SME หมดที่พึ่ง ‘กู้นอกระบบ’ สะพัด! พิโกไฟแนนซ์-แบงก์ปิดล็อกสินเชื่อ

เงินกู้นอกระบบสะพัด รายย่อยอ่วมพิษเศรษฐกิจ-โควิดแห่กู้ ยอมถูกโขกดอกเบี้ยรายวันร้อยละ 10-20 “เอสเอ็มอี” แจ็กพอต ดิ้นหาแหล่งกู้อุดสภาพคล่องทั้งจำนอง-ขายฝาก หลัง “แบงก์-พิโกไฟแนนซ์” ผวาหนี้เสีย ปิดล็อกสินเชื่อ จับตานายทุนเงินกู้
นอกระบบสบช่องฟื้นธุรกิจสีเทา

แหล่งข่าวจากวงการเงินกู้นอกระบบเปิดเผย “ประชาชาติธุริจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจ และวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างทำให้การปล่อยเงินกู้นอกระบบที่ก่อนหน้านี้ชะลอลงกลับมาสะพัดมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนทางด้านการเงิน ทั้งคนระดับรากหญ้า ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินในระบบได้ ต้องหันมาพึ่งเงินกู้นอกระบบ ยอมจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยถูกโขกดอกเบี้ยรายวัน สูงถึงร้อยละ 10-20 บาท/วัน ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ซึ่งกู้เงินระดับ 100-1,000 ล้านบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 15-20 ต่อปี สาเหตุหลักมาจากสถาบันการเงินในระบบทั้งแบงก์ และพิโกไฟแนนซ์ หยุดปล่อยกู้ปล่อยทรัพย์หลุดจำนอง-ขายฝาก

ทั้งนี้ รูปแบบการกู้นอกระบบของผู้ประกอบการจะใช้วิธีการนำหลักทรัพย์มาค้ำประกัน ในรูปแบบการขอกู้ ขายฝาก และจำนอง ซึ่งช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบปรากฏการณ์ลูกหนี้หลายรายจงใจขายทรัพย์ทิ้ง อย่างไรก็ตาม ภาพการขอกู้ของผู้ประกอบการขณะนี้อาจยังไม่มากนัก จากมาตรการของภาครัฐที่ให้ธนาคารช่วยเหลือลูกหนี้โดยให้หยุดส่งเงินต้น และดอกเบี้ย ระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดเดือนกันยายน 2563 จากนั้นอาจต้องจับตาดูว่า หากธนาคารไม่ดำเนินนโยบายช่วยเหลือลูกหนี้ต่อ จะมีผู้ประกอบการวิ่งหาเงินกู้นอกระบบเพิ่มขึ้นอีกมาก

โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจในภาคท่องเที่ยวและบริการที่ปัจจุบันรายได้เป็นศูนย์ รวมทั้งภาคส่งออกและอสังหาริมทรัพย์ที่ตลาดซบเซาหนัก มีแต่รายจ่ายไม่มีรายรับ อาจได้เห็นธุรกิจล่มสลายอีกจำนวนมากที่น่ากลัวคือ 100% ของคนที่นำทรัพย์มาค้ำประกันเงินกู้ หรือขายฝาก 65% ยอมให้เจ้าหนี้ยึด และในจำนวนผู้ที่ขอกู้เงินส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อนำไปเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ ที่เหลือเอาไปกินใช้ ส่งผลให้คนทำธุรกิจเงินกู้นอกระบบหนี้เสีย 70-80% เช่นเดียวกับแบงก์

พิโกฯถอย นอกระบบมาแรง

นายไชยวัฒน์ อึ้งสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บจ.ทรีมันนี่ ผู้ประกอบการพิโกไฟแนนซ์รายใหญ่ในภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ช่วงนี้เงินกู้นอกระบบมาแรงมากและแรงกว่าเดิม มีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ 1.การกู้แบบธรรมดา มีหลักประกันเป็นรถ หรือโฉนดที่ดิน ประเภทนี้ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 10-20 ต่อเดือน

2.ประเภทพนักงานโรงงานกู้ไม่มีหลักประกัน ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน

3.เงินกู้รายวัน เช่น กู้ 10,000 บาท จ่ายภายใน 24 วัน วันละ 500 บาท ดอกเบี้ย 2,000 บาท หรือกู้ 10,000 บาท จ่ายดอกเบี้ยวันละ 200 บาท ตลอดไปจนกว่าจะนำเงินต้นมาคืนได้

“จากปีที่ผ่านมาเจ้าหนี้นอกระบบจำนวนมากถอดใจล้มกิจการไปแล้ว ตอนนี้หลายรายกลับมาปล่อยกู้ใหม่ ประเภทเอาบัญชีเงินฝากกับบัญชีเงินเดือนมาเป็นหลักค้ำประกันก็มี เข้ามาปิดยอดเพื่อเอาหลักประกันออก ทั้งที่เงินกู้สูงถึง 7-8 หมื่นบาท เพราะอยากกู้เพิ่ม แต่พิโกปล่อยกู้ให้ไม่ได้ สถาบันทางการเงินก็ปล่อยกู้น้อยมาก เพราะรายได้ลดลง ที่ทำงานถูกสั่งปิด เมื่อไม่มีเงินพอกินเลยปิดยอดในระบบ หันไปกู้นอกระบบ ซึ่งกู้ได้มากกว่า การกู้นอกระบบจึงกลับมาเฟื่องฟู พร้อมดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น”

นายทุนเงินกู้นอกระบบยังแฝงตัว

ดังนั้น ภาพรวมหนี้นอกระบบไม่ได้หายไปไหน เจ้าหนี้ไม่ได้เลิกกิจการ ธุรกิจนี้เงียบแค่ตอนเจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบปราบปราม ตอนเริ่มเกิดพิโกไฟแนนซ์ก็ลดดอกเบี้ยจากปกติลงมาสู้กับพิโกไฟแนนซ์ ช่วงแรกเจ้าหนี้หลายรายปรับเปลี่ยนจากหนี้นอกระบบเป็นพิโกไฟแนนซ์ แต่ปล่อยกู้ถูกกฎหมายแบบเต็มตัวแค่ 20% เท่านั้น มี 50% ที่ดำเนินธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ พร้อมปล่อยกู้แบบนอกระบบด้วย และอีก 30% แฝงตัวปล่อยกู้นอกระบบ สาเหตุที่การปล่อยกู้นอกระบบเริ่มกลับมาเป็นเพราะพิโกไฟแนนซ์ที่ปล่อยกู้ในระบบเต็มตัวที่มีอยู่ 20% เริ่มปีปัญหา เพราะหาแหล่งเงินทุนมาเติมไม่ได้หลังจากปล่อยกู้ไปมากแล้ว ลูกค้าใหม่ที่เข้ามากู้เงินจึงต้องรอจนกว่าพิโกฯรายนั้นจะมีเงินเข้ามาจากดอกเบี้ย หรือการผ่อนชำระจากลูกค้าเก่า ประกอบกับพิษเศรษฐกิจและพิษโควิด ทำให้พิโกฯต้องยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ให้กับลูกค้าที่มีปัญหา ทำให้เงินที่จะปล่อยกู้ใหม่มีน้อยลง

“ประเด็นหลักคืออยากให้รัฐบาลช่วยหาแหล่งเงินทุนซัพพอร์ตพิโกไฟแนนซ์ เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้ประชาชนต่อ เรื่องนี้เคยมีการเรียกร้องเสนอให้รัฐช่วยเหลือ แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง”

เข้มปล่อยกู้ฉุดสินเชื่อชะลอ

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารสายงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ต้นปีที่ผ่านมาการปล่อยสินเชื่อรายย่อยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยชะลอตัว ณ เดือน เม.ย. 2563 มีอัตราการเติบโตที่ 5% ชะลอตัวลงจากเดือน ธ.ค. 2562 ที่ขยายตัว 7.5% ส่งผลให้ยอดคงค้างสินเชื่อรายย่อยเดือน เม.ย. 2563 อยู่ที่ 4.77 ล้านล้านบาท ลดลงจากเดือน ธ.ค. 2562 ที่ 4.78 ล้านล้านบาท โดยทิศทางการเติบโตจะเห็นการชะลอตัวลงในทุกประเภทสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อบัตรเครดิตหดตัว -6.8% สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับหดตัว -5.9% สินเชื่อที่อยู่อาศัย และเช่าซื้อก็ชะลอลงเช่นกัน เพราะแบงก์ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการช่วยลูกหนี้ และเข้มงวดปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น ระวังความเสี่ยงมากขึ้น

แนวโน้มสินเชื่อธุรกิจรายย่อยช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นมาจากผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังปล่อยสินเชื่อใหม่มากขึ้น โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นหลัก

ชี้สภาพคล่องวูบทั้งระบบ

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่คนหันกลับไปกู้นอกระบบกันมากขึ้นนั้น หากกล่าวตรงไปตรงมา คือ ทุกคนต้องการสภาพคล่อง แต่เมื่อไม่สามารถกู้ในระบบได้ก็ต้องออกไปกู้นอกระบบ

“ขณะที่บางคนที่มีสภาพคล่องเกินก็เก็บไว้กับตัวเอง ทำให้สภาพคล่องในระบบบางส่วนหายไป อย่างไรก็ดี ในภาวะแบบนี้คนที่จะกู้นอกระบบก็อาจกู้ไม่ได้ เพราะผู้ให้กู้นอกระบบก็อาจไม่อยากปล่อยกู้ ต้องการเก็บเงินสดไว้เหมือนกัน เพราะตอนนี้ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติ” นายสมประวิณกล่าว