ธปท.จับตา3ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจ หวั่นทุบซ้ำจีดีพีไทยทรุดหนัก

ธปท.จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยงกดดันเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ทั้ง “โควิดระบาดรอบ 2-สงครามการค้า-การผิดนัดชำระหนี้ทั่วโลก” มั่นใจสถานะแบงก์ไทยแกร่งรองรับเอ็นพีแอลขาขึ้นได้ ชี้ กนง.ห่วงว่างงานพุ่ง ล่าสุดเดือน พ.ค.มีผู้ถูกเลิกจ้าง 1.1 แสนคน ขณะที่ขอรับสิทธิ์ชดเชยว่างงานจากระบบประกันสังคม 3.3 แสนคน

ดอน นาครทรรพ

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2563 จะมาจากอุปสงค์ต่างประเทศ โดยหากจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจโลกอยู่ในไตรมาส 2 และฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 3-4 มีสิ่งที่จะต้องติดตาม 2-3 เรื่อง คือ 1.การระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 หากเกิดขึ้นและมีการปิดประเทศ จะกระทบเศรษฐกิจในภาพกว้าง

2.สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน และ 3.เสถียรภาพระบบการเงินของโลก ซึ่งจะเห็นว่าการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้และพันธบัตรมากขึ้น หากเกิดการล้มละลายเป็นวงกว้าง จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเสถียรภาพระบบการเงินในประเทศ แม้ว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าระบบสถาบันการเงินไทยรองรับได้ ไม่น่าจะมีปัญหาเหมือนวิกฤตปี 2540 ที่เริ่มต้นจากการผิดนัดชำระหนี้ ธนาคารมีความเสียหายและมีการเพิ่มทุนมหาศาล แต่ครั้งนี้สถาบันการเงินมีความแข็งแกร่ง มีเงินทุนสำรองค่อนข้างสูงในอันดับต้น ๆ ของโลก

“นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังเน้นพิจารณาความสามารถชำระหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม โดย ธปท.ก็ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งล่าสุดออกมาตรการที่เอื้อต่อการปรับโครงสร้างหนี้ โดยแม้ว่าล่าสุดจะเห็นเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. แต่คงไม่ถึงขั้นกระทบเสถียรภาพระบบธนาคารพาณิชย์” นายดอนกล่าว

นายดอนกล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. 2563 ยังหดตัวสูงต่อเนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศ ทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังหดตัว -100% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่คาดว่าในครึ่งปีหลังจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคน ตามการปลดล็อกของทางการ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัว -23.6% หรือราว 15.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากรวมทองคำจะหดตัว -29% สูงสุดเป็นประวัติการณ์

ขณะที่แนวโน้มตลาดแรงงานในเดือน พ.ค. 2563 ยังคงมีความเปราะบางและยังคงอ่อนแอต่อเนื่องจากเดือน เม.ย. ซึ่งในแถลงการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้แสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้ โดยหากดูตัวเลขผู้ขอรับสิทธิ์ชดเชยการว่างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 3% หรือราว 3.3 แสนคน และมีผู้ถูกเลิกจ้างงานราว 1.1 แสนคนหรือคิดเป็น 22% ของผู้รับสิทธิ์ว่างงานทั้งหมด

ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขการว่างงานจะยังไม่สูงมาก เนื่องจากเป็นตัวเลขที่มาจากประกันสังคม ยังไม่ครอบคลุมแรงงานส่วนที่อยู่นอกประกันสังคม ดังนั้นจึงต้องติดตามตัวเลขในเดือน มิ.ย.จะลดลงต่อเนื่องหรือไม่ อย่างไรก็ดี จะเห็นว่าในงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ภาครัฐเน้นการจ้างงานและสร้างงาน โดยตัดงบฯเรื่องการสร้างถนนออก จะเป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนการจ้างงาน และทำให้ตลาดการจ้างงานปรับดีขึ้น โดยคาดว่าในไตรมาส 2 และ 3 ตัวเลขการว่างงานจะเพิ่มสูงที่สุด และน่าจะกลับมาดีขึ้นตามมาตรการคลายล็อก

“เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นดาวเด่นขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลงตามการผ่อนคลายและมาตรการเยียวยาของรัฐ” นายดอนกล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุด ธปท.ได้ปรับคาดการณ์อัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจไทยปีนี้โดยคาดว่าจีดีพีปีนี้จะหดตัว -8.1% ต่อปี ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวที่ -5.3-% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หดตัวมากกว่าสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าปีนี้จะหดตัว -10.3% จากเดิมคาด -8.8% ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนหดตัว -3.6%  ลงทุนภาคเอกชนหดตัว -13% และการลงทุนภาครัฐทรงตัวที่ 5.8% ทั้งนี้ เศรษฐกิจจะหดตัวลึกสุดในไตรมาส 2 และหลังจากนั้นจะทยอยฟื้นตัวกลับมาอย่างช้า ๆ