ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ทั่วโลกทุ่มเม็ดเงิน 10% ของจีดีพี รับมือโควิด-19 สูงเป็นประวัติการณ์

แฟ้มภาพ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองทั่วโลกทุ่มเม็ดเงิน 10% ของจีดีพี เข็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ-ฝ่าวิกฤตโควิด-19 เน้นลดภาระค่าใช้จ่ายครัวเรือน-อุดหนุนค่าจ้าง-เสริมสภาพคล่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ทั่วโลกยังคงส่อเค้ารุนแรงและมีแนวโน้มที่จะยังไม่สามารถควบคุมได้ในระยะอันใกล้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงเชิงลบสูงขึ้น และกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ ดังนั้น รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกจึงต่างออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเงินและการคลังเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงเงินมหาศาล

ทั้งนี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศเกิดการชะงักงัน เริ่มจากรายได้ของธุรกิจที่ลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบมายังการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนที่ลดลง นอกจากนี้ ตลาดทุนทั่วโลกยังเกิดความผันผวนอย่างมาก จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์หลักๆ ของโลกที่ปรับตัวลดลง สะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นและความเชื่อมั่นที่ลดลงอันเป็นผลจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ซึ่งมีผลกลับมายังรายได้ของครัวเรือนและธุรกิจอีกต่อหนึ่ง

ดังนั้น มาตรการการคลังจะเน้นไปที่การช่วยลดภาระรายจ่ายของครัวเรือนและธุรกิจ ตลอดจนการประคองให้ครัวเรือนและธุรกิจยังคงมีรายได้เข้ามา ในขณะที่มาตรการทางการเงินจะเน้นไปที่การเสริมสภาพคล่อง เช่น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการผ่อนปรนภาระหนี้สิน ซึ่งในหลายๆ ประเทศจะให้ความสำคัญกับมาตรการทางการคลัง เนื่องจากครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจได้กว้างกว่า และสามารถดำเนินการได้เร็วกว่ามาตรการทางการเงิน

โดยมาตรการเงินอุดหนุนค่าจ้าง (Job retention scheme) เป็นหนึ่งในมาตรการหนึ่งที่น่าสนใจ โดยรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายสำหรับค่าจ้างแก่สถานประกอบการ เพื่อไม่ให้ต้องปลดคนงาน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้ครัวเรือนได้อย่างตรงจุด โดยประเทศที่ดำเนินมาตรการนี้ ได้แก่ อังกฤษและเดนมาร์ก ซึ่งให้เงินอุดหนุน 75%-80% ของรายจ่ายค่าจ้างทั้งหมด นอกจากนี้ สิงคโปร์ก็ดำเนินมาตรการนี้เช่นกัน โดยให้เงินอุดหนุน 25% ของรายจ่ายค่าจ้างทั้งหมด เป็นระยะเวลา 9 เดือน

มาตรการให้เงินเปล่า (Cash handout) เป็นมาตรการที่มีการถกเถียงเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องใช้งบประมาณขนาดใหญ่ และกลุ่มเป้าหมายบางรายอาจจะยังมีความจำเป็นน้อยที่จะต้องได้รับเงิน อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่แทบทุกประเทศหยิบยกมาใช้ในระดับที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในสหรัฐฯ เป็นการให้พลเมืองชาวอเมริกันที่มีรายได้ในปี 2562 ต่ำกว่า 75,000 เหรียญฯ คนละ 1,200 เหรียญฯ และสำหรับครอบครัวที่มีบุตร จะเพิ่มเงินให้ครอบครัวละ 500 เหรียญ ต่อบุตร 1 คน ในสิงคโปร์ เป็นการให้พลเมืองชาวสิงคโปร์คนละ 300-900 ดอลลาร์สิงคโปร์ (209-627 ดอลลาร์สหรัฐฯ) อีกทั้งยังให้แรงงานรายได้น้อยอีกคนละ 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) รวมถึงให้แรงงานอาชีพอิสระอีกคนละ 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (696 ดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นเวลา 9 เดือน ในเกาหลีใต้ เป็นการให้เงินครอบครัวละ 1 ล้านวอน (820 ดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยประชาชนจะได้รับเงินช่วยเหลือดังกล่าวทุกครอบครัวยกเว้นกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 30% ของประเทศ สำหรับไทย เป็นการสนับสนุนเงินคนละ 5,000 บาท ต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม

มาตรการเสริมสภาพคล่อง (Liquidity injection) เป็นมาตรการทางการเงินที่นิยมนำออกมาใช้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ โดยการอัดฉีดสภาพคล่องสู่ตลาดเงินผ่านทางการเข้าซื้อพันธบัตร และสินทรัพย์ต่างๆ รวมถึงการทำธุรกรรมซื้อคืน (Repurchase agreement: Repo) ของธนาคารกลาง ถือเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาการขาดสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้น โดยเกือบทุกประเทศมีการดำเนินมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้มีการปล่อยสินเชื่อระยะสั้นแก่ธนาคารพาณิชย์ผ่านทางการทำ Reverse Repo Operations เป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญฯ

นอกจากนี้ เฟดยังได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรเอกชน รวมถึง Mortgage-backed securities กว่า 1.3 ล้านล้านเหรียญฯ ขณะที่ ธนาคารกลางอังกฤษได้ปล่อยสินเชื่อแก่ธนาคารพาณิชย์มูลค่า 3 แสนล้านปอนด์ อีกทั้ง ยังได้เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรเอกชนอีก 2 แสนล้านปอนด์ สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการเสริมสภาพคล่องวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดี โดยที่ธนาคารพาณิชย์สามารถนำหน่วยลงทุนเหล่านี้มาเป็นหลักประกันเพื่อขอสภาพคล่องกับธนาคารแห่งประเทศไทย

อนึ่ง ตัวเลขของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รวบรวมมา เป็นเพียงวงเงินที่ทางการระบุว่าจะนำออกมาใช้ ซึ่งบางมาตรการยังไม่มีการเปิดใช้หรืออัดฉีดจริง และการใช้เงินจริงอาจต่ำกว่าวงเงินที่ระบุไว้ โดยส่วนหนึ่งเป็นเพียงการรับรองการปล่อยกู้ (Loan guarantees) ซึ่งอาจไม่ได้นำออกมาใช้จริงทั้งหมด ขณะที่ มาตรการทางการเงินมักมีวงเงินค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพราะฐานสินทรัพย์ทางการในระบบเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่เช่นนั้น ทำให้ไม่สามารถตีความผลลัพธ์ของมาตรการกระตุ้นจากเพียงตัวเลขได้

นอกจากนี้ จำนวนวงเงินอาจจะไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเสมอไป ซึ่งประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในแก้ปัญหาได้ตรงจุดและการนำออกมาใช้ทันเวลา นอกจากนี้ ประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นยังขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาด รวมถึงขึ้นอยู่กับความเปราะบางของเศรษฐกิจแต่ละประเทศที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่น่าจะยังไม่สามารถควบคุมได้ในระยะเวลาอันใกล้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงเชิงลบที่สูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะหดตัวอย่างรุนแรงในปีนี้ ดังนั้น แม้ว่าหลายประเทศจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินที่สูงกว่า 10% ของ GDP แต่ยังคงต้องติดตามประสิทธิผลของมาตรการต่อไป โดยหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น คาดว่าทางการคงพร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมตามความจำเป็นในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ขนาดของงบประมาณที่นำมาใช้ในการดำเนินมาตรการต่างๆ ในแต่ละประเทศก็มีข้อจำกัดแตกต่างกันไป ทั้งฐานะการคลัง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวินัยการเงินการคลัง เป็นต้น

โดยสรุป การดำเนินมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาลนั้น ท้ายที่สุดแล้วอาจจะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจในหลายประเทศพ้นภาวะถดถอย แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้เศรษฐกิจหดตัวน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการใดๆ มารองรับ และที่สำคัญมากไปกว่านั้น มาตรการต่างๆ ที่นำออกมาใช้ในภาวะฉุกเฉินเช่นนี้ก็เพื่อช่วยให้กลไกทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้