ธปท.แจ้งความคืบหน้าสกุลเงินดิจิทัล เล็งต่อยอดใช้กับประชาชน

AFP PHOTO / KAREN BLEIER

ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งความคืบหน้าสกุลเงินดิจิทัล (CBDC) ชูความสำเร็จ 3 เฟสแรก ‘โอนเงินดิจิทัลระหว่างแบงก์-โอนเงินข้ามประเทศ’ ล่าสุด จับมือเอกชน ‘SCG’ ทดลองใช้บาทดิจิทัลชำระเงินกับคู่ค้าในเครือ เผยมีแผนศึกษาใช้เงินดิจิทัลกับประชาชนทั่วไปในระยะถัดไป

นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การออกใช้สกุลเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลาง เป็นเรื่องที่ ธปท.ได้ให้ความสำคัญและร่วมพัฒนากับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดต้นทุนการโอนเงินระหว่างประเทศ และเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการชำระเงิน ให้สอดคล้องกับระบบการเงินในโลกยุคใหม่ จึงได้จัดทำโครงการอินทนนท์ และดำเนินการแล้วเสร็จใน 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 สร้างระบบการชำระเงินต้นแบบ โดยใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ Distributed Ledger Technology (DLT) ในการรองรับการโอนเงินในประเทศระหว่างสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ โดยเริ่มจากการแปลงเงินฝากของสถาบันการเงินที่นำมาฝากไว้ที่ ธปท.ให้อยู่ในรูปสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและโอนชำระเงินระหว่างกัน

ระยะที่ 2 พัฒนาขีดความสามารถของระบบการชำระเงินต้นแบบ ต่อยอดจากโครงการในระยะที่ 1 ให้ครอบคลุมถึงการใช้ประโยชน์จาก Smart Contract มาจำลองวงจรชีวิตของพันธบัตร ตั้งแต่การแปลงพันธบัตรให้อยู่ในรูป Token การส่งมอบพันธบัตรและชำระเงินค่าพันธบัตรในเวลาเดียวกัน (Delivery Versus Payment: DVP) การจ่ายดอกเบี้ย จนถึงการจ่ายคืนเงินต้นในวันที่พันธบัตรครบกำหนด รวมทั้งออกแบบระบบให้รองรับการซื้อขายพันธบัตรในตลาดรอง หรือนำพันธบัตรมาใช้เป็นหลักประกันสำหรับธุรกรรมซื้อคืน (Repurchase Agreement)

นอกจากนี้ ระบบต้นแบบในระยะที่ 2 นี้ยังมีกลไกที่ช่วยตรวจสอบข้อมูล เพื่อช่วยป้องกันธุรกรรมการชำระเงินที่ต้องสงสัย (Fraud Prevention) รวมถึงตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนต่างชาติ เพื่อลดกระบวนการของสถาบันการเงินในการปฏิบัติตามมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทของ ธปท.

ระยะที่ 3 เชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินในต่างประเทศผ่านการใช้ CBDC ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตไปสู่การชำระเงินข้ามประเทศระหว่างสถาบันการเงิน โดยมุ่งหวังที่จะลดกระบวนการในปัจจุบันที่ต้องทำผ่านตัวกลางหลายราย และพัฒนาไปสู่การโอนและชำระเงินโดยตรงถึงกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมชำระเงินระหว่างประเทศให้มีความรวดเร็ว มีต้นทุนที่ถูกลง แต่ยังคงมีความปลอดภัยสูง

ซึ่ง ธปท. และสถาบันการเงิน 8 แห่ง ร่วมกันศึกษาและทดสอบการใช้สกุลเงินดิจิทัลในการชำระเงินระหว่างธนาคาร (Wholesale CBDC) ได้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงแล้ว รวมทั้งได้ทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) ที่เสร็จสิ้นในเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งในขั้นต่อไป ธปท.จะร่วมกับสถาบันการเงินสมาชิก เพื่อขยายขอบเขตการทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้ CBDC ด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น เช่น การทดสอบการเพิ่มจำนวนธุรกรรมมากขึ้น และ ลดระยะเวลาการโอนเงินให้น้อยลง

ในภาพรวมโครงการอินทนนท์ ทั้ง 3 ระยะ ที่ผ่านมา ธปท.ได้ผลการศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อระบบการเงินของประเทศ และมองเห็นโอกาสในอนาคตสำหรับการนำ CBDC มาใช้กับภาคธุรกิจไทย ปัจจุบันจึงเริ่มมีการพัฒนาต่อยอดโครงการสู่ภาคธุรกิจภาคเอกชน โดยร่วมมือกับ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กับคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน และ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ซึ่งเป็นผู้พัฒนาระบบร่วมทดสอบเป็นรายแรก

โดย ธปท.คาดหวังว่าระบบต้นแบบการชำระเงินนี้จะรองรับนวัตกรรมทางการเงินของภาคธุรกิจที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงิน มีความยืดหยุ่นในการโอนเงินมากขึ้น เพิ่มความเร็วและความคล่องตัวในการชำระเงินระหว่างกัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 และหากผลการทดสอบเป็นไปด้วยดี จะขยายไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ

รวมทั้ง ธปท.ยังได้ศึกษาถึงการใช้งาน CBDC ของภาคประชาชน ซึ่งต้องใช้เวลาศึกษาและพิจารณาในรายละเอียดในหลายมิติ ทั้งข้อกฎหมาย เสถียรภาพของระบบ ความปลอดภัยในการใช้งาน และ การเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง ธปท.จะแจ้งความคืบหน้าในลำดับต่อไป