“เจ้าสัวเจริญ” รวบ 4 ไลเซนส์บริษัทประกัน สยายปีก “เครือไทยฯ”

สมรภูมิธุรกิจประกันภัยในเมืองไทยปัจจุบัน แม้จะมีอยู่มากมายหลายบริษัท ทว่า หากเจาะลึกเข้าไปในโครงสร้างแต่ละบริษัทแล้ว ผู้ที่ครองส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ส่วนใหญ่ จะเห็นได้ว่าอยู่ในมือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ทั้งกลุ่มบริษัทข้ามชาติ และคนไทยไม่กี่ตระกูล

ทั้งนี้ หลายบริษัทประกันภัยที่ดำเนินงานภายใต้กลุ่มเครือเดียวกัน ในส่วนที่เป็นบริษัทของคนไทย อาทิ บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (TGH) ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ภายใต้การบริหารของ นายโชติพัฒน์ และนางอาทินันท์ พีชานนท์ (ลูกสาวคนโตเจ้าสัวเจริญ), กลุ่ม “ตระกูลไชยวรรณ”, กลุ่ม “ตระกูลโสภณพนิช” และกลุ่ม “ตระกูลล่ำซำ” ส่วนใหญ่จะใช้โมเดล “เถ้าแก่” ในการทำธุรกิจประกัน ทำให้มีอำนาจการต่อรอง สามารถดำเนินธุรกิจได้บนต้นทุนที่ถูกลง

“ตระกูลดัง” ครองไลเซนส์

สำหรับ “ตระกูลไชยวรรณ” ถือไลเซนส์ธุรกิจประกันอยู่ทั้งสิ้น 3 บริษัท คือ บมจ.ไทยประกันชีวิต, บมจ.ไทยประกันสุขภาพ และ บมจ.ไทยไพบูลย์ประกันภัย

ขณะที่กลุ่ม “ตระกูลโสภณพนิช” มี 3 ไลเซนส์ คือ บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI), บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA), บมจ.ไอโออิกรุงเทพประกันภัย

นอกจากนี้ ยังมีการเข้าไปถือหุ้น บมจ.จรัญประกันภัยอยู่ 4.82% ส่วนกลุ่ม “ตระกูลล่ำซำ” มีธุรกิจประกันในมืออยู่ 2 บริษัท คือ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (MTL) และ บมจ.เมืองไทยประกันภัย (MTI)

ฟากกลุ่ม “เครือไทย โฮลดิ้งส์” ของ “เจ้าสัวเจริญ” ช่วงที่ผ่านมา นับเป็นกลุ่มธุรกิจประกันที่มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมากที่สุด โดยหลังจากนำบริษัทเครืออาคเนย์เข้าเทกโอเวอร์ บมจ.ไทยประกันภัย (TIC) เมื่อปี 2561 และต่อมาปี 2562 ก็ได้นำ บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ (TGH) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ทางอ้อม (backdoor listing) และถอน “TIC” ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา ก็ขยับเข้าไปเทกโอเวอร์ บมจ.อินทรประกันภัย (INSURE) อีกบริษัทหนึ่ง ด้วยการใช้บริษัท รถดีเด็ด ออโต้ (RDD) ที่ “เครือไทย โฮลดิ้งส์” ถือหุ้นอยู่ 99.99% เข้าไปเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ “INSURE” โดยสมัครใจ จำนวน 10 ล้านหุ้น มีระยะเวลาทำคำเสนอซื้อระหว่าง 8 เม.ย.-15 พ.ค. 2563 ในราคาหุ้นละ 35.00 บาท พร้อมระบุว่า หากได้หุ้นเกิน 90% ก็จะมีการ “เพิกถอน” หลักทรัพย์ “INSURE” ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯต่อไป

“เจริญ” แยกบทบาท 4 บริษัท

แหล่งข่าวจากวงการประกันภัย กล่าวว่า การเข้าไปเทกโอเวอร์กิจการ บมจ.อินทรประกันภัยดังกล่าว จะทำให้ “เครือไทย โฮลดิ้งส์” มีธุรกิจประกันภัยในมือ 4 บริษัทด้วยกัน คือ บมจ.อาคเนย์ประกันชีวิต, บมจ.อาคเนย์ประกันภัย, บมจ.ไทยประกันภัย และ บมจ.อินทรประกันภัย ซึ่งคาดว่าจะมีการแบ่งบทบาทการทำธุรกิจกันอย่างชัดเจนมากขึ้น

