“ธุรกิจแลกเงิน” พ่ายพิษโควิด “ซุปเปอร์ริช” ปิดสาขาลดต้นทุน

ค่าเงินบาท ธุรกิจแลกเงิน
แฟ้มภาพ

ธุรกิจแลกเงินทนพิษโควิด-19 ไม่ไหว ตบเท้าปิดสาขา-ลดเงินเดือนพนักงาน สมาคมยอมรับผู้ประกอบการส่อปิดกิจการ 70% จากกว่า 2 พันราย หลังทั่วโลกหยุดเดินทางไม่มีนักท่องเที่ยว “ทเวลฟ์ วิคทอรี่ฯ” ทยอยปิดสาขา-บูทบนบีทีเอสกว่า 50% “ซุปเปอร์ริช” (Superrich) ติดลบเดือนละ 4-8 ล้านบาท ปิดสาขาหัวหิน-ภูเก็ต

ร้านแลกเงินทยอยปิดตัว

นางชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ อุปนายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (TAFEX) และประธานกรรมการ บริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่ เอ็กเชน จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจร้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทยอยปิดสาขาและหยุดกิจการจำนวนมาก จากผลกระทบโควิด-19 เนื่องจากทั่วโลกปิดประเทศหยุดการเดินทางเข้าออก ทำให้ความต้องการแลกเปลี่ยนเงินตราหดหายไปทันที

อุปนายกสมาคมฯ คาดว่ามีผู้ประกอบการหยุดกิจการ 70% จากจำนวนผู้รับใบอนุญาต 2,300 แห่ง เหลือ 600 รายเท่านั้น ล่าสุดร้านแลกเงินในแหล่งท่องเที่ยวพัทยาและภูเก็ตทยอยปิดตัว บางรายเลิกกิจการไปทำธุรกิจอื่น บางรายหยุดชั่วคราวรอให้สถานการณ์ดีขึ้น และรอนักท่องเที่ยวกลับมา

เช่นเดียวกับ บริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่ เอ็กเชน คาดว่าทยอยปิดสาขาและบูทให้บริการ 50% จากทั้งหมด 50-60 แห่ง เพราะตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป บริษัทจะต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่เต็มจำนวน จากก่อนหน้านี้ค่าเช่าลด 20% ทำให้มีภาระต้นทุนสูง ขณะที่ยอดธุรกรรมแลกเงินเฉลี่ย 5 หมื่นบาทต่อวันเท่านั้น เมื่อเทียบกับค่าเช่า 1.9 แสนบาทต่อเดือน จึงไม่คุ้มเปิดให้บริการต่อ

ถอดสาขาบนสถานี “บีทีเอส”

บริษัทเตรียมปรับลดเงินเดือนพนักงาน 15-20% สำหรับพนักงานแบ็กออฟฟิศที่เงินเดือนสูงกว่า 3 หมื่นบาท ส่วนพนักงานเคาน์เตอร์ พนักงานวิ่งงานคงเดิมเนื่องจากเงินเดือนไม่ได้สูง คาดว่าจะลดถึงปลายปีนี้หรือต้นปี 2564 รอสถานการณ์ดีขึ้น

“บริษัทไม่ต่อสัญญาเช่าสาขาบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ค่าเช่าแพงเฉลี่ย 1.75-1.9 แสนบาทต่อเดือน และทยอยปิดสาขาแล้วที่พร้อมพงษ์ ทองหล่อ กำลังจะปิดที่เอกมัยและเพลินจิต ในต่างจังหวัดอาจปิดตามแนวชายแดน เช่น หนองคาย แม่สอด ซึ่งธุรกรรมแลกเงินอิเล็กทรอนิกส์กำลังมา ทำให้สาขาแลกเงินมีความจำเป็นน้อยลง”

