ธปท. ดึง “น้องบิ๊นท์” นางสาวไทย โปรโมท “คลินิกแก้หนี้” ชวนคนหนี้ท่วมเข้าร่วมโครงการ

สำหรับโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ได้เดินทางมาสู่ระยะที่ 3 แล้ว หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) และสถาบันการเงิน ได้ร่วมกันเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ให้กับภาคประชาชน โดยเฉพาะหนี้บัตร ซึ่งหากดูข้อมูลภาระหนี้ต่อเดือนของครัวเรือนไทย จะพบว่าประมาณ 40% เป็นหนี้ที่เกิดจากหนี้ส่วนบุคคลเพื่ออุปโภคบริโภค ซึ่งมีระยะเวลาผ่อนสั้นและอัตราดอกเบี้ยแพง ดังนั้น จึงเกิดเป็น “โครงการคลินิกแก้หนี้” เพื่อช่วยขับเคลื่อนการแก้หนี้ ตั้งแต่กลางปี 2560

และล่าสุด ธปท.ลุยผ่อนคลาย 3 หลักเกณฑ์ ได้แก่ 1.หนี้บัตรทั้งเจ้าหนี้หลายรายและรายเดียว จากเดิมที่มีเจ้าหนี้ 2 รายขึ้นไป 2.เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก่อนวันที่ 1 มกราคม 63 จากเดิมเป็นหนี้วันที่ 1 มกราคม 2562 และ 3.ลูกหนี้ไม่ถูกดำเนินคดี ซึ่งเป็นลูกหนี้คดีดำและคดีแดงที่อยู่ในขั้นตอนกระบวนการของศาลและมีคำพิพากษา เพื่อต้องการดึงคนเป็นหนี้ที่ไม่สามารถแก้ไขหนี้ได้เข้าสู่โครงการได้ง่ายขึ้นและครอบคลุมทุกกลุ่ม นอกจากนี้ ได้ดึงตัวแทนคนเจนวาย “น้องบิ๊นท์” หรือ นางสาวสิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์ นางสาวไทย ปี 2562 และ Miss International 2019 เข้ามาช่วยรับหน้าที่สื่อสารประชาสัมพันธ์โครงการ “คลินิกแก้หนี้” ให้คนรู้จักมากขึ้น

ในฐานะตัวแทนคนรุ่นใหม่ Gen Y “น้องบิ๊นท์” ได้มาช่วยแชร์ประสบการณ์ โดยเล่าผ่านมุมมองไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายของคนรุ่นใหม่จากคนรอบตัว ที่มีพฤติกรรมในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยไม่มีการออมเงินก่อนจนกลายเป็นหนี้ก้อนโต ผ่อนชำระไม่ไหว จนเกิดปัญหาทางครอบครัวและสังคม จนลามไปสู่ปัญหาการคิดฆ่าตัวตายที่เกิดจากปัญหาหนี้รุมเร้า

น้องบิ๊นท์ เล่าว่า โดยพฤติกรรมคนเจนวาย จะเกิดมาพร้อมกับความสะดวกสบาย อยากทำอะไรก็ได้ทำ อยากเรียนอะไรหรืออยากซื้ออะไรก็ได้ทำตามใจ ซึ่งโตมาพร้อมกับบัตรเครดิต 3-4 ใบ ถือเป็นเรื่องปกติมากสำหรับคนรุ่นนี้ โดยเฉพาะยิ่งเมื่อเข้าสู่วัยทำงานสามารถหาเงินเองได้ จะเห็นการใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น และเมื่อยิ่งใช้จ่ายมากขึ้นโดยไม่มีการเก็บออมเงินไว้ล่วงหน้า ทำให้เป็นหนี้ล้นพ้นตัว

