เปิด 6 อาชีพ ชวดรับเงิน “เราไม่ทิ้งกัน” คลังเดดไลน์เช็คคุณสมบัติ 24 ล้านคน 12 เม.ย.นี้

นายลวรณ แสงสนิท โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5พันบาท ล่าสุดจนถึงวันที่ 8 เมษายนมียอดลงทะเบียนแล้ว 24 .28 ล้านคน ขอยกเลิกไปแล้ว 3.7 แสนคน โดยในวันที่ 12 เม.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะเร่งคัดกรองยอดผู้ลงทะเบียนให้ครบ 24 ล้านคน โดยจะแยกออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ผ่านเกณฑ์ กลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์ และกลุ่มที่ต้องขอข้อมูลเพิ่ม

“ในกลุ่มที่ต้องขอข้อมูลเพิ่มนั้น ระบบจะส่งลิงค์ไปให้ทาง sms แล้วให้กดเข้าไปกรอกรายละเอียดตามที่กระทรวงการคลังระบุไว้ แต่หากตรวจสอบข้อมูลแล้วยังไม่ครอบคลุม คัดกรองรอบที่ 2 จะให้ไปรษณีย์ในพื้นที่ลงพื้นที่ตรวจสอบจริง และ คัดกรองรอบที่ 3 จะส่งให้หน่วยงานในเครือข่ายกระทรวงการคลัง อาทิ กรมธนารักษ์ คลังจังหวัด กรมสรรพากร ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้ามาช่วยตรวจสอบด้วย” นายลวรณ กล่าว

ขณะที่กลุ่มที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับเงิน 5 พันบาท มีทั้งหมด 6 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.อายุไม่ถึง 18 ปี 2.ไม่ได้ประกอบอาชีพ เช่นแม่บ้าน 3.ข้าราชการหรือบำนาญ 4.อยู่ในระบบประกันสังคม.5. เกษตรกร ขณะนี้กำลังพิจารณามาตรการมาช่วยเหลือเพิ่มเติม 6.นักเรียนหรือนักศึกษา โดยจะมี SMS หรืออีเมล แจ้งกลับไป ซึ่งสามารถตรวจสอบผลการลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.COM

ส่วนคนอายุ 60 ปีขึ้นไป หากเป็นอดีตข้าราชการได้รับบำนาญจากภาครัฐและไปทำอาชีพเสริมอื่น ไม่เข้าเกณฑ์รับเงิน 5 พัน แต่หากค้าขายมาตลอดชีวิตมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา จะสามารถตรวจสอบได้เร็วหากฐานข้อมูลอยู่แล้ว แต่ถ้าใครไม่มีฐานข้อมูลต้องใช้เวลาในการตรวจสอบระยะหนึ่ง

นายลวรณ กล่าวว่า จากข้อมูลที่ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่กระทรวงการคลังนำมาคัดกรอง พบว่า กลุ่มที่ควรได้รับเงินเยียวยา 5 พันบาทมีประมาณ 8 ล้านคน แบ่ง เป็นกลุ่มอาชีพอิสระมาตรา 39 มาตรา 40 ประมาณ 5 ล้านคน และที่ไม่อยู่ในระบบประกัน 3 ล้านคน เช่น ค้าขาย อาชีพอิสระ รับจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว ขณะที่แรงงานอิสระอยู่ในเป้าหมาย 8 ล้านคน ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับเงินทันที แต่ต้องดูว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หรือไม่


ฉะนั้น จะมีการหาตัวตน 8 ล้านคนให้เจอ คือ เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมายจริง ประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้จริง เป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ดูแลตัวเองไม่ได้ โดยจะดูแลผู้ประกอบการที่มีขนาดเล็ก เช่น ร้านขายก๊วยเตี๋ยว แผงขายของในตลาด จะเข้าข่ายเกณฑ์ เป็นต้น ส่วนผู้ประกอบการขนาดใหญ่ รัฐก็มีมาตรการออกมาดูแลโดยตรง เช่น ซอฟต์โลน พักชำระหนี้ เป็นต้น และการคัดกรองขั้นตอนสุดท้ายคือ อาชีพอิสระ โดยมีการประเมินอาชีพอิสระบางประเภทที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ค้าขายออนไลน์ โปรแกรมเมอร์ และรับจ้าง เช่น ก่อสร้าง เนื่องจากอาชีพนี้รัฐไม่ได้สั่งปิดธุรกิจโดยตรง อย่างไรก็ดี หากกลุ่มดังกล่าวเดือดร้อน อาจจะมีมาตรการอื่นดูแล