พ.ร.ก. 4 แสนล.พยุงตลาดหุ้นกู้ สะเทือน “วังบางขุนพรหม” 3อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติชักแถวหนุน โต้ทุกประเด็นดร.โกร่ง

ลายเป็นประเด็นร้อนสั่นสะเทือนวังบางขุนพรหม เมื่ออดีตผู้บริหาร และอดีตคณะกรรมการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำโดยดร.วีรพงษ์ รามางกูร ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับบทบาทของธปท. ที่จะออก “พระราชกำหนดการสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ภาคเอกชน” วงเงิน 4 แสนล้านบาท

ร้อนถึง 3 อดีตผู้ว่าการธปท. แท็กทีมออกมาสนับสนุน มาตรการของธปท. ที่จะเข้าไปดูแลเสถียรภาพของตลาดหุ้นกู้ ที่ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 3.6ล้านล้านบาท หรือราว 20% ของจีดีพีประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นการดูแลระบบเศรษฐกิจการเงิน

โดยร่าง พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว กำหนดให้จัดตั้ง “กองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน” (BSF) และให้ ธปท. สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุน เพื่อสนับสนุนให้การระดมทุนโดยการออก “ตราสารหนี้เอกชน” (หุ้นกู้)ในตลาดแรกทำงานได้เป็นปกติ โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อหุ้นกู้เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้บริษัทสามารถ rollover หุ้นกู้ต่อไปได้

พร้อมให้อำนาจ ธปท. ในการซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดรองในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษาเสถียรภาพของตลาดและระบบการเงิน

ดร.โกร่งนำทีมค้าน “ธนาคารกลาง” ลงทุนหุ้นกู้โดยตรง

โดยดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือดร.โกร่ง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ อดีตประธานคณะกรรมการ ธปท. พร้อมด้วยอดีตผู้บริหารและพนักงานระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่าง นายโอฬาร ไชยประวัติ , นายศิริ การเจริญดี , นายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล เป็นต้น ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และ ผู้ว่าการ ธปท. ไม่เห็นด้วยในบทบาทของธปท. ต่อประเด็นร่างพระราชกำหนดดังกล่าว โดยมองว่าขัดกับหลักการของธนาคารกลาง แต่หากสถานการณ์จำเป็นต้องทำ เห็นว่าควรโอนไปให้ธนาคารของรัฐเป็นผู้ดำนินการแทน

เนื้อหาจดหมายเปิดผนึกส่วนหนึ่งระบุว่า “ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรกระทำโดยตรง เพราะสามารถกระทำผ่านสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ และหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อรักษาหลักการที่ธนาคารกลางควรเป็นเฉพาะนายธนาคารของรัฐบาล และเป็นแหล่งเงินสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ (Lender of the last resort) และอาจจะขยายไปถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาลด้วยเท่านั้น ถ้าจำเป็น”

“การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าซื้อขายตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนโดยตรง โดยการแก้กฎหมาย จะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ธนาคารกลางอย่างธปท.ไปในทางเอื้อต่อเอกชนบางรายอย่างไม่โปร่งใสได้ในอนาคต เพราะกฎหมายอนุญาตให้ธปท.ใช้ดุลยพินิจในการให้ความอนุเคราะห์แก่บางรายและไม่ให้แก่บางราย โดยอ้างการจัดลำดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และเมื่อมีปัญหาเกิดการฟ้องร้อง ธปท.ก็จะต้องทำการฟ้องร้องบริษัทเอกชน ซึ่งจะทำให้เสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางได้”

 

3 อดีตผู้ว่าออกโรงหนุนธปท.ตั้งกองทุนพยุงตลาดบอนด์

ขณะที่ในเวลาต่อมาทั้ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุลและ ดร. ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธปท. ทั้ง 3 คน ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ สนับสนุนแนวทางของรัฐบาลและธปท.ในการออกพ.ร.ก. เพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้เอกชน

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ระบุว่า แนวทางการจัดตั้งกองทุน BSF ของ ธปท. ถือเป็นผลดีต่อระบบการเงินและตลาดหุ้นกู้ เพราะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนได้อย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันหุ้นกู้ถือเป็นตลาดค่อนข้างใหญ่ มีสัดส่วน ถึง 20% ของจีดีพี หากเกิดปัญหาขึ้นมาจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ การจัดตั้งกองทุนดังกล่าวจึงถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดเงิน

และการที่ ธปท. ออกมาสร้างความมั่นใจให้กับตลาดผ่านการตั้งกองทุนดังกล่าว ถึงที่สุดอาจทำให้ ธปท. ไม่ต้องใช้เงินในการเข้าไปซื้อหุ้นกู้ด้วยซ้ำ เพราะเมื่อตลาดมีความมั่นใจว่ามีคนดูแล ประชาชนก็กล้าที่จะลงทุน เ ธปท. ก็อาจไม่จำเป็นต้องเข้าไปรับซื้อ

ดร.ประสาร ย้ำภารกิจ “ธนาคารกลาง” ดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจการเงิน

ขณะที่ “ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ระบุว่า “การรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ เป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกของธนาคารกลาง “

พร้อมทั้งระบุว่า “ในภาวะที่ตลาดตราสารหนี้ผันผวนภายใต้วิกฤตโควิด ผมคิดว่า แบงก์ชาติได้ประเมินและพิจารณาแล้วว่า เที่ยวนี้ปัญหามีขนาดใหญ่มากและแบงก์ชาติคงเห็นสัญญาณแล้ว จำเป็นต้องหามาตรการมารองรับให้รวดเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น ในทางตรงข้ามหากไม่ทําอะไรเลย หรือทำช้าไม่ทันกาล อาจจะเกิดความเสียหายหนักและย้อนกลับมากระทบเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโดยรวมของประเทศ จึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลามไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นที่กำลังเปราะบางอย่างหนัก”

อย่างไรก็ดี คงต้องคิดต่อว่า การที่แบงก์ชาติจำเป็นต้องเข้าไปดูแลเสถียรภาพในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน มีความเสี่ยงอะไรบ้างที่ต้องระวัง เช่นที่หลายฝ่ายกังวลว่าอาจไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของธนาคารกลางในอดีต รวมทั้งอาจจะไม่ใช่ภารกิจที่ธนาคารกลางมีความชำนาญ

“เท่าที่มีโอกาสสอบถาม ผมคิดว่าทีมงานของแบงก์ชาติรับทราบข้อห่วงใย และเมื่อพิจารณาจากกรอบ พ.ร.ก.นี้ สะท้อนว่า แบงก์ชาติพยายามที่จะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างรัดกุมและบริหารความเสี่ยงในส่วนที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ เช่น จำกัดการใช้อำนาจไว้เฉพาะช่วงวิกฤตโควิด เท่านั้น และจำกัดวงเงินความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งมีการกำหนดเงื่อนไขเชิงคุณภาพของตราสารหนี้ที่กองทุนจะเข้าไปซื้อ สำหรับข้อห่วงใยเกี่ยวกับความเสี่ยงที่อาจมีการเลือกปฏิบัติ ก็อาศัยหลักความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล รวมทั้งมีการกำหนดหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติที่ชัดเจน การดำเนินการก็จะมีมืออาชีพเข้ามาช่วย”

ดร.ธาริษา ตอบทุกคำถามดร.วีรพงษ์

ดร.ธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ อีกท่านก็ออกมาสนับสนุนการออกพ.ร.ก.ดูแลตลาดตราสารหนี้ของ ธปท. โดยอธิบายว่า ธนาคารกลาง ต้องดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน นี่เป็นบทเรียนสำคัญของธนาคารกลางทั่วโลกจากวิกฤติเศรษกิจเอเซียในปี 1997 และเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ในวิกฤตทั้งสองครั้งนั้นไม่มีปัญหาเงินเฟ้อหรือปัญหาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารกลางดูแลอยู่แล้วตามบทบาทดั้งเดิม แต่ไม่ได้ดูแลเรื่องของเสถียรภาพของระบบ การสนับสนุนสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ในครั้งนี้ เป็นมาตรการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน เป็นมาตรการป้องกันซึ่งจะทำได้ง่ายกว่าและถูกกว่าการปล่อยให้เกิดปัญหาแล้วค่อยเข้าไปแก้ไขในภายหลังมาก

“ตามร่างพ. ร. ก. การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน กำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานและกำกับดูแลการทำงาน ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง การมีกฏเกณฑ์และเงื่อนไขขั้นต่ำที่ชัดเจนโปร่งใสจะเป็นเกราะป้องกันธปท.ได้ อีกทั้งพ. ร. ก. นี้ก็จะมีอายุเพียง 5 ปี จึงเป็นเรื่องของมาตรการชั่วคราวที่รองรับวิกฤติโควิด-19 ในครั้งนี้เท่านั้น”

สำหรับการป้องกันความเสียหายนั้น ทราบว่าธปท.จะกำหนดให้ผู้ออกตราสารหนี้ที่จะขอรับการสนับสนุนหาแหล่งเงินจากที่อื่นก่อนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ผู้ให้สินเชื่อก็จะต้องพิจารณาความเป็นไปได้ของบริษัทผู้ขอกู้อยู่แล้ว เป็นการเพิ่มความรอบคอบในการประเมินบริษัทผู้ขอการสนับสนุนอีกแรงหนึ่ง รวมทั้งจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าตลาด ทั้งหมดนี้เพื่อให้มั่นใจว่าธปท.จะเป็นเพียงผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย (Lender of last resort) และมีความรัดกุมในการพิจารณาให้การสนับสนุนด้านสภาพคล่องเพื่อลดโอกาสของความเสียหาย

ต่อกรณีที่ดร.โกร่ง เสนอว่า หากจำเป็นต้องเข้าไปดูแลตลาดหุ้นกู้ ก็ควรให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐดำเนินการแทน ดร.ธาริษา อธิบายว่า ปกติ บริษัทผู้ออกตราสารหนี้ไม่ได้เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินกลุ่มนี้ จึงไม่น่าจะมีความถนัด หรือความรวดเร็วที่จะให้พิจารณาสินเชื่อแก่ลูกค้ากลุ่มนี้ แต่ถ้าถามว่า ธปท. สามารถให้ผ่านธนาคารพาณิชย์ทั้งของรัฐและเอกชนได้หรือไม่ คำตอบคือได้ เพราะเป็นกลุ่มลูกค้าของเขาและมีความชำนาญอยู่แล้ว

“แต่ที่ธปท.ไม่ทำผ่านธนาคารพาณิชย์ ประเด็นสำคัญคือ เงินจากธปท.ต้องเป็นเงิน last resort ต้องมีดอกเบี้ยแพงกว่าตลาด ผู้ออกตราสารหนี้ต้องไปกู้จากแหล่งอื่น เช่น ธนาคารพาณิชย์หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่มาก่อนอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ดังนั้นถ้า ธปท. ให้ผ่านธนาคารพาณิชย์ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นsoft loan ตามที่คุณวีรพงษ์ เสนอ จะเป็นการอุ้มบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ เป็นจริยภัย (moral hazard) ไม่ใช่เป็นการให้กู้เพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบ และไม่ใช่เงินlast resort เพราะดอกเบี้ยถูกใครๆก็อยากได้เป็นลำดับแรก”

ถ้า ธปท. ทำผ่านธนาคารพาณิชย์ด้วยอัตราดอกเบี้ยเท่าตลาด ก็ไม่ได้เป็นเงิน last resort อีก เป็นเพียงการให้สภาพคล่องแก่ธนาคารพาณิชย์มากขึ้นในการปล่อย ซึ่งขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ถ้าจะปล่อยในอัตราแพงกว่าตลาดผ่านธนาคารพาณิชย์ก็ต้องเป็นคนละก้อนกับที่เขาปล่อยอยู่ดี ดูเหมือนว่าธนาคารพาณิชย์ปล่อยสองก้อน ในอัตราดอกเบี้ยต่างกัน

สรุปแล้วถ้าให้แบงก์ชาติดูแลการให้สินเชื่อ โดยมีคณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินร่วมพิจารณาต่อยอดจากการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ จึงน่าจะเป็นทางออกที่รัดกุมที่สุด จะได้กำหนดกติกาได้ชัดเจนว่านี่เป็นแหล่งเงินกู้ลำดับท้ายสุดจริงๆ

นอกจากนี้ดร.ธาริษา ระบุว่า “ประเด็นความกังวลว่า ธปท. จะสูญเสียความเป็นกลาง อาจจะถูกสั่งให้เข้าไปช่วยรายโน้นนี้ หรือเลือกที่รักมักที่ชัง ดิฉันเชื่อว่าคนทำงานในคณะกรรมการไม่ว่าจะมาจากธปท. หรือตัวแทนอื่นหรือผู้เชี่ยวชาญเขากลัวติดคุกเพราะเห็นตัวอย่างจากกรณีอดีตผู้บริหารธนาคารของรัฐแห่งหนึ่งที่มีพฤติกรรมปล่อยสินเชื่อตามใบสั่ง นอกจากนี้รัฐจะชดเชยความเสียหายให้ธปท.ในวงเงินหนึ่ง ซึ่งก็ต้องมีการตรวจสอบก่อนจะชดเชยอยู่แล้ว ถ้าไม่ทำให้ชัดเจนโปร่งใสจะเป็นงานที่เสี่ยงมาก จึงคิดว่าคณะกรรมการต้องป้องกันตัวเองโดยวางกฏเกณฑ์กติกาที่ชัดเจนมีความโปร่งใสอยู่แล้ว”