กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล KBANK พร้อมสู้ ดิสรัปต์รอบใหม่

ได้รับการยอมรับในฐานะกูรูสตาร์ตอัพไทย กระทั่งปีที่แล้ว “กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” ตัดสินใจเข้ามารับตำแหน่งประธาน “กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป” หรือ KBTG ในเครือธนาคารกสิกรไทย มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านธนาคาร หนึ่งในธุรกิจที่เผชิญกับความท้าทายจากสารพัดปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีนี้ที่ไม่ใช่แค่นำพาองค์กรฝ่าคลื่นดิจิทัลดิสรัปชั่น ล่าสุดเพิ่งเปิดตัว 2 บริษัทใหม่ “KASIKORN X และ Kai Tai Tech” ซึ่งบริษัทหลังตั้งเป้าไปปักธงขยายตลาดที่ประเทศจีน

ครบ 1 ปี นำทัพ “KBTG”

“กระทิง-เรืองโรจน์” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เขาเพิ่งนั่งทำงานในตำแหน่งประธาน KBTG ครบ 1 ปีกับอีกเดือนเศษใน ก.พ.นี้ แต่ระยะเวลา 1 ปีที่ทำงานได้ทำหลายสิ่งจนรู้สึกเหมือนทำมาแล้ว 10 ปี มีการปรับองค์กรไปแล้ว 3 ครั้ง โดยทำพร้อมกันหมด ตั้งแต่การวางรากฐาน (build foundation) ด้านเทคโนโลยีและบุคลากร ซึ่งถือเป็นงานที่ไม่มีวันจบ (never ending) เพื่อรองรับการขยายตัวของการให้บริการลูกค้าที่ปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นทุกวัน

“never ending ก็เพราะอย่างตอนที่ผมนั่งอยู่ตอนนี้ ทรานแซ็กชั่นของธนาคารก็มากกว่าเมื่อวานแล้ว สถาปัตยกรรมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะต้องตอบโจทย์ ต้องมีการปรับฟาวน์เดชั่นไปเรื่อย ๆ แม้แต่บุคลากรใน KBTG จาก 1,200 คนในปีที่แล้ว เพิ่มเป็น 1,300 คน รวมทีมงานพาร์ตไทม์ด้วยจะเป็น 2,100 คน ตามแผน 3 ปี (2563-2565) จะต้องเพิ่มอีก 900 คน ถ้าได้ครบปีนี้เลยก็ได้ แต่คงไม่ง่าย นี่ก็ยังไม่รู้ไปหาจากไหน ใครสนใจมาร่วมงานกับเราสมัครมาได้ที่ [email protected]

2563 ปีแห่งความท้าทาย

และพูดถึงการทำงานในปีนี้ด้วยว่า นอกจากการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ แล้ว สิ่งที่เป็นความท้าทาย คือ 1.ทำอย่างไรจะรักษาธุรกิจให้กำไรไม่ตก 2.ทรานส์ฟอร์มองค์กรไปด้วย และ 3.ขยายไปต่างประเทศเพื่อรุกไปข้างหน้ามากขึ้น โดยบอกว่าปี 2563 เป็นปีที่จะมีวิกฤตหลายอย่างเข้ามาบรรจบกัน ทั้งวิกฤตสิ่งแวดล้อม วิกฤตเศรษฐกิจพื้นฐาน หนี้ครัวเรือน ส่งออก ค่าเงิน เรื่องนักท่องเที่ยว อีกเรื่อง คือ “ไวรัส” ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องคิดถึงการรับมือเพื่อหาทางรอด แต่สิ่งสำคัญกว่าที่องค์กรต่าง ๆ ต้องไม่ลืม คือ ภาพใหญ่ที่หมายถึงเป้าหมายระยะยาวของแต่ละองค์กร

“ในเคแบงก์เองมีภาษาของเรา เรียกว่า transform without losing our soul คือการปรับตัว การทรานส์ฟอร์มองค์กรโดยที่ไม่เสียจิตวิญญาณของเรา และไม่เสียเป้าหมายระยะยาวของเรา ยิ่งในช่วงนี้ที่มันอาจเกิดพายุบ้าง ถือเป็นช่วงประคับประคองไว้ แต่ก็จะต้องคิดว่าฉันจะมุ่งหน้าไปทางนี้เสมอ เพราะตรงนี้แหละคือชายฝั่งของฉัน การดำรงเป้าหมายคือสิ่งที่สำคัญ”

สำหรับ KBTG จะเดินหน้าขับเคลื่อนแกนกลางความสามารถทางเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทยใน 3 ด้าน คือ 1.การมีระบบคลาวด์ที่ผสมผสานการทำงานระหว่าง private cloud และ public cloud ได้รวดเร็ว 2.วางรากฐานสถาปัตยกรรมใหม่โดยยึดระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัยขั้นสูงสุด และ 3.ทำโครงสร้างด้วยโค้ดเพื่อการปรับเปลี่ยนอย่างคล่องตัว ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ธนาคารรับมือการขยายตัวของการให้บริการลูกค้า 20 ล้านคน ซึ่งคาดว่าในปีนี้จะมีปริมาณธุรกรรมผ่านระบบรวม 12,000 ล้านรายการ เป็นธุรกรรมทางการเงินมากกว่า 3,000 ล้านรายการ

KBANK ปักธง “ดิจิทัลรีจินอลแบงก์”

“โลกกำลังเข้าสู่คลื่นดิสรัปชั่นรอบใหม่ที่ผู้เล่นขนาดใหญ่อย่างธนาคารจะกลายเป็นฟินเทคได้ด้วยบริการแบบ open banking ที่เปิดรับการนำไอเดียและเทคโนโลยีแบบฟินเทคที่ประสบความสำเร็จมาเชื่อมต่อ ซึ่งหัวใจหลักในการทรานส์ฟอร์มธนาคารกสิกรไทยยุคนี้ คือ การผสานความแข็งแกร่งของธนาคารเข้ากับความสามารถด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหน้าที่ของ KBTG”

“กระทิง” กล่าวว่า ในอีก 3-5 ปีธุรกิจธนาคารจะอยู่ในศูนย์กลางของ “ดิสรัปชั่น” ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและทำได้ค่อนข้างดี

“เราทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมานาน มีการปรับคอร์แบงก์เปลี่ยนใหม่ ซึ่งเปรียบได้กับการคว้านหัวใจเช่นกันกับเรื่องดาต้าอะนาไลติกส์ อย่างปีที่แล้วที่มีการทำพาร์ตเนอร์ชิปต่าง ๆ ทั้งพาร์ตเนอร์กับดิสรัปเตอร์ทั้งดิสรัปต์ตัวเราเอง ในแง่การลงทุนก็ลงทุนจริง ๆ ใน 3 ปีข้างหน้าจะลงอีกกว่า 17,000 ล้าน หลายอย่างทำไปเสร็จเงินก็จะกลับมา เช่น การรีอาร์คิเทกต์โครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ต้นทุนทั้งด้านไอทีและอื่น ๆ จะถูกลง เมื่อคอสต์ถูกลงก็สามารถสเกลได้ และเริ่มมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา ซึ่งในปีนี้จะเห็นเยอะ ทั้ง KPlus และการขยายไปต่างประเทศมากขึ้น”

ท่ามกลางดิจิทัลดิสรัปชั่น เขามั่นใจว่า “เคแบงก์” รอดแน่ ๆ แต่โจทย์สำคัญกว่า คือ “รอดแล้วจะเติบโตต่อได้อย่างไรกับเป้าหมายในการเป็น leading digital reginal bank

ชำแหละวงการสตาร์ตอัพไทย

ในฐานะกูรูสตาร์ตอัพ เขาพูดถึงวงการสตาร์ตอัพไทยว่าในภาพรวมค่อนข้างดีในกลุ่มซีรีส์ A เพราะสามารถระดมทุนใหม่เพื่อขยายธุรกิจได้ต่อเนื่อง เช่น Pomelo เงินเพิ่มทุนอีก 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ “ฟีโนมีนา” ที่ได้มาเพิ่มอีก 10 ล้านเหรียญสหรัฐ

