“ศรีสวัสดิ์” ปรับวิธีตามหนี้ถี่ขึ้น ประคอง NPL-ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจซบ

“ศรีสวัสดิ์ฯ” ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจซมพิษ “โควิด-ภัยแล้ง” ตั้งเป้าคุมหนี้เสียไม่เกิน 5% ส่งพนักงานตามเก็บหนี้ถี่ทุก 1-2 วัน ให้ลูกค้าแบ่งชำระก้อนเล็ก ๆ เพื่อลดความเสี่ยงผิดนัดชำระ เผยลูกค้าค้างชำระ 1-3 เดือนไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วพุ่งถึง 21% ยันเป็นภาวะปกติของลูกค้าน็อนแบงก์ ตั้งเป้าปีนี้พอร์ตสินเชื่อเติบโต 20-30% จ่อขยายสาขาเพิ่มอีก 300-400 สาขา

นางสาวธิดา แก้วบุตตา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) เปิดเผยว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ จึงอาจต้องจับตาแนวโน้มหนี้เสียเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี บริษัทได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือลูกค้า โดยให้พนักงานเก็บหนี้เข้าไปติดตามสอบถามถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และหากมีความจำเป็นบริษัทจะพิจารณาพักชำระหนี้ หรือขยายเวลาการชำระหนี้ให้เป็นรายกรณี ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปี 2563 ไว้ที่ระหว่าง 3-5% ได้ จาก ณ สิ้นปี 2562 ที่บริษัทมี NPL อยู่ที่ 3.83%

“ช่วงไตรมาส 4/62 บริษัทมีการตัดขายหนี้ จึงทำให้หนี้เสีย ณ ปลายปีดูดีขึ้นจาก 3 ไตรมาสแรกที่มีหนี้เสียอยู่ราว 4.3% ส่วนปีนี้เราดูแลอย่างใกล้ชิดมาก พนักงานออกไปพบปะลูกค้าบ่อยขึ้น แต่ยังเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยเรามีการขอแบ่งชำระจากลูกค้าบ้างทุก ๆ 1-2 วัน เพื่อลดภาระแทนที่ลูกค้าจะต้องมาชำระคืนหนี้ก้อนใหญ่ ณ วันสิ้นเดือนทีเดียว แม้ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บหนี้อาจปรับเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่กระทบให้เพิ่มขึ้นแบบนัยสำคัญ”

ขณะที่สถานการณ์การค้างชำระหนี้ ณ สิ้นปี 2562 พบว่ามีกลุ่มลูกค้าที่ค้างชำระ 3 เดือนขึ้นไป (NPL) อยู่ที่ประมาณ 5% ทรงตัวจากไตรมาส 3/62 ส่วนกลุ่มลูกค้าที่มีการค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน (SM) อยู่ที่ 21% ปรับขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3/62 อยู่ที่ 19% อย่างไรก็ดี ถือว่าเป็นปกติวิสัยของลูกค้าธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคาร (nonbank)

“มั่นใจว่ากลุ่มลูกค้าที่ค้างชำระจะไม่ไหลกลายเป็นหนี้เสีย เนื่องจากมีการติดตามดูแลทวงถามหนี้ผ่านทั้งช่องทางสาขาและคอลเซ็นเตอร์”

สำหรับแผนดำเนินงานปี 2563 นี้ บริษัทเตรียมขยายสาขาเพิ่มอีก 300-400 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 4,080 สาขา โดยมองว่าในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีเช่นนี้ ลูกค้าจะมีความต้องการใช้เงินมากขึ้น ซึ่งการเปิดสาขาใหม่จะเน้นสาขาขนาดเล็กเพื่อขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความต้องการใช้เงิน และเอื้อต่อการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพิ่มเติม โดยงบฯลงทุนอยู่ที่ 30-60 ล้านบาท หรือเฉลี่ยราว 1-1.5 แสนบาทต่อสาขา

ส่วนเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อปีนี้ตั้งไว้ที่ 20-30% จากพอร์ตสินเชื่อคงค้างราว 4 หมื่นล้านบาท (ณ สิ้นปี 2562) โดยปัจจุบันสัดส่วนสินเชื่อแบ่งเป็นสินเชื่อรถยนต์ 50% สินเชื่อบ้านและที่ดิน 30% และอื่น ๆ เช่น รถจักรยานยนต์ นาโนไฟแนนซ์ และสินเชื่อบุคคล อีกราว 20%

นางสาวธิดากล่าวว่า ต้นปีที่ผ่านมาบริษัทได้จับมือกับพันธมิตรธุรกิจประกัน 2 ราย ได้แก่ บมจ.ชับบ์สามัคคีประกันภัย และกลุ่มบริษัท เจนเนอราลี่ ประกันชีวิต (ไทยแลนด์) เพื่อเป็นตัวแทนขายประกัน และคาดว่าจะได้รับค่าคอมมิสชั่นราว 200-300 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ บริษัทได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกัน เมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา