“สภาพัฒน์” เคาะงบฟื้นฟูก้อนแรก 1.01 แสนล้าน 213 โครงการ

“สภาพัฒน์” เคาะงบฟื้นฟูก้อนแรก 1.01 แสนล้านบาท จำนวน  213 โครงการ เน้น “ความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก-ลงทุนสร้างการเติบโตยั่งยืน-กระตุ้นบริโภค/ท่องเที่ยว” คาดหนุนจ้างงาน 4 แสนราย เตรียมชง ครม. 8 ก.ค.นี้

ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า จากข้อเสนอโครงการ (Project Briefs) ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2563 พบว่ามีจำนวนข้อเสนอโครงการ/แผนงานรวมทั้งสิ้นกว่า 46,429 โครงการ เป็นจำนวนเงินมากกว่า 1.456 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มิถุนายน 2563) โดยคณะทำงาน สศช.ได้พิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการ/แผนงานในรอบแรกแล้ว มีข้อเสนอโครงการที่ผ่านการพิจารณาจำนวน 213 โครงการ รวมวงเงินประมาณ 101,482.28 ล้านบาท

ซึ่งได้นำเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาในช่วงวันที่ 22 – 25 มิถุนายน 2563 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาในวันพุธที่ 1 กรกฎาคม 2563 ต่อไป ทั้งนี้คาดว่าจะแบ่งการอนุมัติเงินกู้ฯ ออกเป็น 2-3 รอบ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยรอบแรกที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2563 ซึ่งมีโครงการสำคัญ (Flagship Projects) ตามเป้าหมายที่วางไว้ 3 ประการ ได้แก่
เป้าหมายที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานรากและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่
1) เพื่อสร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจฐานราก อาทิ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” (แผนงาน 3.2) มูลค่า 4,953.79 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะจ้างงานเกษตรกรราว 9,188 คน โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ ซึ่งเป็นการใช้ Big Data เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน มูลค่า 2,701.88 ล้านบาท โดยคาดว่าจะจ้างงานประชาชนในพื้นที่ราว 14,510 คน

โครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงมูลค่า 1,080.59 ล้านบาท จ้างงานประชาชนราว 15,548 คน ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงจำนวน 710,518 คน

2) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งส่วนที่เป็นปัจจัยการผลิตและการดำรงชีพของประชาชน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางดิจิทัล ประยุกต์ใช้ในการสนับสนุนและรองรับการพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มศักยภาพและยกระดับสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกษตรกรทุกพื้นที่สามารถจำหน่ายสินค้าเกษตรให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง และผู้บริโภคก็ซื้อสินค้าเกษตรได้โดยตรงเช่นกัน โดยรอบแรกจะบูรณาการแผนงาน/โครงการของหน่วยงานทั้งในส่วนจังหวัดและส่วนราชการ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ส่งเสริมกิจการที่เกี่ยวข้องกับ

การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมทั้งประสานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ อาทิ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทย

เป้าหมายที่ 2 การลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต อาทิ (1) โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด (แผนงาน 3.1) มูลค่า 13,904.50 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 8,293.43 ล้านบาท (2) โครงการสร้างความเข้มแข็งศูนย์ข้าวชุมชน มูลค่า 900.00 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างงานให้เกษตรกรประมาณ 600 คน (3) ศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและการแพทย์ (แผนงาน 3.1) มูลค่า 1,264.40 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานประมาณ 2,500 คน และ (4) โครงการยกระดับนวัตกรรมแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์สู่ตลาด ท่องเที่ยวคุณภาพตามวิถีนิวนอมอล (Innovative CBT for New Normal) (แผนงาน 3.1) มูลค่า 460 ล้านบาท โดยคาดว่าจะกระจายรายได้สู่ชุมชน นักศึกษา/บัณฑิตตกงานและผู้ประกอบการประมาณ 65 ล้านบาท

เป้าหมายที่ 3 กระตุ้นการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยวในประเทศ (แผนงาน 3.3) ประกอบด้วย (1) โครงการ “เราไปเที่ยวกัน” (2) โครงการ “เที่ยวปันสุข” และ (3) โครงการ “กำลังใจ” รวมมูลค่า 22,400 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ประมาณ 52,400 ล้านบาท

ผลที่ประชาชนจะได้รับการใช้เงินกู้ฯ 400,000 ล้านบาทนี้ จะช่วยประคองสถานการณ์ไม่ให้ GDP ของประเทศไทยหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ คืออยู่ประมาณร้อยละ 5-6 ขณะเดียวกันก็จะช่วยขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ กลับมาฟื้นตัวและเดินหน้าได้ต่อไป โดยมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ดังนี้

1) การจ้างงานช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 410,415 ราย

2) สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน/ตำบล 79,604 หมู่บ้าน 3,000 ตำบล

3) การท่องเที่ยว พัฒนาต้นแบบสำหรับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพระหว่างและหลังวิกฤติโควิด-19 กว่า 6 พื้นที่ ผู้ประกอบการและแรงงานได้รับการพัฒนากว่า 11,000 ราย บริษัทนำเที่ยวได้ประโยชน์ 13,000 ราย การเข้าพัก 5,000,000 ห้อง/คืน การเดินทาง 2,000,000 คน/ครั้ง มาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ จำนวนกว่า 3.2 ล้านคน/ครั้ง

4) การเกษตร เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเอง กว่า 95,000 ราย จากการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและน้ำ เกษตรกรที่จะได้รับประโยชน์จากการยกระดับเกษตรแปลงใหญ่ 5,450 แปลง มีจำนวน 262,500 ราย และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 11,000 ล้านบาทต่อปี เกิดพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 2.4 แสนไร่ เกษตรสมัยใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากกว่า 5 ล้านไร่

5) พื้นที่ป่าไม้ แหล่งน้ำชุมชน พื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นกว่า 1.7 แสนไร่ พื้นที่กักเก็บน้ำ 7,900 ล้านลูกบาศก์เมตร

6) ดิจิทัลแพลตฟอร์มและระบบโลจิสติกส์ ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว และดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านสินค้า

สุดท้ายนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจึงขึ้นอยู่กับการสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ หรือคือการสร้างฐานรากให้มั่นคง ด้วยการเปลี่ยนวิกฤตโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจฐานราก กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคอย่างยั่งยืน ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต ขอย้ำว่าโครงการต่างๆ ที่จะดำเนินการ ต้องเป็นโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชน มีความคุ้มค่า เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน