“เศรษฐพุฒิ” ยืนหนึ่งว่าที่ผู้ว่าฯ ธปท. คนใหม่ ในภารกิจกู้วิกฤตซ้อนวิกฤต

การชิงเก้าอี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยรอบนี้ สปอตไลต์ทุกดวงฉายแสงไปที่ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ทันทีที่ยื่นใบสมัครเข้ามาในวันสุดท้าย เพราะเป็นชื่อที่ถูกเก็งเป็น “ตัวเต็ง” ไว้ตั้งแต่เริ่มต้น เพียงแต่ไม่ได้ยื่นใบสมัครเข้ามาในรอบแรก แต่ยื่นเข้ามาในวันสุดท้ายของช่วงที่ขยายเวลารับสมัคร (10 ก.ค.)

ขณะที่ผู้ที่สมัครในรอบแรกที่มีรองผู้ว่าการ ธปท. 2 รายลงสมัคร คือ “เมธี สุภาพงษ์” และ “รณดล นุ่มนนท์” ถือว่าดูดีกว่าคนนอกอีก 2 ราย แต่พลันเมื่อมีการประกาศขยายเวลารับสมัครก็ชี้ให้เห็นว่า กรรมการคัดเลือกต้องการ “ตัวเลือก” ที่มากกว่านั้น ซึ่งก็มีคนนอกเข้ามาอีก 2 ราย คือ “อนุสรณ์ ธรรมใจ” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กับ “เศรษฐพุฒิ”

และด้วยโปรไฟล์ที่ “ครบเครื่อง” ของ “เศรษฐพุฒิ” ทำให้ถูกมองว่า “ผู้ว่าการ ธปท.คนที่ 24” ก็ไม่น่าจะเป็นคนอื่นไปได้ เพราะไม่ใช่แค่ความสามารถ แต่ยังหมายถึงความสัมพันธ์กับฝ่ายการเมืองที่ให้การยอมรับและน่าจะสอดประสานกันได้

เพราะ “เศรษฐพุฒิ” เคยผ่านงานภาครัฐและเอกชน ทั้งใน-ต่างประเทศ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก และมีบทบาทสำคัญในยุค “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในฐานะผู้อำนวยการร่วมสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) คู่กับ “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท.ที่กำลังจะหมดวาระ

“เศรษฐพุฒิ” เคยให้สัมภาษณ์ในวารสาร “BOT พระสยาม MAGAZINE” ของ ธปท.เมื่อปี 2558 เมื่อครั้งเริ่มทำหน้าที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ถึงประสบการณ์ความหลากหลายในบทบาทหน้าที่ต่าง ๆ ไว้ว่า

“ข้อดีอย่างหนึ่ง คือ ช่วยให้ผมเกิดมุมมองที่หลากหลายมาก เวลาจะทำอะไร เราย่อมคิดถึงและเข้าใจมุมมองของคนที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ยกตัวอย่างสมัยวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ผมได้กลับมาช่วยงานที่กระทรวงการคลัง หลังจากที่เคยทำงานอยู่ใน World Bank คราวนี้ เรากลับต้องมานั่งอีกฝั่งหนึ่งของโต๊ะ ต้องเจรจากับ IMF รวมถึง World Bank ด้วย ซึ่งดีเลย เพราะเราพอจะเข้าใจว่าเขาคิดอย่างไร ช่วยให้เราเห็นภาพระหว่างการเจรจาว่าจะประกอบไปด้วยเรื่องอะไรบ้าง”

“…แม้กระทั่งตอนออกนโยบายการเงิน ด้วยความเข้าใจในฐานะคนที่เคยถูกผลกระทบจากนโยบายว่าเป็นอย่างไร เพราะผมเองก็เคยทำงานอยู่ใน บลจ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกกำกับดูแล ผมจึงเข้าใจว่าการออกนโยบายหรือกฎเกณฑ์ต่าง ๆ นั้น พวกเขาจะคิดเห็นกันอย่างไร ตรงนี้แหละที่ช่วยให้เรามีมุมมองที่ครบทุกด้าน”

ทั้งสองประโยคข้างต้นน่าจะสะท้อนความครบเครื่องของ “ตัวเต็ง” ผู้ว่าการ ธปท.คนนี้ได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผู้ว่าการ ธปท.คนใหม่จะเป็นใคร ล้วนต้องเผชิญกับความท้าทายจาก “วิกฤตโควิด” ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน และ “ไม่มีในตำรา” ต่างจาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในอดีต

มองไปข้างหน้า ท่ามกลางวิกฤตที่ยังมองไม่เห็น “จุดสิ้นสุด” แม้หลายฝ่ายจะมองว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 ไปแล้ว ทว่า ผลกระทบยังไม่สิ้นสุด กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังกลับมาไม่เต็มที่ ก็อาจจะมี “ระเบิดลูกใหญ่” รออยู่ ทั้งการปิดโรงงานที่เกิดขึ้นได้ตลอด จำนวนคนตกงานที่จะเพิ่มขึ้นอีกมาก หรือหนี้เสียที่จะทะลัก หลังหมดมาตรการพักหนี้ 6 เดือน เพราะคนยังขาดรายได้

ทั้งหมดนี้ นโยบายการเงินจะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเข้ามาดูแลต่อเนื่อง โดยต้องสอดประสานรับลูกกันกับนโยบายการคลังที่เป็นตัวนำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลในการแก้ปัญหาวิกฤตครั้งนี้

จึงถือได้ว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายผู้นำวังบางขุนพรหมคนใหม่อย่างมาก