมปล่อยกู้ “บ้านแลกเงิน-รถแลกเงิน” พุ่ง แข่งออกโปรฯแย่งลูกค้าเดือดทั้งให้วงเงินสูง 20-50 ล้านบาท-ผ่อนนาน 30 ปี-อนุมัติไว “TMB Analytics” เปิดข้อมูลครึ่งปีแรก “บ้านแลกเงิน” โต 12.9% “รถแลกเงิน” โต 18% คาดรักษาระดับเติบโตจนถึงสิ้นปี ด้าน “ทิสโก้” ยอมรับตลาดแข่งขันสูง แต่ “รถแลกเงิน” ยังโตได้ 2 หลัก ห่วงคุณภาพสินเชื่อสกรีนลูกค้าเข้มขึ้นรับลูกเกณฑ์กำกับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงนี้ธนาคารพาณิชย์แข่งขันทำโปรโมชั่นปล่อยสินเชื่อประเภทบ้านแลกเงิน (Home Equity) และรถแลกเงิน (Car for Cash) กันค่อนข้างมาก อย่างสินเชื่อบ้านแลกเงิน อาทิ ธนาคารยูโอบี มีสินเชื่อ UOB Cash to Home ให้วงเงินสูงสุดถึง 50 ล้านบาท ผ่อนได้นาน 30 ปี ไม่จำกัดวัตถุประสงค์การกู้ โดยอนุมัติเร็วภายใน 3 วัน, ธนาคารทิสโก้มี “สินเชื่อบ้านแลกเงิน ทิสโก้ มอร์เกจ เซฟเวอร์” ให้กู้ขั้นต่ำ 4 แสนบาท สูงสุด 80% ของราคาประเมิน ผ่อนนานสูงสุด 15 ปี สามารถเบิกถอนคืนเงินในส่วนที่ชำระเกินไว้ได้ เพิ่มโอกาสในการโปะบ้าน ดอกเบี้ยเริ่มต้นปีที่ 1-3 เฉลี่ย 5.5% ต่อปี, ธนาคารไทยพาณิชย์มีสินเชื่อบ้านคือเงิน My Home My Cash ที่ให้กู้สูงสุดถึง 20 ล้านบาท อนุมัติไว ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน, ธนาคารกสิกรไทยมีสินเชื่อบ้านช่วยได้ ให้วงเงินขั้นต่ำ 1 แสนบาทถึงไม่เกิน 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยปีที่ 1 – 2 : MRR – 1.00% ต่อปี หลังจากนั้น : MRR – 0.50% ต่อปี, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีสินเชื่อกรุงศรีโฮมฟอร์แคช บ้านเปลี่ยนเป็นเงิน ให้วงเงินขั้นต่ำ 5 แสนบาทสูงสุด 85% ของราคาประเมิน กู้ได้นาน 30 ปี ดอกเบี้ยมีหลายแบบให้เลือก เป็นต้น

ส่วนสินเชื่อรถแลกเงิน อาทิ ธนาคารธนชาตมีสินเชื่อธนชาตรถแลกเงิน ดอกเบี้ย แสนละ 59 บาท/วัน โปะได้ ไม่มีค่าปรับ ผ่อนได้นาน 72 เดือน วงเงินสูงสุด 100% ของราคาประเมิน, ธนาคารทิสโก้มีสินเชื่อทะเบียนรถยนต์ทิสโก้ ออโต้แคช ให้กู้ถึง 100% ของราคาประเมิน ดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.49% ต่อเดือน ผ่อนนานสุด 72 เดือน, ธนาคารกสิกรไทยมีสินเชื่อกสิกรไทยรถช่วยได้ ดอกเบี้ยไม่เกิน 26% ต่อปี, ธนาคารไทยพาณิชย์มีสินเชื่อ SCB My Car My Cash ดอกเบี้ย 13-17% ให้สูงสุด 5 ล้านบาท, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีสินเชื่อกรุงศรีคาร์ฟอร์แคชโปะ ดอกเบี้ย 0.56-0.63% ต่อเดือน เป็นต้น

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งแรกปีนี้ระบบแบงก์พาณิชย์ปล่อยสินเชื่อรถแลกเงินเติบโตแล้ว 18% และบ้านแลกเงินเติบโต 12.9% ถือว่าโตสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และคาดว่าถึงสิ้นปีก็จะยังเติบโตสูงใกล้เคียงระดับปัจจุบันอยู่ โดยส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ทางการมีมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) และส่งสัญญาณคุมการปล่อยกู้ที่ต้องดูภาระหนี้สินต่อรายได้ (DSR) และนำแนวนโยบายการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบมาใช้

ทั้งนี้ สินเชื่อบ้านแลกเงินมียอดคงค้างที่ 2.9 แสนล้านบาท ส่วนสินเชื่อรถแลกเงินมีสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท

“ปีนี้สินเชื่อ 2 ประเภทนี้โตมากอยู่ ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการก็คือ พอคุมบางอย่างก็จะไปโผล่อีกอย่าง เนื่องจากระบบแบงก์ยังต้องหากำไร (มาร์จิ้น) เมื่อโตในด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ยากขึ้น ก็คงต้องไปโตสินเชื่อรายย่อยมากขึ้น แบงก์ต้องหา NIM (ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ) ที่ดีขึ้น เมื่อโดนกดดันเรื่องสินเชื่อบ้าน จึงต้องไปทางสินเชื่อบ้านแลกเงิน เพราะสามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงขึ้น” นายนริศกล่าว

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า ทิสโก้จะเน้นปล่อยสินเชื่อรถแลกเงินมากกว่าบ้านแลกเงิน โดยธนาคารมี “สมหวังเงินสั่งได้” ที่ทำธุรกิจนี้อยู่ ซึ่งยอมรับว่าปีนี้การแข่งขันเพิ่มความรุนแรงขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา และไม่น่าห่วงในประเด็นนี้ เนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อรถแลกเงินของทิสโก้ยังเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งนี้ สิ่งที่ห่วงมากกว่าคือคุณภาพของลูกค้า จึงค่อนข้างใช้ความระมัดระวังในการให้สินเชื่อรถแลกเงิน ส่วนสินเชื่อบ้านแลกเงินปีนี้ต้องยอมรับว่ายังทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายอยู่ เนื่องจากแบงก์ต้องระวังการปล่อยกู้ด้วย

“รถแลกเงินตอนนี้โตเป็นตัวเลข 2 หลักอยู่ ถือว่าเป็นเครื่องยนต์หลักที่สร้างการเติบโตของทิสโก้ ส่วนคุณภาพหนี้ยังทรงตัว ไม่ได้ดีขึ้น ดังนั้น ลูกค้ารายใหม่ที่เข้ามาจึงมีเปอร์เซ็นต์ที่ไม่ผ่านการอนุมัติเพิ่มขึ้น คือ เราต้องพิถีพิถันในการปล่อยสินเชื่อนี้มากขึ้น ซึ่งแนวทางของทางการที่ออกมา ผมว่าเราต้องฟังเพราะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นข้อมูลทั้งหมดโดยรวม ดังนั้น แม้จะยังไม่ได้บังคับใช้ เราก็ต้องระมัดระวังไว้ก่อน


อย่างไรก็ดี ถึงแม้หลังจากนี้จะมีเกณฑ์กำกับใหม่ออกมา ทางทิสโก้ก็ไม่ได้มีผลกระทบ เพราะปัจจุบันเราทำตามเกณฑ์อยู่แล้ว” นายศักดิ์ชัยกล่าว