อธิบดี​ธนารักษ์​คนใหม่เครื่อง​ร้อน กางแผนปั๊มรายได้ที่ราชพัสดุ​เพิ่ม-ตั้งเป้าส่งเงินเข้ารัฐ 1.5 หมื่นล้าน

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยหลังนายอำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตอธิบดี ส่งมอบงานให้ดูแลกรมธนารักษ์ว่า ในปี 2563 ตั้งเป้าการจัดเก็บรายได้ 15,000 ล้านบาท สูงกว่าเป้าปี 2562 ที่ตั้งไว้ 9,800 ล้านบาท เนื่องจากจะเข้าไปดูแลพื้นที่ราชพัสดุในเรื่องการใช้พื้นที่นอกวัตถุประสงค์ในเชิงธุรกิจ รวมถึงสำรวจพื้นที่ตกหล่นในการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากที่ราชพัสดุ ด้วยการเปิดศูนย์ข้อมูลติดตามการใช้ประโยชน์ เช่น สนามกอลฟ์บางพระ หรือร้านกาแฟตามแหล่งท่องเที่ยว หรืออาคารเก่าปรับปรุงใหม่ทันสมัย

และจะเข้าไปดูพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่น ปั๊มน้ำมัน ที่เปิดให้ร้านกาแฟเช่าในพื้นที่ราชพัสดุที่ไม่ได้ส่งรายได้ให้กับงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งกรมฯจะเข้าไปดูแลและจัดเก็บรายได้จากส่วนนี้ โดยมีเกณฑ์เข้าไปจัดเก็บรายได้ คือ 70% เป็นการนำรายได้เข้างบประมาณแผ่นดิน และอีก 30% เป็นสวัสดิการของผู้เช่าพื้นที่ อย่างไรก็ดี กรมฯจะทำงานภายใต้พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562

พร้อมกันนี้ คาดว่าการเข้าไปเก็บค่าเช่าเชิงพาณิชย์ ที่ 3% จะส่งผลทำให้การจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน กรมจะเข้าไปสำรวจข้อมูลรัฐวิสาหกิจ เพื่อพิจารณาการจัดเก็บรายได้ตามพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 จากเดิมที่ไม่มีการจัดเก็บรายได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาหน่วยงานนั้นๆ ควบคู่ไปกับสาธารณูปโภคและพื้นฐานการจัดเก็บรายได้ เนื่องจากหากเพิ่มอัตราค่าเช่า อาจส่งผลกระทบต่อการปรับอัตราค่าบริการต่างๆ ให้สูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

นอกจากนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ให้กรมฯไปช่วยดูแลในเรื่องการจัดสรรพื้นที่ราชพัชดุให้กับประชาชนระดับฐานราก ให้มีพื้นที่จำหน่ายสินค้า หรือใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน ซึ่งจะเข้าไปพิจารณาพื้นที่ในระดับตำบลและจังหวัด อาจจะนำมาใช้เป็นพื้นที่หมุนเวียน โดยกรมธนารักษ์ที่สังกัดอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดจะเข้าไปขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการระดับพื้นที่นั้นๆ และคาดว่าปีงบประมาณ 2563 จะสามารถจัดสรรพื้นที่ให้กับชุมชนได้ครอบคลุมทุกจังหวัด

ทั้งนี้ จะนำบล็อกเชนมาใช้ในการจัดเก็บข้อมูล เนื่องจากขณะนี้กรมฯ ยังมีปัญหาในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยคาดว่าสิ้นปี2562 กรมฯจะนำบล็อกเชนมาใช้ และสมารถจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ที่กรมฯดูแล 13 ล้านไร่ ให้เข้าสู่ระบบเรียลไทม์ได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำงานในด้านต่างๆ ต่อไป