“ซุปเปอร์ริช” ยังลำบาก

ด้านนายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) หรือ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” (Superrich) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาแผนการปิดสาขาและจุดให้บริการแลกเงิน เพื่อบริหารจัดการต้นทุนให้บริษัทบาดเจ็บน้อยที่สุด เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกแต่ละเดือนประมาณ 4-8 ล้านบาท โดยไม่มีรายได้เข้า เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์ ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออกประเทศ ทำให้ธุรกรรมทั้งฝั่งซื้อและขายเงินตราต่างประเทศหายกว่า 95%

ปัจจุบันบริษัทมีสาขาทั้งหมด 40 แห่ง โดยภายในสิ้นปีจะหมดสัญญาเช่าประมาณ 5-6 แห่ง ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างเจรจาต่อรองกับเจ้าของพื้นที่ว่าจะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ปิดสาขาที่หัวหินไปแล้วส่วนที่ภูเก็ตปิดชั่วคราว รอดูสถานการณ์ที่ทางการจะปลดล็อกท่องเที่ยวเป็น3 เฟส

“ก่อนหน้านี้เราลดเงินเดือนพนักงานทั้งองค์กร 50% เพื่อบริหารค่าใช้จ่าย ซึ่งตอนนี้ยังติดลบ 4-8 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งไม่รู้จะแบกได้ถึงเมื่อไร สถานการณ์ค่อย ๆ ซึมไปเรื่อย เพราะตอนนี้ธุรกรรมเหลือแค่ 5% เป็นคนที่นำเงินเก่าที่เก็บไว้มาแลกบ้าง ซึ่งปริมาณน้อยลงเรื่อย ๆ แม้ว่าทางการจะเปิดให้เริ่มท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศยังไม่ได้รับอานิสงส์ หรือถ้าจะเปิดเป็น travel bubble เชื่อว่าสายการบินอาจทำแล้วไม่คุ้ม อาจจะช่วยต่อลมหายใจคือจากเดิม -100% อาจจะเหลือ -80% แต่เชื่อว่าอาการยังค่อนข้างหนักสำหรับเรา”

ธุรกิจดิ้นหนีตาย

สำหรับแนวโน้มการฟื้นตัวของธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ นายปิยะมองว่าค่อนข้างยาก เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อในต่างประเทศยังไม่ดีขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์ลากยาวคาดว่าจะเห็นธุรกิจแลกเงินต้องปิดตัวและพนักงานตกงานอีกมาก โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตราว 2,000 สาขา มีพนักงานเฉลี่ย 20 คนต่อแห่ง ซึ่งหากธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้จะเห็นคนตกงานราว 2 หมื่นคน

อย่างไรก็ดี บริษัทได้ปรึกษาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดในเรื่องการปรับตัว หรือการปรับแนวธุรกิจ ซึ่งก็มีแนวคิดที่จะขยายไปทำธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์สกุลเงินตราต่างประเทศ (FX e-Money) หลังจาก ธปท.ได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (nonbank) สามารถยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจได้ และเชื่อว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจแลกเงินอีกหลายรายให้ความสนใจและเตรียมตัวเพื่อขยายธุรกิจและปรับตัว เพราะธุรกิจเดิมได้รับผลกระทบ แต่การเริ่มต้นใหม่จะต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก และการแข่งขันคงรุนแรง เพราะมีทั้งน็อนแบงก์และธนาคารที่เล่นกันเต็มที่

ทั้งนี้จากรายงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ปริมาณการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของบุคคลรับอนุญาต (money changer) ในช่วงเดือนมกราคม 2563 เป็นขาซื้ออยู่ที่ 1,627 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาขาย 1,637 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในเดือนกุมภาพันธ์ ขาซื้อ 1,214 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาขาย 1,215 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่จำนวนผู้รับอนุญาต ณ เดือนมิถุนายน 2563 มีทั้งสิ้น 2,385 ราย ลดลงจากเดือน พ.ค.มีจำนวน 2,391 ราย โดยในปี 2562 มีจำนวน 2,382 ราย เพิ่มขึ้นจากในปี 2561 มีจำนวน 2,260 ราย