และเรื่องนี้เกิดขึ้นกับเพื่อนรายหนึ่ง พบว่า มีหนี้บัตรเครดิตสะสมกว่าหลายแสนบาท มีภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระสูงถึง 1-3 หมื่นบาทต่อเดือน โดยบางรายนำเงินเดือนที่ได้จากการทำงานนำไปผ่อนหนี้บัตรเครดิตทั้งหมด และนำเงินที่ได้จากการทำงานล่วงหน้า (OT) นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เมื่อนานวันเข้ากำลังผ่อนชำระเริ่มไม่ไหว จนกลายเป็นวงจรปัญหาหนี้ที่ไม่สามารถแก้ไขได้

“ยอมรับว่ากลุ่มคนเจนวาย ถือบัตร 3-4 ใบเป็นเรื่องปกติ เพราะตอนเรียนจะเห็นว่ามีสถาบันการเงินเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยในการเสนอแคมเปญต่างๆ มากมาย ทำให้ส่วนหนึ่งคนเจนวายมีบัตรเครดิตหลายใบ แต่ไม่ใช่ต้นตอของปัญหา เพราะมองว่าจากพฤติกรรมการใช้จ่ายโดยไม่เรียนรู้การวางแผนทางการเงิน ทำให้มีหนี้บัตรเครดิตค่อนข้างเยอะ แต่หากใช้แบบมีความรู้ต่อให้มีบัตรเครดิต 10 ใบ ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่มีความรู้ต่อให้มีบัตรใบเดียวก็มีปัญหาได้”

จนกระทั่งเมื่อเพื่อนรายนี้ได้เข้ามาปรึกษา และลองช่วยค้นหาข้อมูลในการแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตดังกล่าว จึงพบว่ามีโครงการ “คลินิกแก้หนี้” ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ SAM ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานระหว่างเจ้าหนี้-ลูกหนี้ ให้สามารถแก้ปัญหาและมีทางออก โดยช่วยลดอัตราผ่อนชำระในแต่ละเดือนลง และคิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยเหลือเพียง 4-7% จากปกติที่จะถูกคิดถึง 18% ทำให้เพื่อที่เคยผ่อนเฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นบาท เหลือผ่อนชำระเดือนละ 1,000 บาทเท่านั้น ทำให้ลูกหนี้มีกำลังผ่อนชำระในแต่ละเดือน และมีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น

ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนคนที่ตอนนี้กำลังประสบปัญหาเรื่องหนี้บัตรเครดิต และไม่สามารถหาทางออกได้ อยากให้เข้ามาปรึกษาและเข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ ซึ่งปัจจุบันเข้าสู่ระยะที่ 3 มีสถาบันการเงิน เข้าร่วมโครงการกว่า 35 แห่ง ทั้งธนาคารพาณิชย์ น็อนแบงก์ และล่าสุดธนาคารออมสิน ซึ่งพร้อมจะช่วยแก้ปัญหาและไกล่เกลี่ยหนี้ให้ นอกจากจะดีต่อลูกหนี้แล้ว มองว่ายังส่งผลดีต่อระบบการเงินและประเทศไทยที่จะช่วยลดหนี้เสียได้

นอกจากนี้ “น้องบิ๊นท์” ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนทางการเงินที่ตัวเองทำและเป็นต้นแบบในการช่วยลดการก่อหนี้ โดยแนวคิดการบริหารเงิน เมื่อได้เงินหรือรายได้เข้ามา จะแบ่งเป็น เงินออมประมาณ 40-50% ลงทุน 25% และใช้จ่ายให้พ่อแม่ 25% ซึ่งหากเดือนไหนอยากได้ของแพง เช่น ราคาหลักแสน จะเก็บเงินก่อนอย่างน้อย 4 เดือน เพื่อซื้อของชิ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นการทดสอบว่าอยากได้ของชิ้นนั้นจริงหรือไม่ จะช่วยลดการก่อหนี้ไม่จำเป็น รวมถึงควบคุมวงเงินและการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ซึ่งปัจจุบันถือบัตรเครดิตไว้ 2 ใบ จะเน้นใช้เวลาที่ต้องการทำธุรกรรมรายการบางอย่างเพื่อความสะดวก เช่น การจ่ายประกัน หรือภาษีต่างๆ