เปิด “8 ข้อห้าม” กองทุน BSF ตีกรอบผู้ออกหุ้นกู้ขอเงินอุ้มครบดีล

สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ชี้แจงกรอบการลงทุนและบริหารความเสี่ยงของกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ที่ตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563

โดยคณะกรรมการกำกับกองทุน BSF มี นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้ออกประกาศเรื่อง นโยบาย แนวทางการดำเนินงาน กรอบการลงทุน และกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 2563 เป็นต้นไป

เกณฑ์เข้มเอกชนขอใช้ BSF

โดยประกาศดังกล่าว กำหนดขอบเขตการให้ความช่วยเหลือ หรือตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ที่กองทุน BSF สามารถเข้าไปลงทุนได้ ดังนี้ 1) ต้องมีตราสารหนี้เดิมครบกำหนดและต้องการ rollover 2) ต้องจัดหาเงินทุนจากแหล่งอื่นให้ได้อย่างน้อย 50% ซึ่งประกอบด้วย จะต้องออกหุ้นกู้ใหม่ให้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างน้อย 20% และต้องจัดหาเงินทุนจากสถาบันการเงินอย่างน้อย 20% 3) ต้องเป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ดีและมีความสามารถในการชำระหนี้ โดยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรตติ้ง) ตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป

ขณะเดียวกันยังวางกรอบการลงทุนในหุ้นกู้ของกองทุน BSF ประกอบด้วย 1) การลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยผู้ออกตราสารหนี้รายใดรายหนึ่งต้องไม่เกิน 3% ของวงเงิน 4 แสนล้านบาท 2) การลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยผู้ออกตราสารหนี้ที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งต้องไม่เกิน 10% ของ 4 แสนล้านบาท 3) การลงทุนในหุ้นกู้ที่ออกโดยผู้ออกตราสารหนี้ต้องไม่เกิน10% ของหนี้สินทางการเงินของบริษัท และ 4) การบริหารสภาพคล่องของกองทุนโดยการฝากเงินหรือลงทุน ให้เป็นไปตามคณะกรรมการลงทุนกำหนด

ตีกรอบ 8 ข้อห้าม “ผู้ออกหุ้นกู้”

นอกจากนี้ ประกาศฉบับดังกล่าวยังระบุถึงเงื่อนไขที่ “ผู้ออกตราสารหนี้ที่กองทุนลงทุนต้องปฏิบัติตาม” ตลอดระยะเวลาที่กองทุนถือครองหุ้นกู้ หรือกว่าจะไถ่ถอนอีกด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย “ข้อห้าม” 8 ข้อด้วยกัน อาทิ ห้ามลดทุน ห้ามซื้อคืนหุ้นสามัญ ห้ามชำระคืนหนี้ก่อนครบกำหนด ห้ามให้โบนัสแก่กรรมการและผู้บริหารระดับสูง ห้ามจ่ายปันผล เป็นต้น

ตั้งรับครบดีลอีก 6.7 แสนล้าน

“วชิรา อารมย์ดี” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในช่วงเดือน พ.ค.-ธ.ค. 2563 รวมทุกประเภทธุรกิจ มีประมาณ 670,000 ล้านบาท ซึ่งแยกประเภทธุรกิจหลัก ๆ ได้ดังนี้ ธนาคารและสถาบันการเงิน 220,000 ล้านบาท, อสังหาริมทรัพย์ 115,000 ล้านบาท, อาหาร 65,000 ล้านบาท และพลังงาน 59,000 ล้านบาท เป็นต้น ทั้งนี้ แนวโน้มต้นทุนการออกหุ้นกู้มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น จากผลประกอบการของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับความต้องการลงทุนของนักลงทุนบางกลุ่มอาจปรับลดลง เช่น กองทุนประกันสังคม เป็นต้น เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในการชดเชยการว่างงาน หรือประชาชนทั่วไปที่อาจมีรายได้ลดลง ส่งผลให้มีเงินออมลดลง

“ในช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2563 นี้ มีหุ้นกู้ครบกำหนดรวมกันประมาณ 200,000 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรตติ้งสูงกว่า A- ขึ้นไป ประมาณ 68% ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดทั้งหมด และเป็นกลุ่ม BBB+ ถึง BBB- ประมาณ 22% ซึ่ง ธปท.จะมีการติดตามสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ที่จะมีการ rollover ของหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดอย่างใกล้ชิด”

BSF เป็นช่องทางสุดท้าย

นอกจากนี้ “วชิรา” กล่าวด้วยว่า แม้ว่าขนาดของกองทุน BSF ที่ตั้งไว้จะมีขนาด 4 แสนล้านบาท แต่ในเบื้องต้นคาดว่าความต้องการใช้เงินกองทุนจะไม่ได้สูงมาก เนื่องจากหลายบริษัทยังสามารถระดมทุนได้เอง ซึ่งหากระดมทุนจากตลาดตราสารหนี้ได้ไม่ครบทั้งจำนวน หลายบริษัทก็ยังมีช่องทางในการกู้เงินจากสถาบันการเงินอยู่ กองทุน BSF จึงน่าจะเป็นช่องทางสุดท้าย (last resort) ที่บริษัทจะเลือก เนื่องจากต้นทุนในการกู้ยืมจากกองทุน BSF จะสูงกว่าที่บริษัทจัดหาด้วยตัวเอง

ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท.คาดการณ์ว่า แนวโน้มความต้องการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ภายใต้ความผันผวนจากเหตุการณ์โควิด-19 อาจส่งผลให้บางบริษัทไม่สามารถระดมทุนจากตลาดนี้ได้เหมือนช่วงก่อนเหตุการณ์โควิด-19

“แต่หากในอนาคตสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ กลับมาดำเนินการได้ตามปกติ คาดว่าสถานการณ์การระดมทุนจะปรับดีขึ้นตามลำดับ” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท.กล่าว