“แผนธุรกิจในส่วนประกันวินาศภัยนั้น จะมีอาคเนย์ประกันภัยขายผ่านระบบตัวแทนแบบดั้งเดิม ขณะที่ไทยประกันภัยจะเน้นดิจิทัลอินชัวเรอร์ ส่วนอินทรประกันภัยจะเป็นประกันสินเชื่อรถยนต์ ด้านธุรกิจประกันชีวิตก็มีอาคเนย์ประกันชีวิต” แหล่งข่าวกล่าว

คลังหนุน AIG ทำธุรกิจในไทยต่อ

ส่วนกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจประกันภัยในไทย หลายแห่งก็มีการถือครองหลายไลเซนส์เช่นกัน อาทิ “กลุ่มเอไอจี” (AIG) สัญชาติอเมริกัน ที่เป็นเครือเดียวกันกับ “นิวแฮมพ์เชอร์อินชัวรันส์” ซึ่งล่าสุด ทั้ง 2 บริษัทจะควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน โดยการทำธุรกิจในไทย ต้องขออนุมัติจาก รมว.คลังในเรื่องการถือหุ้นด้วย ทั้งนี้ ล่าสุดมีข่าวว่า รมว.คลังได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังมี “กลุ่มเอ็มเอส แอนด์ เอดี อินชัวรันซ์ กรุ๊ป” (MS&AD) จากญี่ปุ่น ที่มีธุรกิจประกันอยู่ในไทย 3 บริษัท คือ บมจ.เอ็ม เอส ไอ จี ประกันภัย (MSIG), บมจ. มิตซุยสุมิโตโมอินชัวรันซ์ และ บมจ.ไอโออิกรุงเทพประกันภัย ตลอดจน “กลุ่มชับบ์” (CHUBB) จากอเมริกา ที่มีบริษัทย่อยในไทย 3 รายเช่นกัน คือ บมจ.ชับบ์สามัคคีประกันภัย, บมจ.ชับบ์ไลฟ์แอสชัวรันซ์ และถือหุ้น บมจ.เอซ ไอเอ็นเอ โอเวอร์ซีส์ อินชัวรันซ์

จ่อเปิดไลเซนส์รับเทรนด์ดิจิทัล

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า โครงสร้างธุรกิจประกันภัยในไทย ผู้ที่ถืออยู่หลายไลเซนส์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มตระกูลคนมีเงิน ซึ่งคิดว่าคงไม่ได้เก็บไว้หวังขายทำกำไร เพียงแต่อาจจะรอเวลาที่จะเปลี่ยนแนวธุรกิจ หรือรอจังหวะขายพอร์ตงานออกไป ซึ่งปัจจุบันธุรกิจก็เปลี่ยน เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้าจากโบรกเกอร์ไม่ใช่ลูกค้าของบริษัทโดยตรงอีกต่อไป

นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ในอดีตไลเซนส์ธุรกิจประกันภัย ถือว่าค่อนข้างมีราคา แต่ในอนาคตจะต่างไป ดังนั้น การเก็บไลเซนส์ไว้อาจจะเป็นความคิดของคนยุคเก่าที่ต้องการเก็บไว้จะขายทำกำไร อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหน่วยกำกับธุรกิจประกันภัยทั่วโลก รวมไปถึงสำนักงาน คปภ.เอง มีแนวคิดศึกษา “ดิจิทัลไลเซนส์” เพราะเป็นเทรนด์การทำธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำ และสนับสนุนการควบรวมกิจการ เพื่อให้บริษัทประกันในไทยมีความเข้มแข็ง


ถึงตอนนั้น คงต้องมาดูกันอีกทีว่าสมรภูมิธุรกิจประกันภัยในเมืองไทยจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากปัจจุบันมากน้อยเพียงใด