แบงก์ตั้งรับสิ้นสุดพักหนี้ 6 เดือน ผวาลูกค้านับล้าน “จ่ายไม่ไหว”

บัตรเครดิต

แบงก์หวั่นสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ 6 เดือน ลูกหนี้นับล้านรายยังจ่ายไม่ไหว-ผิดนัดชำระพุ่ง ทุกสถาบันการเงินเตรียมมาตรการรับมือแนะออก พ.ร.ก. เพิ่มกลไกพิเศษ “รวมหนี้” “กสิกรไทย” พร้อมอุ้มลูกค้าต่อตามอาการ เผยปรับโครงสร้างหนี้-เติมสภาพคล่องช่วยลูกค้าแล้วกว่า 7 แสนล้าน “กรุงศรีฯ-ยูโอบี” เล็งพักเงินต้นต่ออีก 6 เดือน เปิดข้อมูล ธปท. ลูกค้าพักหนี้ 15 ล้านราย 6.68 ล้านล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือมาตรการทางการเงินต่าง ๆ ทั้งการเลื่อนชำระ-พักเงินต้น/ดอกเบี้ย รวม 15.11 ล้านราย คิดเป็นยอดหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.68 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อรายย่อย 3.81 ล้านล้านบาท สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี 2.16 ล้านล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 0.71 ล้านล้านบาท

ผวาหมดมาตรการ “หนี้เสียพุ่ง”

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินของรัฐเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถาบันการเงินต่างมีความกังวลว่า บรรดาลูกหนี้แบงก์ต่าง ๆ ที่ได้เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งในเดือน ก.ย. 2563 จะครบมาตรการเลื่อนการชำระหนี้แล้ว ลูกค้าเหล่านี้จะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้เป็นปกติหรือไม่ เนื่องจากผลกระทบโควิดยังไม่ได้หมดไป ทำให้ลูกค้าบางรายอาจชำระหนี้ไม่ได้ ส่งผลให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น ช่วงไตรมาส 4 ปัญหาหนี้เสียจะกลับมาเป็นปัญหาใหญ่

“พอครบ 6 เดือนที่พักชำระไปแล้ว ลูกหนี้เหล่านี้จะอยู่รอดได้อย่างไร โดยเฉพาะลูกหนี้บุคคลที่บางรายเป็นหนี้หลายประเภท มีเจ้าหนี้หลายรายช่วงที่เลื่อนชำระ ไม่ต้องจ่ายก็จริง แต่ดอกเบี้ยก็ยังเดินอยู่ สุดท้ายหากมีคนกลับมาจ่ายหนี้ได้แค่ประมาณ 10% จากที่มีลูกหนี้เข้ารับความช่วยเหลือกว่า 15 ล้านราย แล้วที่เหลือถ้าจ่ายไม่ได้จะทำอย่างไร อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่” แหล่งข่าวกล่าว

ชงออก พ.ร.ก.พิเศษรวมหนี้

แหล่งข่าวระบุว่า การแก้ปัญหาแบงก์อาจใช้วิธีการเลื่อนเวลาชำระหนี้เพิ่มเติมอีก 3-6 เดือน แต่หากจะแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จอาจจะต้องมีการออกกฎหมายพิเศษ อาจจะเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อให้ลูกหนี้แต่ละรายสามารถรวมหนี้ที่มีอยู่กับหลายสถาบันการเงิน หรือสินเชื่อหลายประเภทเข้าเป็นก้อนเดียวกันได้ แล้วแก้หนี้ทั้งหมดไปพร้อมกัน เนื่องจากลูกหนี้บางรายเป็นหนี้หลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีอัตราดอกเบี้ยไม่เท่ากัน รวมถึงปรับบทบาทของบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ให้เข้ามาเป็นกลไกดำเนินการเรื่องนี้ได้

“ปัญหาตอนนี้ไม่ใช่ปกติ เกิดจากโควิด คนรายได้ถดถอย ชำระหนี้ไม่ได้ ดังนั้น เอเอ็มซีต้องมีอำนาจในการรวมหนี้ จะแค่แก้แต่หนี้ที่โอนมาคงไม่ได้ ต้องมีบทบาทช่วยฟื้นฟู ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้เหล่านี้ด้วย โดยหนี้ส่วนบุคคลควรจะต้องหยุดดอกเบี้ยให้หมด แล้วก็ต้องมีซอฟต์โลนเข้ามาช่วยเพื่อให้ผ่านไปได้ระยะหนึ่ง ซึ่งหากคนที่ยังสามารถจ่ายได้ก็ให้จ่าย เพื่อลดเงินต้นลงไป” แหล่งข่าวกล่าว

“ประสาร” แนะรัฐบาลรับมือ

ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะกรรมการ คณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้สัมภาษณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ตอนนี้ธุรกิจเหมือนถูกแช่แข็งไว้ 6 เดือน (เลื่อนการชำระหนี้) แต่เมื่อครบ 6 เดือนแล้ว ทุกอย่างจะกลับมาเดินต่อ ซึ่งก็คงต้องมีข้อเสนอต่อรัฐบาลว่าจะมีวิธีการดูแลรับมืออย่างไร เมื่อภาระหนี้กลับมา แต่รายได้ผู้ประกอบการยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ขณะที่โจทย์รัฐบาลการจะนำเศรษฐกิจกลับมาอย่างไรไม่ง่าย เพราะเศรษฐกิจไทยมีปัญหาตั้งแต่ก่อนโควิดแล้ว

กสิกรฯเร่งปรับโครงสร้างหนี้

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เชื่อว่าทุกธนาคารต้องคิดแผนไว้รองรับทั้งในส่วนของการดำเนินธุรกิจต่อหลังโควิด-19 การช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ และกลุ่มที่เริ่มฟื้นตัวให้กลับมาเป็นปกติ สำหรับกสิกรไทยพร้อมดูแลลูกค้ากลุ่มที่ชำระหนี้ไม่ไหวต่อ โดยพิจารณาตามความรุนแรงของอาการเป็นราย ๆ ไป ซึ่งการช่วยเหลือไม่จำเป็นต้องประกาศเป็นมาตรการแบบเหมารวม เพราะอาการของลูกค้าแต่ละรายไม่เหมือนกัน มีข้อดี-ข้อเสียต่างกัน

“สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถไปต่อได้ เพราะไม่มีรายได้ กลุ่มนี้การจะกลับมาฟื้นตัวต้องปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนกลุ่มที่ยังพอสามารถชำระหนี้คืนได้ จะเป็นเรื่องการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ ทั้งนี้ ธนาคารอยู่ระหว่างวิเคราะห์ data analytics เพื่อประเมินลูกค้า โดยช่วงที่ผ่านมาธนาคารก็ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจผ่านมาตรการต่าง ๆ ไปแล้ว คิดเป็นวงเงินกว่า 7 แสนล้านบาท”

นายสุรัตน์กล่าวว่า ที่ผ่านมาในบางมาตรการ ธนาคารก็ช่วยลูกค้ามากกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของ ธปท. เช่น ลดดอกเบี้ยบัตรเครดิตเหลือ 1.5% จากที่มาตรการกำหนด 3% อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญก็คือความคล่องตัวของธนาคาร ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้ช่วยผ่อนคลายหลักเกณฑ์ ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการจดจำนองหลักประกัน ซึ่งช่วยในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ง่ายขึ้น รวมถึงกฎกติกาการตั้งสำรอง เป็นต้น

“ทุกธนาคารคิดไว้อยู่แล้วว่า ต้องมีลูกค้าที่ต้องช่วยเหลือต่อ เพราะโควิดถือเป็นช็อกที่ไม่เคยเจอ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการชุดใหญ่ออกมาตอนแรก แต่หลังจากนี้คงต้องหาวิธีดูแลตามผลกระทบของลูกค้าเป็นรายไป เพราะบางคนเริ่มกลับมามีรายได้ แนวทางหลัก ๆ จะเป็นเรื่องปรับโครงสร้างหนี้และการฟื้นฟู ปล่อยสินเชื่อใหม่”