“คนที่เป็นซีรีส์เอ สามารถทะลวงท่อคอขวดไปสู่ซีรีส์บีได้แล้ว ส่วนระดับซีด (seed ) ก็มีที่ทะลวงไปสู่ซีรีส์ เอ เช่น บาเนียก็เรสต์ซีรีส์ เอได้ แต่แน่นอนมันเป็นพีระมิด ไม่ใช่ทุกคนที่จะหาทุนได้ ผมมองว่าสตาร์ตอัพไทยจะพลิกไปอีกขั้นเมื่อเรามีสตาร์ตอัพไทยที่ระดมทุนจากซีรีส์บีไปซีได้ นี่คือเวฟแรกของประเทศไทย จะเห็นเวฟถัดไปต้องรอให้สตาร์ตอัพเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯหรือมีการซื้อกิจการที่มีมูลค่าเกินร้อยล้านเหรียญให้ได้ก่อน เมื่อนั้นแหละประเทศไทยพลิกแน่”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของสตาร์ตอัพระดับ seed หรือกลุ่มสตาร์ตอัพที่เพิ่งตั้งต้นตั้งไข่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะเริ่มน้อยลงมาก ส่วนหนึ่งมีผู้สนับสนุนน้อยลง

“ปีนี้ไม่มีดีแทค แอคเซอเลอเรท เลยยิ่งทำให้สถานการณ์ seed ราวนด์ยิ่งแย่ไม่มีคนมา incubate ข้างล่าง อันนี้จะเหนื่อย สตาร์ตอัพตัวข้างบนปล่อยได้แล้วไปต่อได้ แน่นอนมีล้มหายตายจากเป็นวัฏจักรและธรรมชาติของเขา ผมคิดว่าถ้ามีตัวเล็ก ๆ สมมุติอีกสัก 5 ตัว ระดับ 1,000 ล้าน 1,500 ล้านที่เอ็กซิตได้ แบบสิงคโปร์ที่ระดับ 3,000 หรือมีตัว 10,000 ล้านเมื่อไร นักลงทุนจะกลับมาที่ประเทศไทยทันที ตอนนี้เขาไปมองอินโดนีเซียกับเวียดนาม แต่อินโดนีเซียแพงมาก แล้วตลาดก็ไม่ง่าย”

“กระทิง” บอกอีกว่า สิ่งที่ยากอีกอย่างในปีนี้ คือว่าการหาเงินจากกองทุน โดยปีที่แล้วทั้งภูมิภาคตกลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ดังนั้นในปีนี้จะเหนื่อยอีก หมายความว่าเมื่อเงินทุนน้อยลงก็จะมีการแย่งเงินทุนกันในระดับที่เข้มข้นขึ้น ทำให้นักลงทุนสามารถเลือกตัวดี ๆ ได้ และจะช่างเลือกมากขึ้นเพราะมีประสบการณ์จากการลงทุนตัวที่พลาดมากขึ้น

“สตาร์ตอัพหลาย ๆ ตัวที่ผมโค้ช หรือที่ผมลงทุน ผมก็บอกเขาว่า ปีนี้คือคุณต้องทำอย่างไรก็ได้ให้มีอินฟินิตรันเวย์ คือมีกำไร ต้องทำให้มีกำไรให้ได้ พอมีกำไรอย่างน้อยคุณประวิงเวลาไปได้สักแป๊บ รอจนเศรษฐกิจดีขึ้นมาก็จะพิกอัพขึ้นมาได้ แต่เงินทุนถึงแม้จะลดลง แต่ก็ยังเยอะ เงินที่ลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังเยอะอยู่ดี ถ้าของคุณดี สตาร์ตอัพคุณดีจริง สุดท้ายจะมีคนลงทุน”