พ้นโควิดได้เวลาหุ้น IPO “กสิกรไทย” เข็น PTTOR เข้าเทรด

พงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล
สัมภาษณ์พิเศษ

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 สร้างความผันผวนต่อตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลก แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจระดมทุนของบริษัทต่าง ๆ ทำให้ช่วงครึ่งทางแรกของปี 2563 หลายบริษัทตัดสินใจเลื่อนแผนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯออกไป ส่วนแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลังที่ประเทศกำลังคลายล็อกดาวน์จะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “พงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล” กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ที่มักจะมี “บิ๊กดีล” มา “เขย่า” ตลาดหุ้นอยู่เสมอ แถมล่าสุดเพิ่งคว้ารางวัลยอดเยี่ยมด้านวาณิชธนกิจในประเทศไทย (Best Investment Bank) และรางวัลยอดเยี่ยมการให้บริการด้านธุรกิจตลาดทุนในประเทศไทย (Best ECM House) จากนิตยสารไฟแนนซ์เอเชีย (FinanceAsia) ในปีนี้ มานำเสนอ

หลัง “โควิด” ได้เวลาหุ้น IPO

โดย “พงศ์ศักดิ์” มองว่า แนวโน้มภาวะตลาดหุ้นในช่วงครึ่งปีหลังยังค่อนข้างประเมินได้ยาก เนื่องจากการปรับขึ้นของดัชนีมีสาเหตุมาจากสภาพคล่องที่ล้นเข้ามาในระบบ จากเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางต่าง ๆ จึงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปว่าจะอยู่นานหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันภาวะตลาดหุ้นมักไม่ผูกโยงกับภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง จึงผันผวนค่อนข้างมาก

ขณะที่แนวโน้มความต้องการใช้เงินของธุรกิจท่ามกลางวิกฤตนั้น ข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ปีนี้มีหุ้น IPO (เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) เตรียมเข้าระดมทุนกว่า 20 บริษัท ถือว่าไม่น้อย ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 มองว่ายังมีบริษัทที่ยังได้รับประโยชน์ หรือได้รับผลกระทบไม่มากอยู่ ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังพร้อมที่จะเข้าระดมทุนได้ตามแผน

“แต่บางรายที่ได้รับผลกระทบหนัก อย่างบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เราก็ต้องแนะนำให้เขารอจังหวะ ซึ่งในกลุ่มนี้แต่ละบริษัทก็ไม่เหมือนกัน บางรายอาจมีความยืดหยุ่นสูง ก็ปรับตัวได้เร็ว ก็อาจจะกลับมาเร็ว เราก็ต้องวิเคราะห์ลูกค้าแต่ละรายด้วย โดยเราก็ไม่รู้หรอกว่า ปีหนึ่ง ๆ ช่วงไหนดี หรือไม่ดี ก็ต้องทำตัวให้พร้อมและเร็ว หมายถึงข้อมูลเราพร้อม พอเห็นจังหวะดี 2-3 สัปดาห์ เราก็จบดีล โดยจังหวะตลาดที่ดีก็ต้องดูว่า ช่วงนั้นฟันด์โฟลว์กลับเข้ามาหรือยัง ภาวะหุ้น IPO เป็นอย่างไร แต่จริง ๆ ถ้าบริษัทดี หุ้น IPO เป็นแค่ชอตเดียว ต้องดูกันยาว ๆ”

ดัน “STGT-PTTOR” เข้าเทรด

สำหรับในปีนี้ บล.กสิกรไทย ยังตั้งเป้านำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 4-5 บริษัท โดยตอนต้นปีได้นำ บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) เข้าระดมทุนไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ในช่วงต้นเดือน ก.ค. เตรียมนำ บมจ.ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) หรือ STGT ผู้ประกอบธุรกิจถุงมือยางเข้าระดมทุน นอกจากนี้ยังมีหุ้นใหญ่อย่าง บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) ที่ยื่นไฟลิ่งไปแล้ว ก็คาดว่าจะเข้าระดมทุนได้ตามแผนเช่นกัน อย่างไรก็ดี จะประเมินสถานการณ์หลังประกาศงบฯไตรมาส 2 อีกครั้ง เพราะธุรกิจก็ถือว่าได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้ยอดขายลดลงไปบ้างจากที่คนเดินทางน้อยลง ส่วนปลายปีก็คาดว่าจะมีเข้าระดมทุนได้อีกบริษัทหนึ่ง

