เบี้ยประกันชีวิต Q1/63 โต 1% “SCBLIFE” มาแรงขึ้น “อันดับ2”

สมาคมประกันชีวิตเปิดตัวเลขเบี้ยรับไตรมาสแรกปี”63 โต 1% ตะลึง “SCBLIFE” เบี้ยปีแรกโตพรวดกว่า 200% หนุนทั้งระบบเป็นบวก แถมขึ้นแท่นเจ้าตลาดเบอร์ 2 มาร์เก็ตแชร์เป็นรองแค่ AIA ฟากวงในธุรกิจหวั่นแค่ “ภาพลวงตา” เหตุตัวเลขยังไม่สะท้อนผลกระทบโควิด-19 แถมโตโดดเด่นรายเดียว คาดเบี้ยเดือน เม.ย.ภาพรวมพลิกกลับมาติดลบ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สมาคมประกันชีวิตไทย (TLAA) รายงานข้อมูลเบี้ยประกันชีวิตของช่วงไตรมาสแรกปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) พบว่า ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยรับรวมทั้งระบบอยู่ที่ 149,970.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ 148,583.7 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ (new business premium) จำนวน 41,287.3 ล้านบาท เติบโต 8.62% แยกเป็นเบี้ยประกันรับปีแรก 27,601.1 ล้านบาท เติบโต 17% และเบี้ยประกันรับจ่ายครั้งเดียว 13,686.2 ล้านบาท ลดลง 6% ส่วนเบี้ยประกันปีต่อไป (renewal year premium) จำนวน 108,683.6 ล้านบาท หดตัวลง1.71% ซึ่งมีอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตประมาณ 81%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาไส้ในของแต่ละบริษัท พบว่า แรงหนุนต่อเบี้ยประกันรับปีแรกที่พลิกให้เบี้ยทั้งระบบกลับมาเติบโตเป็นบวกได้ถึง 17% ในไตรมาสแรก หลังจากปีก่อนติดลบ 4% นั้น มาจากเบี้ยรับปีแรกของ บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIFE) ซึ่งมีเบี้ยรับสูงถึง 5,245.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 215% จากระดับ 1,664.9 ล้านบาท ซึ่งเบี้ยปีแรกของ SCBLIFE กระโดดขึ้นมาอยู่อันดับ 2 ของตลาด รองจากบริษัท เอไอเอ จำกัด ที่มีเบี้ยรับปีแรกจำนวน 6,002 ล้านบาท เติบโต 15% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

โดยข้อมูลเบี้ยรับรวมล่าสุด พบว่า 10 อันดับบริษัทประกันชีวิตที่มีเบี้ยรับรวมมากที่สุด ได้แก่ 1.บริษัท เอไอเอ (AIA) เบี้ยรับรวม 33,285.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ครองมาร์เก็ตแชร์ 22.19% 2.บมจ.ไทยประกันชีวิต (TLI) เบี้ยรับรวม 21,118.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ครองมาร์เก็ตแชร์ 14.08% 3.บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) เบี้ยรับรวม 17,125.94 ล้านบาท ลดลง 21% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ครองมาร์เก็ตแชร์ 11.42%

4.บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIFE) เบี้ยรับรวม 16,526.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ครองมาร์เก็ตแชร์ 11.02% 5.บมจ.กรุงไทยแอกซ่าประกันชีวิต (KTAL) เบี้ยรับรวม 15,195.70 ล้านบาท ลดลง 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ครองมาร์เก็ตแชร์ 10.13% 6.บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) เบี้ยรับรวม 10,056.92 ล้านบาท ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ครองมาร์เก็ตแชร์ 6.71% 7.บมจ.อลิอันซ์อยุธยาประกันชีวิต (AZAY) เบี้ยรับรวม 7,899.51 ล้านบาท ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ครองมาร์เก็ตแชร์ 5.27%

8.บมจ.เอฟดับบลิวดีประกันชีวิต (FWD) เบี้ยรับรวม 7,536.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ครองมาร์เก็ตแชร์ 5.03% 9.บมจ.พรูเด็นเชียลประกันชีวิต (PLT) เบี้ยรับรวม 6,092.50 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ครองมาร์เก็ตแชร์ 4.06% และ 10.บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต (OLIC) เบี้ยรับรวม 3,687.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ครองมาร์เก็ตแชร์ 2.46%

แหล่งข่าวจากสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ตัวเลขเบี้ยรับรวมที่เติบโตเป็นบวกในไตรมาสแรก อาจจะยังเป็นแค่ภาพลวงตา สำหรับธุรกิจประกันชีวิตในปีนี้ เพราะไม่สามารถอธิบายผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ได้ชัดเจนนัก เนื่องจากเป็นตัวเลขที่สิ้นสุดเพียงเดือน มี.ค. โดยยังต้องรอดูตัวเลขเดือน เม.ย.ออกมาก่อนด้วย ซึ่งคาดว่าจะเห็นเบี้ยประกันชีวิตกลับมาติดลบแน่นอน

“หากดูในไส้ในของเบี้ยไตรมาสแรกจริง ๆ จะพบว่า มีเพียงบริษัทเดียวที่เติบโตพุ่งแรง คือ SCBLIFE ดังนั้นภาพการเติบโตอาจจะหลอกตลาดอยู่ เพราะเบี้ยซิงเกิลพรีเมี่ยมและเบี้ยประกันปีต่อ ทั้งระบบก็ยังติดลบ” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ขายหุ้น SCBLIFE ที่ถืออยู่กว่า 65.97 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 99.20% ให้กับกลุ่มบริษัทเอฟดับบลิวดี (FWD Group) ของนายริชาร์ด ลี มหาเศรษฐีชาวฮ่องกง เมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา พร้อมทำสัญญาผูกขาดแบบ exclusive ในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) ด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ธนาคารไทยพาณิชย์รายงานผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ว่า มีรายได้จากธุรกิจขายประกันผ่านธนาคารเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวน 3,159 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากความร่วมมือกับกลุ่มเอฟดับบลิวดี ในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต

แหล่งข่าวระดับสูงในวงการประกันชีวิตรายหนึ่ง กล่าวว่า การเติบโตของ SCBLIFE คงมาจากยอดขายประกันออมทรัพย์เป็นหลัก เนื่องจากเป็นพอร์ตใหญ่ที่สุด ที่ขายผ่านธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) และตัวแทนบางส่วนที่มีอยู่ เนื่องจากในภาวะอัตราดอกเบี้ยลดลงอย่างมาก จึงคาดคะเนว่า SCBLIFE กำลังทำ Repricing โปรดักต์ใหม่ให้สอดรับกับดอกเบี้ยที่ต่ำลง ก่อนจะปิดการขายแบบเก่าก็เป็นไปได้ว่าสินค้าประเภทออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ อาจจะมีการทิ้งทวนขายและทำให้จำนวนเบี้ยเข้ามามาก

ด้านนายเดวิด โครูนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCBLIFE ให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงต้นปี 63 ว่า ในอดีตบริษัทค่อนข้างโฟกัสพอร์ตประกัมออมทรัพย์เป็นหลัก ปัจจุบันมีพอร์ตดังกล่าวสูงกว่า 90% ซึ่งทั้งหมดขายผ่านแบงก์ ฉะนั้นปัจจัยสำคัญคือต้องเร่งปรับพอร์ตสินค้าเน้นไปขายสินค้าความครองชีวิต ประกันสุขภาพ วางแผนมรดกหรือการศึกษาบุตร และการวางแผนเกษียณอายุ ซึ่งขณะนี้ได้เข้าไปบุกในเส้นทางการดูแลวางแผนทางการเงินของลูกค้าในการซื้อประกันชีวิต โดยเฉพาะการวางแผนการศึกษาของเด็กๆ ให้แต่ละครอบครัววางแผนทางการเงินการศึกษาให้เหมาะสม

“เป้าหมายที่จะลดพอร์ตประกันออมทรัพย์ในปีนี้ เราอยากจะให้เป็นลักษณะของเข็มตีกลับข้าง คือ พอร์ตโปรเทคชั่นเพิ่มสูงขึ้นมากๆ ซึ่งการแบกต้นทุนพอร์ตออมทรัพย์ตรงนี้เชื่อว่าจะจัดการได้ เนื่องจากค่อนข้างมีความชำนาญในการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้ได้ยกเลิกแบบออมทรัพย์ไปแล้วบ้าง และปีนี้ก็ยังอยู่ในกระบวนการ คาดว่าสัก 6-12 เดือนน่าจะได้เห็นรายละเอียด ” นายเดวิดกล่าว