นายสุรัตน์กล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เนื่องจากธนาคารต้องการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายย่อยจริง ๆ จึงใช้เวลานานในการสำรวจลูกค้าแบบปูพรม ซึ่งปัจจุบันธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนให้กับลูกค้าไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท ยอดปล่อยกู้เฉลี่ยรายละ 15 ล้านบาท โดยต่ำสุดจะอยู่ที่ 2 แสนบาทต่อราย

พักเงินต้นต่ออีก 6 เดือน

นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจรายย่อย และเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ได้เตรียมมาตรการไว้รองรับในกรณีที่มาตรการพักชำระหนี้ครบกำหนดในเดือน ก.ย.นี้ และลูกค้ายังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ โดยให้ทีมงานติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป เพื่อเช็กความสามารถในการชำระหนี้ เบื้องต้นหากลูกค้ายังไม่สามารถชำระหนี้ได้ ธนาคารอาจจะให้ชำระดอกเบี้ยอย่างเดียวต่ออีก 6 เดือน อย่างไรก็ดี การช่วยเหลือแต่ละรายจะมีรายละเอียดแตกต่างกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรุงศรีฯได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าโดยการพักชำระหนี้ ลูกค้าสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบุคคล เป็นเวลา 6 เดือน ส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีและรายย่อยก็พักชำระหนี้ 6 เดือนอัตโนมัติ ก็ช่วยเหลือลูกค้าได้ระดับหนึ่ง โดยในช่วงต้นมีลูกค้าเข้ามาขอความช่วยเหลือวันละ 1,000 กว่าราย แต่ปัจจุบันเหลือวันละ 100 กว่ารายเท่านั้น

UOB อุ้มพักหนี้ 12 เดือน

ด้านนางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า เหลือเวลากว่า 2 เดือนที่มาตรการพักหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ยจะครบกำหนด โดยช่วงนี้ธนาคารได้ให้เจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์เริ่มติดตามลูกค้าที่เข้าโครงการ หากรายใดยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ธนาคารก็พร้อมช่วยเหลือประคับประคองเป็นรายกรณีไป ตามความเหมาะสมและปัญหาของแต่ละราย

“ก่อนหน้าที่ ธปท.จะมีแนวทางให้พักชำระหนี้ 6 เดือน ธนาคารได้มีการพูดคุยกับ ธปท. เพื่อจะทำมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าเป็นเวลา 12 เดือนอยู่แล้ว และมีลูกค้าจำนวนหนึ่งได้เข้า โครงการพักชำระหนี้ 12 เดือนแล้ว ซึ่งก็พบว่าช่วยให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีกระแสเงินสดสามารถดูแลพนักงาน คู่ค้า และเจ้าหนี้การค้าได้ และจากที่รัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์ เชื่อว่าลูกค้าน่าจะเริ่มกลับมาทำธุรกิจได้บ้าง แม้ว่าจะยังไม่ปกติ แต่น่าจะบรรเทาความเดือดร้อน ทำให้ธุรกิจมีสภาพคล่องเข้ามาบ้าง” นางสยุมรัตน์กล่าว

แนวโน้มเอ็นพีแอล Q2 พุ่ง

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยกลุ่มงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ในไตรมาส 2/2563 มีทิศทางขยับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.45-3.55% จากไตรมาส 1 อยู่ที่ 3.04% โดยสินเชื่อที่มีปัญหาและเห็นการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลชัดเจนจะเป็นสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี จากไตรมาสแรกที่อยู่ที่ 4.81% รวมทั้งสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อรถยนต์ก็มีแนวโน้มเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกเอ็นพีแอลอยู่ที่ 4.04% และ 2.09% ตามลำดับ