กสิกรไทยอัดสินเชื่อดบ.0%-ให้เงินแพทย์ฟรี 4 พันบาท 45 รพ.

กสิกรไทย เดินหน้าช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขนาดเล็กได้รับผลกระทบโควิด-19 ผุดโครงการ “สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอี” หนุนค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงาน อัดงบ 1 พันล้านบาท ดึงธุรกิจขนาดเล็กขาดสภาพคล่องร่วมโครงการ 1 พันราย คาดรักษาคนงาน 4.1 หมื่นคน เฉลี่ยเงินเดือน 8 พันบาทต่อเดือน แถมใจป้ำให้เงินพิเศษ 4 พันบาทต่อเดือนบุคลากรทางการแพทย์นำร่อง 5 จังหวัดชายแดนใต้ 45 โรงพยาบาล เม็ดเงินรวม 300 ล้านบาท แนะเสริมองค์ความรู้-เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันก้าวผ่านวิกฤต

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติมผ่านโครงการ “สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอี” เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว และมีพนักงานไม่เกิน 200 คน โดยธนาคารจะสนับสนุนวงเงินสินเชื่อจำนวน 1,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0% ซึ่งผู้ประกอบการไม่ต้องชำระเงินกู้ 1 ปีแรก จากระยะเวลาผ่อนชำระ 10 ปี

ทั้งนี้ เงื่อนไขการสนับสนุนผ่านโครงการ “สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอี” ธุรกิจจะต้องมีผลประกอบการที่ดีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่มีปัญหาขาดสภาพคล่องชั่วคราว และมีการเดินบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคาร (Payroll) เนื่องจากวงเงินสนับสนุน 1,000 ล้านบาท จะต้องนำไปป็นค่าใช้จ่ายในด้านเงินเดือนเพื่อช่วยเหลือพนักงานและรักษาคนงานไว้ โดยธนาคารคาดว่าจะมีธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กเข้าข่ายโครงการ 1,000 ราย และมีพนักงานทั้งสิ้น 4.1 หมื่นราย เงินเดือนเฉลี่ย 8,000 บาทต่อเดือน โดยธนาคารจะต้องเห็นวงเงินสินเชื่อที่ให้เพื่อรักษาคนงานโดยการจ่ายเงินเดือนพนักงานผ่านบัญชี เพื่อให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตไปได้

“หากเราไม่ช่วยผู้ประกอบการเหล่านี้ เขาจะล้มไปเลย ซึ่งน่าเสียดาย เพราะที่ผ่านมาเขาดีมาโดยตลอด แต่มาเจอปัญหาในช่วงนี้แค่นั้น ซึ่งระบบสถาบันการเงินที่พอมีกำลังจะช่วยได้ก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือ และแม้ว่าปีนี้ทั้งปีจะไม่มีกำไรเลย หรือกำไรเป็น 0 ก็ยังรับได้ เพราะทุนเรายังอยู่ไม่ได้เสียหายเหมือนปี 40 แค่ไม่จ่ายเงินปันผลเท่านั้น แต่จะทำอะไรจะต้องคำนวณ อย่าทำโดยไม่คำนวณ และคุมเข้มเงินที่จะลงไปต้องไปในที่ที่ควรจะไป เพราะถ้ารั่วไหลจะเกิดปัญหา”

นอกจากนี้ มูลนิธิกสิกรไทย ได้เตรียมวงเงิน 300 ล้านบาท เปิดโครงการ “เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์” เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นมนุษย์งานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานด้านสาธารณสุขในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้รวบรวมรายชื่อโรงพยาบาลที่เข้าข่ายตามเกณฑ์จำนวน 45 แห่ง ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงแล้วยังประสบปัญหาการแพร่ระบาด

ทั้งนี้ ธนาคารจะนำร่องในโรงพยาบาลรัฐ จำนวน 45 แห่ง ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูง พบว่ามีบุคลากรรวม 5,083 คน โดยแต่ละคนจะได้รับเงินรายเดือนๆ ละ 4,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน โดยคาดว่าตลอดทั้งโครงการสามารถมอบเงินช่วยเหลือได้รวมกว่า 2 หมื่นคน ด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ทุ่มเทและเสียสละ แม้ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยง

“เราเริ่มจากภาคใต้ เพราะเป็นภาคใต้ที่คาดว่าจะมีการระบาดหนักสุด ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นด่านหน้าสุดในการสกัดไม่ให้ไวรัสระบาดหนัก ซึ่งเป็นอาชีพเสี่ยงภัย เราจึงมอบเงินเพิ่มเติม 4,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างกระบวนการคัดกรองชื่อ และคาดว่าภายในปลายเดือนจะสามารถจ่ายเงินสนับสนุนได้เป็นเดือนแรก”

สำหรับความคืบหน้าโครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยร่วมมือกับเจ้าของกิจการในการช่วยเหลือพนักงานที่มีเงินเดือนน้อยให้อยู่รอดได้ โดยมีจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี มีความคืบหน้าในการรักษาการจ้างพนักงานได้กว่า 2,000 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ 3,000 คน คิดเป็นเกือบ 70% ของเป้า และธนาคารยังช่วยลดดอกเบี้ยบนเงินกู้เดิมที่ผู้ประกอบการมีกับธนาคาร คิดเป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านบาท

นายบัณฑูรกล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับตัวของผู้ประกอบการหลังโควิด-19 จะเห็นว่าก่อนจะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจไทยไม่ได้แข็งแรงอยู่แล้ว มีอัตราการเติบโตทางเสรษฐกิจ (จีดีพี) น้อยกว่าประเทศรอบเพื่อนบ้าน ถือว่าไทยอ่อนแอระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในภาวะช่วงนี้ถือว่าเป็นภาวะไม่ปกติ เป็นภาวะศึกสงคราม จึงต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้รอดไปก่อน เพราะถ้าหากระยะสั้นไม่ฟื้น จะหวังระยะยาวไม่ได้
และหากสามารถก้าวข้ามระยะสั้นได้ ผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้บริหาร และภาครัฐ จะต้องประเมินสถานการณ์ให้ชัดเจน และหันมาเร่งยกระดับองค์ความรู้ ทั้งในด้านความรู้ใหม่ๆ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะด้านการค้าขายที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุค จะค้าขายแบบเดิมไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาไทยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวมากกว่า 20% ของจีดีพี ส่งผลให้ครั้งนี้ไทยได้รับผลกระทบหนักกว่าเพื่อน


“หากสถานการณ์ลากยาว โจทย์จะหนักหนากว่านี้ แต่เราเชื่อว่าหมอน่าจะแก้ทัน เพียงแต่อย่าการ์ดตก ซึ่งโครงการที่ธนาคารดำเนินมา 2-3 โครงการ หวังว่าจะช่วยซื้อเวลาให้กับลูกค้า ผู้ประกอบการ และลูกจ้างได้ เพื่อเวลาน้ำมาทุกอย่างจะกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ทุกอย่างจะต้องคำนวณให้ชัดเจน ไม่ว่าจะภาครัฐและเอกชน เพราะทุนมีจำกัด จึงต้องใช้ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ”