“เอ็กซิมแบงก์” ยื่นขอจัดตั้งสำนักงานผู้แทนใน “เวียดนาม” คาดมีความชัดเจนใน 1 เดือน หนุนลูกค้าขยายฐานการค้า-ลงทุน ปั้นยอดสินเชื่อคงค้างโตเกิน 4 หมื่นล้านบาท ยอมรับต้องปรับแผนปล่อยสินเชื่อปี”63 ใหม่ หลังเจอผลกระทบ “โควิด-19-ภัยแล้ง-สงครามการค้า” หวั่นสถานการณ์เลวร้ายฉุดส่งออกติดลบ 2-3%
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ธนาคารอยู่ระหว่างยื่นเรื่องต่อธนาคารกลางเวียดนาม เพื่อขอจัดตั้งสำนักงานผู้แทนในประเทศเวียดนาม ที่กรุงโฮจิมินห์ โดยคาดว่าภายใน 1 เดือน น่าจะมีความชัดเจนขึ้น และภายในปี 2563 นี้น่าจะสามารถจัดตั้งสำนักงานผู้แทนได้
ทั้งนี้ การมีสำนักงานผู้แทนจะเป็นการสนับสนุนกลุ่มลูกค้าไทยที่ขยายการลงทุนไปในเวียดนาม ทั้งที่เข้าไปลงทุนในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เช่น ระบบสาธารณูปโภคน้ำประปา และไฟฟ้า เป็นต้น และกลุ่มลูกค้าที่นำสินค้าไทยไปขาย (เทรดดิ้ง) เป็นต้น อย่างไรก็ดี รูปแบบการลงทุนในต่างประเทศของลูกค้ามีแนวโน้มปรับเปลี่ยนจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มาสู่ธุรกิจซื้อมาขายไปมากขึ้น เช่น การตั้งโรงงานขนาดเล็กเพื่อผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศนั้น ๆ เป็นต้น
นายพิศิษฐ์กล่าวอีกว่า ธนาคารยังคงตั้งเป้าสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เนื่องจากเป็นตลาดที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยปัจจุบันธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างในต่างประเทศราว 4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโต 6-7% ต่อปี
สำหรับปี 2563 นี้ ธนาคารกำลังปรับแผนธุรกิจ จากเดิมตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่ออยู่ที่ 7-8% แต่จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ภัยแล้ง และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง จะกดดันการส่งออกของไทยให้ขยายตัวเพียง 0-2% ซึ่งกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายขึ้นก็อาจทำให้การส่งออกติดลบ 2-3%
“ตอนนี้ภาพระยะสั้นมีความผันผวนรุนแรง เรากำลังวิเคราะห์อยู่ว่า เหตุการณ์จะลากยาวแค่ไหน แต่ในปัจจัยลบก็มีปัจจัยบวก เช่น ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และผู้ประกอบการมีความมั่นใจขยายธุรกิจในตลาด CLMV มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะช่วยสนับสนุนลูกค้า” นายพิศิษฐ์กล่าว
นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารจะเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีกระแสเงินสด (cash flow) เพื่ออยู่รอดภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนมากกว่าเน้นการเติบโตของสินเชื่อใหม่ เนื่องจากธนาคารเห็นสัญญาณการชำระหนี้เริ่มสะดุดตั้งแต่ปีก่อน โดยลูกค้าของธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 4.6% หรือคิดเป็น 5,606 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ธนาคารมีมาตรการไว้ช่วยเหลือ หากลูกค้ามียอดขายลดลง 15% ก็สามารถเข้ามาขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง หรือขอยืดอายุการชำระหนี้ 6 เดือนได้