“บัณฑูร” อำลาเก้าอี้ประธาน KBANK สู่เส้นทางนักอนุรักษ์ มั่นใจแบงค์แกร่งรับวิกฤตโควิด

หลังร่วมงานกับแบงก์รวงข้าวมาร่วม 40 ปี “บัณฑูร ลำซ่ำ” ตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่ง “ประธานกรรมการ” ธนาคารกสิกรไทย โดยยื่นขอลาออกเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา และได้ส่งไม้ต่อให้กับ “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” เป็น “รักษาการประธานกรรมการ” และ “ขัตติยา อินทรวิชัย” ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” ต่อไป

ซึ่งหลังการประกาศลาออก คณะกรรมการธนาคารได้ยกย่อง “บัณฑูร” เป็นประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus) ในฐานะที่สร้างคุณูปการอย่างอเนกอนันต์ให้แก่แบงก์แห่งนี้

สำหรับเหตุผลของการ “วางมือ” ครั้งนี้เป็นมาเป็นไปอย่างไร “บัณฑูร” ได้เปิดใจผ่านทาง Facebook Live ของธนาคาร เมื่อเวลา 11.00-12.00 น. วันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา

ยกกระแสพระราชดำรัสเตือนสติรับมือวิกฤต

โดย “บัณฑูร” เริ่มต้นด้วยการพูดถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ว่า ย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน ประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ทำให้ล่มสลายทั้งประเทศ ซึ่งตนจำได้ว่าทุกวันที่ 4 ธ.ค.ของทุกปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 จะออกประทับที่ศาลาดุสิตดาลัย เพื่อให้พระชาดำรัสการแก้ปัญหา

ทางออกต่าง ๆ ซึ่งหลังวิกฤตครั้งนั้นได้มีกระแสพระราชดำรัสถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยทรงแนะนำว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ขอให้แน่ใจว่า ถ้าวันหนึ่งพายุมา อย่าถึงกับล่มสลาย หมายความว่า อย่าทำจนสุดโต่งเกินตัว ทุกอย่างต้องมีการเตรียมการ เพราะโลกมนุษย์มีการผันแพรตามปัจจัยต่าง ๆมากมาย ถ้าไม่เตรียมการ ไม่ระมัดระวัง เมื่อวิกฤตมา เพื่อพายุมาก็จะเกิดความเสียหายมากมายเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน

ดังนั้น ต้องเตรียมรับมือ ว่าต่อไปพายุจะมารูปแบบไหน ทั้งเศรษฐกิจ โรคระบาด ซึ่งตอนนี้โรคระบาดเป็นพายุที่เกิดขึ้นทั้งโลก เพราะคนไม่สามารถทำมาหากินได้ปกติ หรือแม้แต่พายุด้านสิ่งแวดล้อม พายุความไม่สงบในสังคม ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนร่ำรวยและคนจน สิ่งเหล่านี้จะต้องเตรียมการรับมือไว้ทั้งสิ้น

“แม้ว่าตอนนี้วิกฤติเศรษฐกิจจะหายไป คนอาจจะลืม ๆ กันไป จึงต้องตระหนักและเตรียมการรับมือ โดยในส่วนธนาคารพาณิชย์ เสมือนฟื้นกลับมาได้ดี แต่โดยจริง ๆ แล้ว ทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลง มีความเสี่ยงตลอดเวลา เช่น ประชาชนที่ได้กำไรผ่านระบบการเงิน มีการลงทุนโน่นนี่ หากลงทุนในที่มีความเสี่ยงย่อมเกิดปัญหาแน่นอน” นายบัณฑูรกล่าว

แนะหลังพายุ “โควิด” สงบ ต้องสร้างงาน-สร้างอาชีพใหม่

เขา ชี้ว่า มาตรการภาครัฐต่าง ๆที่ทำออกมาเพื่อรับมือวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้นั้น เท่าที่เห็นมาตรการแก้ไขและรับมือของภาครัฐดูได้ผลเป็นลำดับ จึงคาดว่าน่าจะไปได้ดี และรองรับได้ขั้นหนึ่ง เพราะรัฐบาลไม่ได้กู้เงินจนเกินไป ยังพอไปได้ แม้ว่าระบบอาจจะตึงสักหน่อย ระบบธนาคารพาณิชย์ก็ตึงแต่ยังพอรับได้ และเงินลงทุนยังพอหาได้ ซึ่งไม่เหมือนปี 2540