ชูสถิติ IPO ทุกตัว “เหนือจอง”

สำหรับ “บิ๊กดีล” ในปีที่ผ่านมา “พงศ์ศักดิ์” ภูมิใจนำเสนอ มีทั้ง บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) บมจ.ดูโฮม (DOHOME) บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) และ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) หรือย้อนหลังไปอีก ก็มี บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) โดยหุ้น IPO ทุกตัวได้รับผลตอบรับจากนักลงทุนค่อนข้างดี ทำให้ราคาหุ้นในการเปิดซื้อขายวันแรก (open price) ปรับสูงขึ้นเหนือราคาจองซื้อ IPO ทุกบริษัท

ซึ่งบริษัทมีเคล็ดลับ 3 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในการขายหุ้น IPO ได้แก่ 1.การกระจายหุ้นให้เหมาะสม (placement) ระหว่างสัดส่วนนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อย 2.การตั้งราคา (pricing) และ 3.การนำเสนอเรื่องราวของบริษัทให้ตรงกับความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงเวลา (story and timing)

“อย่างตอน ZEN เข้าตลาด หุ้น IPO ก่อนหน้านั้นต่ำจองต่อเนื่องประมาณ 10 ตัว เราก็เปิดปีด้วยหุ้นที่มีแบรนด์ มีเครือข่ายร้านอาหารเยอะ ก็ได้รับการตอบรับดี ถัดมาในช่วงสิ้นปีอย่างหุ้น BAM เข้าเทรดในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่ BAM ก็เป็นหุ้นที่ซื้อหนี้เสียมาบริหาร ตอนนี้ก็เป็นหุ้นเข้ากระแสติด Top 10 ไปแล้ว เรามักจะเลือกหุ้นที่เหมาะกับช่วงเวลาและ story ที่เข้ากัน หรือปีนี้ในช่วงที่ธุรกิจต่างก็ได้รับผลกระทบจากโควิด ก็ยังมีหุ้นที่เหมาะสมกับช่วงเวลานี้เช่นกันอย่าง STGT ที่กลายเป็นธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของไวรัส เนื่องจากความต้องการใช้ถุงมือยางพุ่งสูงขึ้นกว่า 300-400%”

ปั้นดีลควบรวม 3 ราย

ส่วนงานด้านการทำดีลควบรวมกิจการ (M&A) “พงศ์ศักดิ์” กล่าวว่า แต่ละปีบริษัทตั้งเป้าประมาณ 2-3 ดีล ซึ่งปีนี้ก็เช่นกัน โดยมูลค่าต่อดีลเฉลี่ย 5,000-10,000 ล้านบาท ซึ่งมองว่าดีลควบรวมกิจการในประเทศไทยเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีไวรัสโควิด-19 แล้ว ซึ่งเป็นกลยุทธ์การขยายธุรกิจยุคใหม่ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้เร็ว

“อย่างในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ถ้าธุรกิจมัวโฟกัสเฉพาะการสร้างธุรกิจเดิมให้เปลี่ยนไปสู่อีคอมเมิร์ซอาจจะไม่ทัน ฉะนั้นการเข้าไปเทกโอเวอร์ จึงกลายเป็นหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการเติบโตของธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต ยิ่งเป็นการบริหารของคนรุ่นใหม่ ความผูกพันกับธุรกิจจะไม่เหมือนคนสมัยก่อนที่สร้างมา ซึ่งไม่คิดจะขาย”

ตั้งเป้ารายได้โต 30%

“พงศ์ศักดิ์” กล่าวว่า ด้วยธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ดังนั้นการจะได้รับงานมาแต่ละงานต้องขึ้นอยู่ที่คุณภาพและความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ซึ่ง บล.กสิกรไทยถือว่าประสบความสำเร็จ โดยในปี 2562 เป็น 1 ใน 3 บริษัทหลักทรัพย์ที่ยังสามารถทำกำไรได้ จากที่ส่วนใหญ่จะขาดทุนกัน โดยเป้าหมายปีนี้ตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 30% ซึ่งสัดส่วนรายได้จะมาจากดีล IPO 60% และดีล M&A 40%

เมื่อสถานการณ์โควิดบรรเทาเบาบางลง แนวโน้มครึ่งปีหลังนี้ หุ้น IPO จะฟื้นกลับมาคึกคักได้แค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป