สแตนชาร์ต คาด กนง. หั่นดอกเบี้ย 0.25% ส.ค.นี้

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มองกนง.หั่นดอกเบี้ย 1 ครั้งเดือนส.ค.นี้ หลังนโยบายคลังไม่ชัดเจน-เศรษฐกิจยังโตต่ำ-เงินเฟ้อต่ำกรอบเป้าหมายอยู่ที่ -1% ชี้ ตลาดการเงินยังผันผวนจับตาหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอน 5 แสนล้านบาท หวังเงินทุนไหลเข้าช่วงที่เหลืออีก 1 แสนล้านบาท-Travel Bubble กดบาทแข็ง 31 บาทต่อดอลลาร์ฯ เผยเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจต้องเร็ว-ไม่สะดุดสานนโยบายต่อ พร้อมฝาก 3 คำถามถึงผู้ว่าคนใหม่

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เปิดเผยว่า ภายในเดือนสิงหาคมนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ลงอีก 1 ครั้ง ที่ 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 0.50% เหลือ 0.25% แม้ว่าธปท.จะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 3 ครั้ง และธปท.ส่งสัญญาณให้นโยบายการคลังเป็นนโยบายหลัก และนโยบายการเงินตาม แต่จะเห็นว่ามี 2 ปัจจัยเข้ามา คือ 1.นโยบายการคลังยังมีความไม่ชัดเจน เนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวทีมเศรษฐกิจ และ 2.โควิด-19 ที่เกิดในระยอง ซึ่งจะเป็นด้านลบต่อเศรษฐกิจ แม้ว่าปัจจุบันธนาคารจะยังคงประมาณการเติบโตเศรษฐกิจอยู่ที่ -5% และไตรมาสที่ 2 จะต่ำสุด -13% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ที่ -1% และปี 64 จะบวก 1% ปัจจัยเหล่านี้สนับสนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์

ขณะเดียวกันตลาดการเงินยังคงมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะตลาดพันธบัตร แม้ว่าในช่วงที่เหลือของปีจะมีความผันผวนไม่เท่ากับเดือนมีนาคมที่มีเทขายกองทุนและพันธบัตรจนทำให้ธปท.ต้องออกมาตรการมาช่วยเหลือ แต่ธนาคารยังมีความกังวลค่อนข้างเยอะ เพราะในช่วงที่เหลือของปีจะมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 5 แสนล้านบาท และจะมีครบกำหนดไตรมาส 3 อีกประมาณ 3 แสนล้านบาท จึงต้องติดตามว่าบริษัทจะสามารถชำระคืนหนี้เดิมได้หรือไม่ และด้วยต้นทุนต่ำหรือไม่ ประกอบกับยังมีประเด็นเรื่องของสายการบินแห่งชาติที่จะต้องติดตามเรื่องแผนฟื้นฟูในเดือนหน้า ซึ่งจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

“การผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ที่เกิดขึ้นในเดือนมีนาคมค่อนข้างผันผวน มีแรงเทขายหุ้นกู้ ทำให้ราคาลง แต่ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น โดยสะท้อนจากผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 1.8% จากเดิมอยู่ที่ 0.8% ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์กลับมาเป็นปกติผลตอบแทนกลับมาอยู่ที่ 0.3-0.4% อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศ หากมีการผิดนัดชำระหนี้รอบใหม่อาจจะกระทบระบบสถาบันการเงิน ซึ่งแตกต่างจากเดือนมีนาคมที่กระทบแค่ตลาดการเงิน”

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า ปลายปีทิศทางยังคงแข็งค่าอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาจากการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาจากการทำ Travel Bubble ที่จะเห็นการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่นจะเข้ามาได้ อย่างไรก็ดี แม้ระยะสั้นจะเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่า เนื่องจากมีประเด็นของการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจที่ทำให้มีความกังวลถึงความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

“ตอนนี้เราเริ่มเห็นสัญญาณกระแสเงินทุนไหลเข้ามาบ้าง เพราะนักลงทุนมีความมั่นใจที่เราสามารถควบคุมโควิดได้ดี โดยในเดือนมิถุนายนไหลกลับเข้ามาประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และเดือนกรกฎาคมเข้ามาราว 1 หมื่นล้านบาท จากช่วง 5 เดือนแรกที่มีกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งหากโควิดไม่กลับมาเราเชื่อว่าทั้งปีจะมีเงินไหลเข้ามาอีกประมาณ 1 แสนล้านบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้”

ดร.ทิม กล่าวต่อไปว่า กระแสการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจนั้น สิ่งที่ต้องจับตามองมีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.นโยบายเศรษฐกิจที่หนุนการเติบโตหลายๆ นโยบายอยู่ภายใต้แนวคิดของดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งอยู่มานาน ดังนั้น คนที่จะมาแทนจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายการลงทุนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งนักลงทุนให้ความสนใจ และ 2.ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอยากให้เกิดขึ้นเร็ว ไม่สะดุด เพราะนโยบายหลายๆ อย่างยังต้องการความต่อเนื่อง เช่น การเปิด Travel Bubble เป็นต้น และ 3.การติดตามเรื่องของงบประมาณปี 2564 ที่จะมีการโหวตในเดือนกันยายน ซึ่งต้องรอดูพรรคร่วมที่มีกว่า 20 พรรคจะออกมาแบบไหน เพราะในปีงบประมาณ 2563 จะเห็นว่ามีความล่าช้าไปแล้ว 5-6 เดือน

“ประเทศไทยเดินหน้ามาได้ค่อนข้างดีแล้ว แต่สิ่งที่กังวลเล็กน้อยการเปลี่ยนจะต้องรวดเร็ว ไม่สะดุด เพราะในช่วง 4 เดือนรัฐบาลได้แจกจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเกือบหมดแล้ว ซึ่งสเต็ปต่อไป คือ การกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และการเปิดประเทศผ่าน Travel Bubble ซึ่งต้องทำต่อ และจะเกินไปทางไหน แม้ว่าจะมีเคสทหารอียิปต์ในระยองแต่มองว่าเป็นความไม่แน่นอน แต่ไม่ใช่ความเสี่ยง เพราะเราจะได้บทเรียนในการป้องกันด้วย”

ทั้งนี้ จากการสำรวจลูกค้าและผู้จัดการกองทุนในประเทศและภูมิภาครวม 200 คน พบว่า มี 3 คำถามต่อผู้ว่าธปท.คนใหม่ คือ 1.ประเทศไทยจะทำมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการคุมอัตราผลตอบแทนของตลาดพันธบัตร (Yield Curve Control) หรือไม่ 2.การทำให้ค่าเงินบาทและทองคำไม่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน จะทำอย่างไรและวิธีไหน และ 3.ความเป็นไปได้ของอัตราดอกเบี้ย 0% หรือดอกเบี้ยติดลบ