“ส่วนมาตรการที่ใส่ไว้ จะครบหรือไม่นั้น ก็ไม่รู้ เพราะไม่รู้ว่าจะลากยาวแค่ไหน ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครั้งนี้ ถือว่าโครงสร้างเศรษฐกิจยังดี ธนาคารพาณิชย์ยังรับได้ แม้จะสูญเสียกำไรไปบ้าง แต่ยังรับได้” นายบัณฑูรกล่าว

“บัณฑูร” ระบุว่า การแก้ปัญหานั้น หากใช้วิธีเดิมไม่ได้ ก็จำเป็นต้องคิดหาวิธีใหม่ เช่น จะทำอย่างไรหลังจากพายุสงบ จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถกลับมาทำมาหากิน มีกินมีใช้ และ จะทำอะไรเป็นอาชีพ ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นพายุอีกลูกที่ก่อตัวขึ้นมา เพราะความรู้แบบเดิมใช้ไม่ได้ ดังนั้นต้องมีองค์ความรู้ใหม่ ต้องสนับสนุนการวิจัย เพื่อที่จะหาวิชาชีพที่เหมาะสมสำหรับคนไทยหลังพ้นวิกฤตไปแล้ว เพราะไม่เช่นนั้นก็จะแข่งขันสู้คนอื่นไม่ได้

“เรื่องโรคระบาดเป็นปัญหาที่หนักหนา ความรุนแรง สร้างความเสียหายต่อความเป็นอยู่ของประชาชาน ซึ่งก็หวังว่าจะแก้ทัน โดยจะเห็นว่าคนรับผิดชอบ บุคลากรทางการแพทย์ทำงานทุ่มเท เสี่ยงตายด้วยกันทุกคน ดังนั้น จึงต้องสนับสนุนคนเหล่านี้ให้สามารถทำงานได้ดี” นายบัณฑูรกล่าว

 

ยันไม่เล่นการเมือง เดินหน้าฟื้นฟู “ป่าต้นน้ำน่าน”

ส่วนชีวิตหลังวางมือจากการเป็นแบงก์เกอร์ “บัณฑูร” ยืนยันว่า ไม่เล่นการเมืองแน่นอน แต่ยังคงต้องทำงานร่วมกันกับภาครัฐ และภาคราชการ เพราะการทำโครงการต่าง ๆ จะต้องขออนุญาตภาครัฐ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ในการแก้ปัญหาฟื้นฟูป่าต้นน้ำจังหวัดน่าน โดยเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ตนจะไปทำให้เป็นรูปธรรมหลังวางมือจากวงการแบงก์ ซึ่งแรงจูงใจ คือ จะต้องทำอะไรที่เป็นประโยชน์ เพราะยังมีกำลัง สุขภาพแข็งแรงก็ทำไป

“ตอนนี้อายุย่าง 68 ปี ร่างกายอวัยวะทุกส่วนยังทำงานได้ดี จากเดิมเป็นแบงก์เกอร์มา 40 ปี จะมุ่งแต่เรื่องการเงิน แต่ครั้งนี้จะเน้นเรื่องเทคนิคการสร้างอาชีพโยงกับท้องถิ่นและป่า ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจ โดยจะต้องไปหาองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการเกษตร ว่าจะทำอย่างไรให้คนหากินอยู่กับป่าได้ ซึ่งเรื่องนี้ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยร่วมงานกับภาครัฐถะและเอกชน รวมถึงดึงธนาคารกสิกรไทยมาร่วมด้วย เนื่องจากพื้นที่ป่าถูกทำลาย เพราะชาวบ้านไม่มีอาชีพที่ยึด จำเป็นต้องทำลายป่าเพื่อหารายได้” นายบัณฑูรกล่าว

เขา บอกว่า จะต้องไปสร้างองค์ความรู้และสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ โดยปัจจุบันพื้นที่ป่าจังหวัดน่านถูกทำลายไปแล้วกว่า 28% ซึ่งหลังจากเริ่มเข้าไปฟื้นฟู พบว่า ชาวบ้านให้ความร่วมมือมากขึ้น แต่ก็ต้องมีองค์ความรู้ใหม่เรื่องการเกษตรที่จะต้องให้ชาวบ้านสามารถทำมาหากินได้

“เป็นอีกฉากหนึ่งของชีวิต โดยเรายังอิงอยู่กับธนาคาร เพราะยังต้องใช้ทรัพยากรของแบงก์ในการช่วยเหลือโครงการอยู่ แต่พูดได้เต็มปากว่าทำงานแบงก์มา 40 ปี ส่งต่อได้ดีไม่มีความกังวล โดยเราจะไปหาสิ่งใหม่ ๆ ทำ ถือว่าจบฉากเดิมแบบสบายใจ ซึ่งลูกก็บอกว่าไม่ต้องทำแล้วธนาคาร แต่คงได้เจอผมป้วนเปี้ยนอยู่ หากมีปัญหายังปรึกษาได้” นายบัณฑูรกล่าว พร้อมบอกว่า ตนอาจจะเขียนนิยายเรื่องใหม่ เพราะเรื่องเก่าพระเอกตายแล้ว โดยเรื่องใหม่ จะเน้นเรื่องการสร้างอาชีพ การแบ่งปันผลประโยชน์แบบใหม่

ส่งไม้ต่อ 2 หญิงแกร่งบริหาร “กสิกรไทย” อย่างมั่นใจ

ส่วนแบงก์กสิกรไทยในวันที่ไม่มี “บัณฑูร” นั้น เขายืนยันว่า ไม่มีปัญหา เพราะเชื่อมั่นในทีมงาน ทั้งการเลือก “กอบกาญจน์” มารับหน้าที่ประธานกรรมการ ก็เพราะเป็นคนเก่งมีประสบการณ์หลากหลายด้าน ทั้งภาครัฐและเอกชน มีมุมมองหลากหลาย และมีคุณธรรมจริยธรรม ส่วน “ขัตติยา” ที่แต่งตั้งเป็นซีอีโอ ก็เป็นคนเก่ง ใจดี มีเมตตา และมีความรู้ด้านการเงิน ซึ่งการส่งต่อการทำงานในภาวะวิกฤตเช่นนี้ สะท้อนว่ามีความเชื่อมั่น เพราะหากสามารถผ่านจุดนี้ไปได้ ไม่ว่าช่วงไหน ก็สามารถรับมือได้ ถือเป็นแบบทดสอบผู้บริหารอย่างหนึ่ง

เขา บอกด้วยว่า การที่ไม่มีคนในตระกูล “ลำซ่ำ” รับหน้าที่ต่อนั้น ก็เพราะมองไม่เห็นว่าใครจะขึ้นมา โดยบุตรของตนเองก็คงไม่ทำตรงนี้ หรือล่ำซำคนอื่น ก็แยกย้ายไปทำงานอยู่ส่วนอื่น ๆ ขณะที่ความเป็นเจ้าของในแบงก์กสิกร ถ้ามองในแง่การถือครองหุ้น ก็ถือได้ว่าหายไปตั้งเมื่อ 20 ปีก่อน ที่เกิดล่มสลายแล้ว

ฝากข้อคิด “อย่ามั่ว อย่าไม่คำนวณ อย่าชุ่ย และอย่าเหยียบตีนกัน”

นอกจากนี้ “บัณฑูร” ได้ฝากข้อคิด 4 ข้อ สำหรับพนักงานแบงก์กสิกร ว่า การทำงานต้อง “อย่ามั่ว อย่าไม่คำนวณ อย่าชุ่ย และอย่าเหยียบตีนกัน” โดยอย่ามั่ว คือ ความไม่ชัดเจน ทุกสิ่งอย่างจะต้องมีความชัดเจน, อย่าไม่คำนวณ คือ เพราะทุกอย่างจะมีตัวเลขกำกับ จะต้องดู ส่วนอย่าชุ่ย คือ ทุกอย่างต้องทำอย่างระมัดระวัง และ อย่าเหยียบตีนกัน คือ จะต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน

“ธนาคารต้องทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปล่อยสินเชื่ออย่างมีความหมาย ไม่สร้างความเสียงหายต่อสิ่งแวดล้อม สารพัดด้านของมนุษย์ ซึ่งพอเหลือกำไรบ้าง ซึ่งความไม่ยั่งยืน ทางธุรกิจสามารถถูกแทนที่ได้ตลอดเวลา หากมีข้อทะเลาะเบาะแว้งกันตลอดเวลา จะไม่สามารถสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจได้” ประธานกิตติคุณธนาคารกสิกรไทยกล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง