เบี้ยประกันชีวิตทั้งระบบปี’62 หดตัว2.63% เหลือ 6.1 แสนล้าน คาดปีนี้ทรงตัว

สมาคมประกันชีวิตไทยชี้ปัจจัยเสี่ยงปี’63 กดดันเบี้ยรับรวมทรงตัว 6.1 แสนล้านบาท เติบโต 0% เผชิญผลกระทบเดิม “ดอกเบี้ยต่ำ-ภาวะเศรษฐกิจแผ่ว-มาร์เก็ตคอนดักส์เข้ม” โดยภาพรวมปี’62 เบี้ยทั้งระบบติดลบ 2.63% เหลือ 6.10 แสนล้านบาท

นางนุสรา(อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมา จากปัจจัยท้าทายของภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยต่ำส่งผลให้ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวมอยู่ที่ 610,914.11 ล้านบาท เติบโตลดลง 2.63% เมื่อเทียบกับปีก่อน จำแนกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ (New Business Premium) จำนวน 178,487.45 ล้านบาท เติบโตลดลง 1.07% โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก 108,737.99 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 13.65% เบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว 69,749.45 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง 17.68% และเบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป (Renewal Year Premium) 432,426.66 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลง 3.25% ซึ่งมีอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิต 80%

สำหรับเบี้ยประกันภัยรับจำแนกตามช่องทางการจำหน่าย ปี 2562 อันดับ 1 การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตจำนวน 315,616.85 ล้านบาท สัดส่วน 51.66% หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 3.32% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

อันดับ 2 การขายผ่านธนาคาร จำนวน 250,564.71.ล้านบาท สัดส่วน 41.01% หรือเติบโตลดลง10.66 % เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

อันดับ 3 การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง 14,908.58 ล้านบาท สัดส่วน 2.44% หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 4.01% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

อันดับ 4 การขายผ่านช่องทางอื่น ๆ 29,823.95 ล้านบาท สัดส่วน 4.88% หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 9.99% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ตัวเลขการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตไม่สูงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากปัจจัยท้าทายต่าง ๆ ที่ธุรกิจประกันชีวิตต้องเผชิญทั้งภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอันเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา มาตรการจากภาครัฐ อาทิ จากหลักเกณฑ์ในเรื่องมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS17 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(Privacy Law) การยกระดับพฤติกรรมทางการตลาดของธุรกิจประกันชีวิต (Market Conduct) ที่กระทบต่อตัวแทนและนายหน้า ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนจากตัวเลขของช่องทางการเติบโตของแบงก์แอสชัวรันส์ที่ลดลงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 10.66% นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอัตราความเสียหาย จากคนกลางและการฉ้อฉลประกันภัย (Fraud & Abuse) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการรับประกันสุขภาพ การเผชิญกับภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำที่กระทบต่อการลงทุนและผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต

ทั้งนี้ในปี 2563 คาดว่าธุรกิจประกันชีวิตจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 610,000 ล้านบาท ไม่มีการเติบโต เหตุเพราะการดำเนินงานยังคงต้องเผชิญกับความกดดันจากปัจจัยท้าทายของปีที่ผ่านมา โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย(GDP) ของประเทศไทยในปีนี้ที่ 1.5% เหตุเศรษฐกิจของประเทศได้เผชิญกับปัจจัยลบจากการท่องเที่ยวที่หดตัวลงอันเป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 สภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศจากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่กล้าใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ไปกับปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และนำเงินบางส่วนไปใช้ชำระหนี้ภาคครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกระทบด้านภูมิศาสตร์ ภาวะภัยแล้ง ภาวะการว่างงาน ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ผู้บริโภคมีความต้องการเฉพาะเจาะจง ธุรกิจประกันชีวิตจึงต้องมีการปรับตัว และมีการลงทุนเกี่ยวกับนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อป้องกัน digital disruption และสังคมสูงวัย ซึ่งเป็นได้ทั้งปัจจัยที่ท้าทายและปัจจัยส่งเสริมธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจทำให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถเติบโตได้มาจากปัจจัยส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น การอนุมัติโครงการสาธารณูปโภค การเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังคงค้าง การส่งเสริมการท่องเที่ยว และมาตรการส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิตโดยหน่วยงานกำกับ ซึ่งล่าสุดได้มีประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต / บริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2563 ออกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจประกันภัยไทยให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลง โดยการเปิดกว้างให้บริษัทประกันสามารถลงทุนได้มากขึ้นในหลากหลายรูปแบบ

อีกทั้งยังมีปัจจัยส่งเสริมจากภาคธุรกิจ อาทิ บริษัทประกันชีวิตมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายตรงกับตามความต้องการของประชาชน และมุ่งพัฒนาช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลาย นอกเหนือจากการจำหน่ายผ่านตัวแทนฯ เช่น การขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบออนไลน์ แอปพลิเคชันต่าง ๆ การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบการให้บริการให้ทันสมัย สะดวกสบาย และสร้างความประทับใจในการใช้บริการ เพื่อรองรับ Life Style ของลูกค้าแต่ละราย การตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณ จึงทำให้ประชาชนให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยง การวางแผนคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ การหาผลตอบแทนด้วยช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ที่ให้ทั้งความคุ้มครองและผลตอบแทนในแง่ของการลงทุน

สำหรับทิศทางธุรกิจประกันชีวิตปี 2563 ธุรกิจประกันชีวิตจะต้องปรับลดการขายผลิตภัณฑ์ที่เคยให้ผลตอบแทนสูงเช่น Single Premium หรือแบบประกันชีวิตที่การันตีผลตอบแทนออกจากตลาด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง โดยเน้นผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน เช่น ยูนิตลิงก์ (Unit- Linked ) ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองระยะยาว เช่น แบบประกันชีวิตตลอดชีพ แบบประกันบำนาญ สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ

ถึงแม้ปี 2563 จะยังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจประกันชีวิต หากแต่ยังมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจประกันชีวิตจะยังคงเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น เพราะธุรกิจประกันชีวิตมีความจำเป็นต่อการบริหารความเสี่ยงของคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจชะลอตัว ค่ารักษาพยาบาลที่มีการปรับตัวสูงขึ้นทุกปีตามวิวัฒนาการทางการแพทย์ ตลอดจนการตระหนักรู้ของประชาชนจากภาวะโรคอุบัติใหม่ หรือการแพร่กระจายของโรค เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประกันชีวิตและประกันสุขภาพจะให้ความคุ้มครองชีวิตและค่ารักษาพยาบาลตามจำนวนเงินผลประโยชน์ที่กำหนดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

นอกจากนี้แล้วภาคธุรกิจยังได้มีการตั้งรับและเตรียมตัวอย่างดีต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือทั้งจากทางภาคอุสาหกรรมและหน่วยงานกำกับ โดยมีสมาคมประกันชีวิตไทยเป็นแกนกลางในการประสาน พันธกิจต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยท้าทาย ทั้งในรูปแบบรับฟังความคิดเห็น การจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เช่น ว่าจ้างที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายมาช่วยแนะนำผลกระทบของธุรกิจประกันชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ต่อพรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล คณะทำงานเรื่องผลกระทบมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS17 คณะทำงานเรื่องผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งนำไปสู่การทดสอบ RBC 2 การดำรงเงินกองทุน และคณะทำงานเกี่ยวกับความจำเป็นทางการแพทย์ โดยมีคณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นประธานเพื่อกำกับและติดตามงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถแข่งขันได้